ติดเกราะส่งออกไทยใต้เกณฑ์CBAM ก่อนเปลี่ยนผ่าน3 ปีภาคบังคับใบรับรองคาร์บอนเข้าEU

by ThaiQuote, 5 กันยายน 2566

วางแผนรับมือยุโรปนำขบวนเปลี่ยนโลกสีเขียว กรมเจรจาฯ ผนึกพันธมิตรภาครัฐและเอกชน ลับคมผู้ประกอบการไทยเสริมเกราะ ข้ามกฎเกณฑ์ใหม่ CBAM มีผลบังคับใช้ 3 ปี ในสินค้าส่งออกไปEU นำร่องบ่มเพาะธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว ฟื้นฟูโลกอย่างยั่งยืน



เมื่อสหภาพยุโรป (EU) ตื่นตัวกับภาวะโลกร้อน (Global Warming) จึงกำหนดนโยบายการค้าขายผ่านคณะกรรมาธิการยุโรป เกี่ยวกับการปฏิรูปสีเขียว โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs) 50-55% ภายในปี 2573 ภายในปี 2593 จะต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ์เป็นศูนย์ (Net Zero Emission) เพื่อทำให้อุณหภูมิของโลกไม่เพิ่มขึ้นเกิน 5-2.0 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงปารีส จึงมีมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของEU เข้ามานำหนดราคาสินค้านำเข้าบางชนิดเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงในสินค้า

นำร่องสินค้า 6 กลุ่มแรก ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการรั่วไหลของคาร์บอนสูง ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย และอลูมิเนียม โดยกลุ่มสินค้าไทยที่ได้รับผลกระทบส่งออกไปยังEU มูลค่าสูงถึง 28,573 ล้านบาท โดยจะเพิ่มเกณฑ์บังคับใช้ในกลุ่มสินค้าภายใต้เกณฑ์CBAM อีกในระยะต่อมา ประกอบด้วย refinery products/ organic chemicals/ hydrogen/ ammonia และ plastic polymers โดยมาตรการนี้ได้ถูกรับรองเป็นกฎหมายตั้งแต่ วันที่ 22 มิถุนายน 2565 ซึ่งเริ่มต้นประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 จะให้เวลาในการปรับตัว 3 ปี ถือเป็นแรงกดดดันให้สินค้าในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อม และพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น


นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ของสหภาพยุโรป (อียู) เป็นสิ่งที่ทั่วโลกจะต้องมุ่งไปตามข้อตกลงปารีส ซึ่งทางEU นั้นตื่นตัวนำร่อง และวางกฎเกณฑ์ ส่งผลมาถึงทิศทางการส่งออกสินค้าไปยังตลาดEU โดยไทยก็ต้องมุ่งไปสู่ทิศทางดังกล่าว ตามข้อตกลงที่ไทยได้วางเป้าหมายไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และ ค่าการปล่อยก๊าซเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 ประเทศไทยจึงต้องทำงานเชิงรุก ในการเตรียมพร้อม เชิญผู้เชี่ยวชาญจากสหภาพยุโรป และเชิญภาคเอกชนเข้ามาหารือรับฟังความคิดเห็นเพื่อหารือในการบริหารจัดการรับมือเมื่อมีการบังคับใช้กฎหมา

“กฎหมายCBAM เป็นนโยบายหลักที่ทางอียูต้องการเปลี่ยนโลกสีเขียว เพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน จึงวางเกณฑ์ในกลุ่มสินค้าที่ผลิตในอียู และครอบคลุมไปถึงสินค้าที่เข้าไปจำหน่าย เพื่อป้องกันการรั่วไหล จากสินค้าที่ย้ายฐานการผลิตไปลงทุนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จึงต้องกำหนดให้ใช้มาตรฐานเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั่วโลกจะต้องมุ่งไป ไทยเราจึงต้องตื่นตัวทำงานเตรียมพร้อม แม้สินค้ากลุ่มแรกจะยังมีการส่งออกไปยังอียูน้อย แต่ถือว่าเป็นการเตรียมรับมือเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคต”

ทั้งนี้ กรมเจรจาการค้า จึงได้ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ได้จัดสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจและรับฟังความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เรื่องมาตรการCBAM -Carbon Border Adjustment Mechanism ของอียู เพื่อเตรียมพร้อมเสริมองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการ หลังจากสหภาพยุโรปได้ออกประกาศเตรียมใช้มาตรการ CBAM กับ 6 กลุ่มสินค้า ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน เริ่มต้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 ธันวาคม 2568 ซึ่งเริ่มต้นในกลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มในการปล่อยก๊าซคาร์บอนรั่วไหล โดยกำหนดให้มีการแจ้งข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่ส่งออกไป โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 ผู้นำเข้าจะต้องซื้อ “ใบรับรอง CBAM” ตามปริมาณการปล่อยก๊าซฯ



นางอรมน กล่าวว่า กรมได้เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมเวทีสัมมนาครั้งนี้ โดยผู้แทนกรมจะนำเสนอข้อมูลสถานะล่าสุดของมาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกฯ และสถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทสย.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ จะนำเสนอเรื่องแนวทางการรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซฯ และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จะนำเสนอเรื่องกระบวนการทวนสอบ (verification) และการรับรอง (accreditation) การปล่อยก๊าซฯ

นอกจากนี้ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก (คุณสมศักดิ์ พิฆเนศวร) ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียม (คุณธีรพันธุ์ พิมพ์ทอง) คณะทำงาน BCG Model (ดร. สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์) และกรรมการและเลขานุการ สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (คุณนที สิทธิประศาสน์) ได้เข้ามาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย รวมทั้งจะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนานำเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการเตรียมการรับมือในมาตรการดังกล่าวของไทย

ทั้งนี้ กรม อบก. และ สอท. มีแผนจะนำความเห็นและข้อเสนอแนะจากการสัมมนาครั้งนี้ เพื่อจัดทำแผนการทำงานต่อไป โดยเฉพาะการหารือกับสหภาพยุโรป เรื่องเตรียมส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูลเรื่องนี้ และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการไทย ในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้