กทม.เตรียมเสนอ "สงกรานต์" เป็นมรดกวัฒนธรรมต่อยูเนสโก

by ThaiQuote, 21 กุมภาพันธ์ 2566

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หารือร่วมกับอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เรื่อง การจัดงานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2566 และการดำเนินงานด้านมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (ICH) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

 

 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประชุมหารือร่วมกับ นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เรื่อง การจัดงานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2566 และการดำเนินงานด้านมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (ICH) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นพื้นที่ที่มีการเฉลิมฉลองประเพณีสงกรานต์อย่างโดดเด่น ตามภูมิหลังทางวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมที่แตกต่างกัน 4 ภูมิภาคไปเรียบร้อยแล้ว คือ ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น, ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช และภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดชลบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร

สำหรับกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ที่มีภูมิหลังทางวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมที่มีความโดดเด่น และมีการจัดงานประเพณีสงกรานต์ที่ยิ่งใหญ่มาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เป็นที่รับรู้ต่อสาธารณชนในวงกว้างทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยที่ประชุมคณะกรรมการการบูรณาการเพื่อกำหนดแนวทางการจัดงานสงกรานต์ พุทธศักราช 2566 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางและมาตรการรณรงค์เพื่อสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรมเนื่องในประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2566 ว่า "สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจสู่สากล"

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม เสนอให้ร่วมกันสนับสนุนส่งเสริมงานด้านมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (ICH) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร สภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ในการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมประเพณีร่วมกันตลอดทั้งปี เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในเนื้อหาสาระของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้แก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมร่วมกัน

พร้อมทั้งจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานครและของชาติ และนำไปสู่การขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเสนอต่อองค์การยูเนสโกต่อไป

ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร ได้ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ พ.ศ.2560-2564 แล้ว 6 สาขา รวมจำนวน 29 รายการ อาทิ ตำนานแม่นากพระโขนง (เขตสวนหลวง), ตำนานท่าเตียน ยักษ์วัดโพธิ์ ยักษ์วัดแจ้ง, ตำนานจระเข้ดาวคะนอง (เขตธนบุรี), ประเพณีชักพระวัดนางชี (เขตภาษีเจริญ), ประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ วัดสุทธาโภชน์ (เขตลาดกระบัง), ขนมฝรั่งกุฎีจีน (เขตธนบุรี) และขันลงหินบ้านบุ (เขตบางกอกน้อย) เป็นต้น

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า การคัดเลือกงานด้านมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในพื้นที่กรุงเทพฯ ควรเลือกวัฒนธรรมที่ร่วมสมัย คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมได้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยอาจเลือกวัฒนธรรม อาหาร หรือสินค้าที่เก่าแก่สมัยปู่ย่าตายาย แต่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันหรือสามารถจำหน่ายในโลกปัจจุบันได้ก็จะน่าสนใจขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยในเรื่องของการตลาด เศรษฐกิจ และแรงบันดาลใจให้ผู้ผลิต

นอกจากนี้ อาจจะต้องจัดให้มีการประกวด การแสดงของชุมชนที่ส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น ซึ่งเป็นการส่งเสริม Soft Power และการมีส่วนร่วมในชุมชน โดยอาจจะให้สภาวัฒนธรรมของ 50 เขต ร่วมนำเสนอวัฒนธรรมท้องถิ่นในย่านของตน ก็จะเป็นการรักษามรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของกรุงเทพฯ ได้อย่างยั่งยืนต่อไป ซึ่งจะมีการดำเนินงานด้านส่งเสริมวัฒนธรรมของกรุงเทพฯ ด้วยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกรมส่งเสริมวัฒนธรรมกับกรุงเทพมหานครอีกด้วย.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

สธ. เข้มคัดกรองไวรัสมาร์บวร์ก จากผู้เดินทางพื้นที่เสี่ยง
https://www.thaiquote.org/content/249546

Instagram และ Facebook เปิดให้บริการยืนยันตัวตัวด้วยค่าบริการราว 425 บาท/เดือน
https://www.thaiquote.org/content/249536

กรมที่ดินเตือน! ระวังมิจฉาชีพใช้โฉนดปลอม หลอกกู้เงิน แนะวิธีสังเกต
https://www.thaiquote.org/content/249540