กทม. จับมือภาคี จัดอบรมนักแนะแนวอาชีพ มุ่งสร้างงานคุณภาพแก่คนพิการ

by ThaiQuote, 26 กรกฎาคม 2566

กทม.ร่วมกับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานและ Workability Thailand จัดอบรมนักแนะแนวอาชีพและสอนงานคนพิการขั้นพื้นฐานเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้สามารถสอนงานคนพิการ สามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ตามโครงการจ้างงานคนพิการเพื่อปฏิบัติงานในสำนักงานเขต

 

 

“เรื่องการจ้างงานคนพิการไม่ใช่แค่เรื่องจำนวนอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของคุณภาพงานด้วย การอบรมวันนี้เป็นการให้ความรู้แก่ผู้แนะแนวอาชีพให้แก่คนพิการ เพื่อให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วคนพิการสามารถทำอะไรได้บ้าง” นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวระหว่างตรวจเยี่ยมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการฝึกอบรมนักแนะแนวอาชีพและสอนงานคนพิการขั้นพื้นฐาน (Basic Job Coach for Person with Disability) ณ ห้องประชุมชั้น 3 สำนักพัฒนาสังคม เขตดินแดง วันนี้ (26 ก.ค. 66) โดยมี นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และผู้เข้ารับการอบรม เป็นผู้ให้ข้อมูล


กรุงเทพมหานคร โดยสำนักพัฒนาสังคม ร่วมกับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน และสมาคมการค้าผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมเพื่อคนพิการและผู้ด้อยโอกาสไทย (Workability Thailand) จัดอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมนักแนะแนวอาชีพและสอนงานคนพิการขั้นพื้นฐานขึ้นระหว่างวันที่ 24 - 26 กรกฎาคม 2566 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการแนะแนวอาชีพและสอนงานคนพิการ ให้สามารถปฏิบัติงานกับคนพิการได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ตามโครงการจ้างงานคนพิการเพื่อปฏิบัติงานในสำนักงานเขต

โดยผู้เข้ารับการอบรมเป็นเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขตและบริษัทเอกชน รวมทั้งสิ้น 26 คน หลักสูตรประกอบด้วยการอบรมภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวม 18 ชั่วโมง ผู้ผ่านการอบรมจะได้รับวุฒิบัตรจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยต้องเข้ารับการอบรมครบทั้ง 18 ชั่วโมง และผ่านการทดสอบทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติรวมกันตามเกณฑ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การจ้างงานคนพิการเป็นนโยบายที่เราทำตั้งแต่เริ่มเข้ามา โดยมีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อดูแลในเรื่องนี้ ตามกฎหมายได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการจ้างงานคนพิการว่าสถานประกอบการทั้งเอกชนและหน่วยงานของรัฐที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คน ขึ้นไป ต้องรับคนพิการที่สามารถทำงานได้ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดเข้าทำงาน โดยสัดส่วนของการรับคือ 1% หมายถึง ลูกจ้างที่ไม่ใช่คนพิการ 100 คน ต่อลูกจ้างคนพิการ 1 คน ซึ่งจากเกณฑ์ดังกล่าว กรุงเทพมหานครจะต้องรับคนพิการเข้าทำงานอย่างน้อย 600 คน จากจำนวนลูกจ้างกรุงเทพมหานครกว่า 60,000 คน ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีลูกจ้างคนพิการประมาณกว่า 400 คน

ฝากสำนักพัฒนาสังคมให้ทำเป็นเมนูอาชีพที่คนพิการสามารถทำได้ เพื่อเป็นแนวทางให้เขตนำไปปรับใช้ ไม่ใช่จ้างงานไปแล้วไม่รู้จะให้คนพิการทำอะไร อย่างไรก็ตาม การหางานและที่ทำงานที่เหมาะสมให้คนพิการ เป็นเนื้อหาหนึ่งในหลักสูตรนี้อยู่แล้ว เข้าใจว่าหน้างานอาจจะมีปัญหามากมาย เช่น ทำงานได้ไม่นานแล้วออก เชื่อว่าการอบรมหลักสูตรนี้จะเป็นประโยชน์แก่พวกเราทุกคน เป็นแนวทางให้เราทราบว่าจะทำอย่างไรให้เขาอยู่ทำงานต่อเนื่องและมีเนื้องานที่มีความหมายให้ทำอย่างแท้จริง ซึ่งหากเขตไหนทำได้ดีก็จะนำมาถอดบทเรียนเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับเขตอื่นต่อไป

สำหรับการจ้างงานคนพิการขณะนี้ที่คิดว่าเป็นตัวอย่างที่ทำได้ดี คือ เขตดุสิต ที่ให้คนพิการไปทำงานในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear หรือ BFC) คอยดูแลและให้คำแนะนำแก่ประชาชนผู้มาใช้บริการบริเวณจุดกดบัตรคิว ส่วนเขตอื่น ๆ ยังไม่ค่อยได้เห็น ก็จะหาเวลาแวะเข้าไปเยี่ยมเยียนเพื่อติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ในปีหน้าก็จะมีการจัดสรรงบประมาณต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มเติมด้วย.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

“กรกฎาคม” ที่ผ่านมาหลายพื้นที่ในโลกเกิดภาวะ "ร้อนสุดขีด" ผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
https://www.thaiquote.org/content/250812

ธปท. หนุนภาคการเงินสู่ ESG ชี้ถึงเวลาใส่ใจสิ่งแวดล้อม รับมือกีดกันการค้า
https://www.thaiquote.org/content/250810

Keppel ของสิงคโปร์และ HSBC ลงนามในข้อตกลงสำหรับโซลูชันการลดคาร์บอน
https://www.thaiquote.org/content/250805