ม.มหิดลคิดสูตรกักเก็บคาร์บอนเครดิต สวนยางพาราหวังต่อยอดใช้ในอุตสาหกรรม

by ThaiQuote, 6 กันยายน 2566

ม.มหิดลคิดค้น 'สมการประเมินคาร์บอนเครดิต’ ในสวนยางพารา ช่วยลดทรัพยากรคน ประหยัดเวลาในการสำรวจพื้นที่สวนยางพาราขนาดใหญ่ ใช้ข้อมูลพื้นที่ควบคู่กับโดรนบินสำรวจ คาดต่อยอดนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม ช่วยคำนวณมาตรฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามเกณฑ์ของ อบก.

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มณฑิรา ยุติธรรม ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเมืองน่าอยู่และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึง การคิดค้นและพัฒนานวัตกรรม “สมการเพื่อการประเมินค่าคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ปลูกยางพารา" ภายใต้ทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ว่า สูตรที่ค้นพบในการคำนวณ มีการนำขนาดพื้นที่ อายุของยางพารา มาหาค่าเฉลี่ยของปริมาณการกักเก็บก๊าซคาร์บอน ร่วมกันกับการใช้ข้อมูลจากจากเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ จึงสามารถเข้าไปศึกษาการประเมินค่าคาร์บอนเครดิตในยางพารา ซึ่งเป็นต้นไม้ยืนต้นที่มีอายุยาวนานมากกว่า 20 ปี จึงมีพื้นที่ปลูกที่มากกว่าพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมในประเทศไทย การคิดค้นสูตรจึงช่วยประหยัดงบประมาณ และเวลา รวมถึงทรัพยากรมนุษย์

สำหรับพื้นที่การปลูกยางพาราในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามรายงานของ การยางแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2561พบว่า ยางพาราสายพันธุ์ RRIM 600 RRIT 251 ประมาณ 2 ล้านไร่ มีการกักเก็บคาร์บอนที่อยู่ในดินประมาณ 16.19 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ที่ระดับความลึกของดิน 0 - 50 เซนติเมตร มีการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพเหนือดิน 19.66 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการปลูกยางพารา 1.93 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มณฑิรา ยุติธรรม กล่าวต่อไปว่า การศึกษาในระยะแรกจะแยกเก็บข้อมูลตามช่วงอายุของต้นยางพารา โดยแยกเป็นอายุ 1 ปี 5 ปี 10 ปี 15 ปี และ 20 ปี โดยมีนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมเก็บข้อมูลในทุกมิติ จากการสัมภาษณ์เกษตรกรผู้เก็บน้ำยาง ศูนย์รับซื้อน้ำยาง สหกรณ์รับซื้อผลิตภัณฑ์ยาง ฯลฯ

และในอนาคตจะได้มีการต่อยอดเพื่อศึกษาแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเชิงลึก เพื่อเสนอ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สู่การประยุกต์ใช้จริงระดับนโยบายในภาคอื่นๆ ของประเทศไทยต่อไป มีส่วนช่วยให้ภาคอุตสาหกรรม นำมาใช้ในการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สร้างผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน ที่จะเป็นปัจจัยในการวางกฎระเบียบในการส่งสินค้าไปตลาดต่างประเทศในอนาคต

Tag :