กรมควบคุมโรคเร่งประสานกับหน่วยงานในพื้นที่ ติดตามค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจากผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร รายที่ 2

by ThaiQuote, 29 กรกฎาคม 2565

กรมควบคุมโรค เร่งค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงโรคฝีดาษวานร 13 ราย หลังรายที่ 2 เป็นชายไทยมีตุ่มหนองอวัยวะเพศหลังมีเซ็กส์ไม่ป้องกัน 7 วัน เน้นให้หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง

 

กรมควบคุมโรค เผยคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติฯ กำชับให้กรมควบคุมโรค กำกับติดตาม และประสานงานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ เร่งติดตามค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกรณีผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร รายที่ 2 เพื่อดำเนินการสอบสวนโรคเพิ่มเติม

วันนี้ (29 กรกฎาคม 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีพบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรรายที่ 2 ในกรุงเทพมหานคร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อพ.ศ. 2558 ได้กำชับและดูแลการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคฝีดาษวานร พร้อมสั่งการให้ กรมควบคุมโรค ประสานงานกับคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ในการติดตามเฝ้าระวังโรค สำหรับ กรมควบคุมโรคได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง และกองระบาดวิทยา ลงพื้นที่เร่งติดตามค้นหาผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ประสานงานกับโรงพยาบาลวชิรพยาบาล ที่ผู้ป่วยเข้าไปตรวจหาเชื้อและรักษาตัว และประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการติดตามสอบสวนโรคเพิ่มเติม ตามแนวทางการเฝ้าระวังและสอบสวนโรคฝีดาษวานร เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษวานรและความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อไปว่า จากการลงพื้นที่สอบสวนโรค สอบถามข้อมูลของผู้ป่วยเพิ่มเติมพบว่า ผู้ป่วยมีประวัติมีเพศสัมพันธ์กับชายต่างชาติโดยไม่ได้ป้องกันในวันที่ 12 ก.ค. 65 และเริ่มมีอาการไข้ในวันที่ 15 ก.ค. 65 ต่อมาอีก 3 วัน เริ่มมีตุ่มหนองที่อวัยวะเพศ ไปซื้อยามาทาเอง แต่อาการไม่ดีขึ้น อวัยวะเพศบวม มีหนอง ปัสสาวะสีขุ่น และเริ่มมีผื่นขึ้นที่ใบหน้าแถวระหว่างคิ้ว แขนขา ลำตัว จากนั้นผู้ป่วยจึงไปเข้าระบบคัดกรองที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ซึ่งผู้ป่วยมีอาการและมีประวัติสัมผัสเสี่ยงที่เข้าได้กับโรคฝีดาษวานร จึงได้แยกผู้ป่วยไปที่ห้องตรวจแยกโรคที่จัดไว้เป็นการเฉพาะสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อ และได้ทำการเก็บสิ่งส่งตรวจจากตุ่มหนอง คอหอย และเลือด ส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการของศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทยและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมกับรับผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่ห้องผู้ป่วยแยกโรค แรงดันลบ (AIIR)และผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการทั้ง 2 แห่ง ยืนยันว่ามีการติดเชื้อฝีดาษวานร

“ขณะนี้พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 13 ราย อยู่ระหว่างการตรวจหาเชื้อ และสังเกตอาการพร้อมกักตัว 21 วัน จึงขอแนะนำประชาชนว่า โรคฝีดาษวานรไม่ได้ติดต่อกันได้ง่ายๆ ซึ่งจะติดต่อได้จากการสัมผัสใกล้ชิดมากๆ โดยการสัมผัสกับ ตุ่ม หนอง แผล หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย พร้อมย้ำมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 สามารถใช้ได้กับโรคฝีดาษวานร โดยหมั่นล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง กินอาหารปรุงสุก ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงกับผู้ป่วยที่มีตุ่มหนอง หรือผู้ป่วยต้องสงสัย” นพ.โอภาสกล่าว

ทั้งนี้ ขอให้กลุ่มเสี่ยงเพิ่มความระมัดระวังและลดการสัมผัสใกล้ชิดกับคนแปลกหน้า หลีกเลี่ยง การมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงหรือคู่นอนที่ไม่รู้จัก เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อฝีดาษวานร และลด ความเสี่ยงการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ หากประชาชนมีอาการสงสัยว่าตนเองมีอาการป่วยเข้าได้กับโรคฝีดาษลิง สามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการตรวจหาเชื้อได้ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ทางด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานจากทางสาธารณสุขยืนยันไทยพบผู้ป่วยฝีดาษวานรรายที่ 2 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขจัดทีมเจ้าหน้าที่ติดตามและคัดกรองผู้มีความเสี่ยง เพื่อความปลอดภัยในพื้นที่ พร้อมเตือนประชาชนอย่าตื่นตระหนกเกินไปประชาชนทั่วไป สามารถดำเนินชีวิตตามปกติ แต่ขอให้งดหรือหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยง ทั้งนี้ โรคโควิด-19 และโรคฝีดาษวานร สามารถป้องกันการติดเชื้อ ด้วยการดูแลตนเองด้วยมาตรการสุขอนามัย

ส่วนนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวถึงประเด็นโรคฝีดาษลิง ซึ่งมีรายงานยืนยันการพบผู้ป่วยคนไทยรายแรกเป็นชายวัย 47 ปี ในกรุงเทพฯ วานนี้ว่า “เท่าที่ทราบข้อมูล น่าจะติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม มีคนใกล้ชิดประมาณมากกว่า 10 คนในบ้านซึ่งเป็นทาวน์โฮม มีการกักตัวเฝ้าระวังแล้ว ยังไม่ต้องตื่นตระหนก แต่ต้องระวังไว้ โรคนี้ไม่ได้ติดง่ายเหมือนโควิด แต่ติดต่อทางการสัมผัส ติดต่อทางอากาศยาก เพราะต้องใช้น้ำลายหรือสารคัดหลั่ง อาการมีตุ่มขึ้นมือ เท้า แขนขา ตุ่มมีลักษณะเหมือนๆ กัน ต่างจากอีสุกอีใส ขอให้ล้างมือ ระวังการสัมผัส”.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ:

ม.มหิดล ค้นพบวิธีใช้ยีสต์ศึกษาสารสกัดจากใบมะรุมใช้ลดมลพิษ เพื่อการบำบัดสารปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม
https://www.thaiquote.org/content/247695

นักลงทุนในเอเชียเริ่มสนใจลงทุนในกองทุนที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อม
https://www.thaiquote.org/content/247691

TTA ตั้งเป้า P80 Go เจ้าตลาดรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสำหรับไรเดอร์ เปิดลงทะเบียนรับสิทธิ์ขับฟรี 3 เดือน
https://www.thaiquote.org/content/247685