การไฟฟ้าฯ ไขข้อสงสัย ใช้ไฟเท่าเดิมทำไมหน่วยค่าไฟเพิ่ม ส่วนนายกฯ ชี้ค่าไฟแพงขึ้นกับต้นทุนผลิต

by ThaiQuote, 18 เมษายน 2566

การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) แจงประชาชนพบ หน่วยไฟเพิ่ม แม้ใช้ไฟเท่าเดิม แจงเหตุจากอากาศร้อนจัด โดยอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1 องศา จะทำให้ค่าไฟเพิ่ม 3% พร้อมแนะวิธีประหยัดไฟในช่วงหน้าร้อน ด้านนายกฯ ชี้ค่าไฟแพงขึ้นกับต้นทุนผลิต เร่งหาแหล่งพลังงานอื่นทดแทน

 

การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ชี้แจง กรณีประชาชนพบ “หน่วยไฟ” แม้จะมีการใช้งานไฟฟ้าเท่าเดิม ว่า สาเหตุหลักมาจากเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องทำความเย็นประเภทต่าง ๆ จะกินไฟเพิ่ม เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ถึงแม้ว่าเราจะใช้เท่าเดิมทั้งจำนวนชิ้น และ ระยะเวลาการเปิดใช้ เนื่องจากหลักการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทนี้ จะพยายามทำความเย็น หรือทำอุณภูมิให้เท่ากับที่เราตั้งค่าไว้

แต่เมื่ออากาศร้อนขึ้น เครื่องไฟฟ้าเหล่านี้ต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อรักษาระดับอุณหภูมิให้เท่าเดิมนั่นเอง ส่งผลให้แอร์หรือตู้เย็นทำงานงานหนัก คอมฯทำความเย็นจะทำงานตลอดโดยไม่ตัดเลย ถึงใช้เวลาเท่าเดิมอย่างไรอัตราการใช้ไฟฟ้าก็เพิ่ม

ดังนั้น หากเทียบบิลค่าไฟฟ้าง่าย ๆ โดยย้อนไปดูหน่วยการใช้ไฟฟ้าเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งขณะนั้นอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศจะอยู่ที่ 18-23 องศาเซลเซียส และ มาเดือนมีนาคม ที่บางวันอุณหภูมิเพิ่มขึ้นไป 38-40 องศาเซลเซลเซียสต่างกันถึง 20 องศาเซลเซียส ซึ่งคำนวณตามสูตรของการไฟฟ้าฯ ที่ได้มีการทดสอบการทำงานของแอร์ 1 ตัว ขนาด 12,000 บีทียู เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะทำให้อัตราการกินไฟเพิ่มขึ้นประมาณ 3%

การไฟฟ้านครหลวง ได้อธิบายเพิ่มเติม โดยยกตัวอย่างการทดสอบตั้งเครื่องปรับอากาศอุณภูมิภายในห้องที่ 26 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิภายนอกห้อง 35 องศาเซลเซียสต่อเนื่อง พบว่าจะใช้ไฟฟ้าเฉลี่ย 0.69 หน่วยต่อชั่วโมง แต่หากอุณหภูมิภายนอกห้องเพิ่ม 6 องศา เป็น 41 องศาเซลเซียสต่อเนื่อง เครื่องปรับอากาศดังกล่าวจะใช้ไฟฟ้าเฉลี่ย 0.79 หน่วยต่อชั่วโมง หรือเครื่องปรับอากาศจะใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 14%

ทั้งนี้ จากผลการทดสอบดังกล่าว หากคำนวณเป็นค่าไฟฟ้าในอัตราเฉลี่ยหน่วยละ 3.9 บาท จะพบว่าการใช้พลังงานไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศ ในขณะที่อุณหภูมิภายนอกห้อง 35 องศาเซลเซียส จะทำให้เสียค่าไฟฟ้าประมาณ 2.69 บาทต่อชั่วโมง ขณะที่การใช้พลังงานไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศ ในขณะที่อุณหภูมิภายนอกห้อง 41 องศาเซลเซียส จะทำให้เสียค่าไฟฟ้าประมาณ 3.08 บาทต่อชั่วโมง

และจากค่าไฟฟ้าที่แตกต่างกัน หากสมมุติการใช้งานเครื่องปรับอากาศเป็นระยะเวลา 8 ชั่วโมงต่อวัน นาน 30 วัน การใช้เครื่องปรับอากาศที่อุณหภูมิภายนอกห้อง 35 องศาเซลเซียส จะมีค่าไฟฟ้าประมาณ 646 บาท และการใช้เครื่องปรับอากาศที่อุณหภูมิภายนอกห้อง 41 องศาเซลเซียส จะมีค่าไฟฟ้าประมาณ 739 บาท ซึ่งมีราคาสูงกว่าเดิม 93 บาทต่อการใช้เครื่องปรับอากาศ 1 เครื่อง ดังนั้นแนะนำในการประหยัดค่าไฟคือ ประชาชนต้องหมั่นล้างแอร์ปีละ 2 ครั้ง และ เพิ่มการเปิดพัดลมช่วยทำให้อุณหภูมิต่ำลง แอร์จะทำงานหนักน้อยลง

ทั้งนี้สำหรับค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค. – ส.ค. 2566 นั้น กกพ. มีมติเห็นชอบค่าเอฟทีเป็นอัตราเดียวกันสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ จะเพิ่มเป็น 98.27 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย

สำหรับค่าไฟฟ้าเอฟทีงวด ม.ค.-เม.ย. 66 ในส่วนของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยอยู่ในระดับ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย หรือเฉลี่ยรวมที่อัตรา 4.72 บาทต่อหน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น (ได้แก่ประเภทธุรกิจ อุตสาหกรรม บริการ) อยู่ที่ 154.92 สตางค์ต่อหน่วยหรือเฉลี่ยที่ 5.33 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้ ในงวดใหม่มีผลตั้งแต่ พ.ค.-ส.ค. 2566 ที่เป็นอัตราเดียวทำให้ค่าไฟประเภทบ้านที่อยู่อาศัยปรับขึ้นเล็กน้อยเพียง 0.05 บาทต่อหน่วย ขณะที่ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ฯลฯ จะปรับลดลง 0.56 บาทต่อหน่วย

 

 

นายกฯ ชี้ค่าไฟแพงขึ้นกับต้นทุนผลิต

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงข้อเรียกร้องของประชาชนที่อยากให้รัฐบาลช่วยลดค่าไฟฟ้าว่า ต้องไปดูสาเหตุด้วยว่าราคาแพงเพราะอะไร หลายอย่างอยู่ที่ต้นทุนการผลิต และการบริหาร มีความซับซ้อนอยู่ในนั้นหลายอย่าง

"ถ้ามองค่าไฟมันแพง ขอให้ลดลง ค่าแก๊สมันแพง ลดลงเท่านั้นเท่านี้ ต้องไปดูทำได้หรือไม่ อะไรทำได้ ไม่ต้องห่วง ผมทำให้หมด" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า กรณีเรื่องค่าไฟฟ้า เป็นเรื่องการประกอบการทางธุรกิจ มีข้อสัญญาและข้อผูกพันต่างๆ ต้องเป็นไปตามนั้น หลายอย่างทำมานานแล้วด้วย แต่รัฐบาลจะพยายามไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำหรือเสียเปรียบ

สำหรับเรื่องพลังงานนั้น รัฐบาลได้ปรับรูปแบบเพื่อให้มีการใช้พลังงานในราคาที่ถูกลง โดยได้จัดหาแหล่งพลังงานใหม่ ทั้งเรื่องพลังงานหมุนเวียน พลังงานทดแทน โดยได้เริ่มดำเนินการได้มากพอสมควร สำหรับวันข้างหน้า ในการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนและชุมชน ก็จะพยายามส่งเสริมให้การใช้โซลาร์เซลล์ร่วมด้วยในพื้นที่ที่สามารถดำเนินการได้

"ค่าพลังงาน ค่าแก๊ส ค่าน้ำมัน ต้องดูต่างประเทศว่าราคาเท่าไร แต่อย่าไปเปรียบเทียบกับประเทศที่มีแหล่งพลังงานของตัวเอง ซึ่งแก๊สนั้น ไทยยังต้องซื้อจากต่างประเทศ เพราะแก๊สในอ่าวไทยลดลงทุกวัน ต้องนำเข้าจากพม่า หรือมาเลเซีย แต่มีค่าการตลาด ไม่ได้ถูกเป็นพิเศษ แต่ก็ทำให้ไทยไม่ขาดแคลน จึงต้องเร่งหาแหล่งพลังงานอื่นมาทดแทน แม้ไม่เร็วนัก แต่ก็ก้าวหน้ามากขึ้น" นายกรัฐมนตรี กล่าว

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

การฟื้นตัวของ GDP ของจีนมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นในไตรมาสที่ 1 เมื่อสิ้นสุดการควบคุม COVID
https://www.thaiquote.org/content/250012

“หมอยง” ชี้ โควิดระลอกใหม่ คาดพีคพ.ค.-มิ.ย. เชื่อสายพันธุ์ XBB.1.16 เข้ามาแทนที่
https://www.thaiquote.org/content/250018

แนวคิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนอวกาศ
https://www.thaiquote.org/content/250011