เคแบงก์ ชูมาตรฐานTaxonomy วิธีลดคาร์บอนศูนย์ในอาเซียน

by ThaiQuote, 21 กันยายน 2566

กสิกรไทย ชูไอเดียเวทีประชุมสุดยอดสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน รวมพลังจัดตั้งมาตรฐาน Taxonomy กลไกเปลี่ยนผ่านธุรกิจเข้าสู่เป้าหมาย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู่เป้าหมาย Net Zero Emissions


ในการประชุมดยอดธุรกิจและการลงทุนอาเซียน (ASEAN Business and Investment Summit หรือ ABIS 2023) ที่จัดขึ้น ภายใต้แนวคิด “ASEAN Centrality: Innovating Towards Greater Inclusivity” ต้นเดือนกันยายน ที่ผ่านมา ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย มีตัวแทนทั้งจากภาครัฐบาล ภาคธุรกิจ ผู้นำ และผู้บริหารระดับสูงจากภาคธุรกิจทั่วโลกกว่า 2,000 คน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้นำธุรกิจได้มีส่วนร่วมในการเจรจากับฝ่ายภาครัฐผู้กำหนดนโยบาย

 


นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยถึงการเป็นตัวแทนสถาบันการเงินภาคเอกชนไทย เข้าร่วมงานการประชุมสุดยอดสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council Summit Week)

 

มีการจัดการเสวนา หัวข้อ Decarbonizing Southeast Asia: Charting ASEAN’s Pathway to a Net-Zero Future แลกเปลี่ยนมุมมอง บทบาท แนวคิดของภาคเอกชน ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) พร้อมเชิญชวนกลุ่มประเทศอาเซียนร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ Decarbonization ในระดับภูมิภาคโดยการกำหนดมาตรฐานร่วมกัน เช่น มาตรฐานที่ใช้ในการจำแนกเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอาเซียน ( ASEAN Taxonomy)

 

นอกจากนี้ ธนาคาร ยังได้เข้าร่วมเสวนาภายใต้หัวข้อ Decarbonizing Southeast Asia: Charting ASEAN’s Pathway to a Net-Zero Future เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง บทบาท แนวคิดของภาคเอกชน ในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญของแรงขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) เพื่อหาแนวทางการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ให้กับภาคธนาคารและลูกค้าทุกภาคส่วน คำนึงถึงการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนในระดับภูมิภาค

 

โดยแนวทางการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกชนิด อื่นๆ สู่ชั้นบรรยากาศ หรือ Decarbonization ในกลุ่มประเทศอาเซียน ของแต่ละประเทศ ยังมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ ความสามรถและศักยภาพในการปรับตัว ที่มีปัจจัยคือ การเงิน ความสามารถทางเทคโนโลยี และองค์ความรู้ แตกต่างจาก กลุ่มประเทศที่มีความพร้อมในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และประเทศจีน จะเป็นผู้กำหนดแนวทางและกฎเกณฑ์ในระบบเศรษฐกิจ

 

“กลุ่มประเทศอาเซียนส่วนมากเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาและมีความพร้อมที่แตกต่างกัน แต่ยังพึ่งพากันได้ดีผ่านการค้าและการลงทุน ด้วยมูลค่าการค้าภายในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN intra-trade) ที่มีสัดส่วนสูงถึง 23% จึงมีเงื่อนไขระยะเวลาการปรับตัวแตกต่างกัน”



กลุ่มประเทศอาเซียนพยายามรวมกลุ่มในภูมิภาค เพื่อร่วมมือกันแสวงหาโอกาสใหม่ ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน (Regional Progressive Dialogue) เพื่อสอดคล้องกับทิศทางการค้าและการลงทุนที่จะมีการจัดทำมาตรฐานการทำงานด้านการลดการปล่อยก๊าซ ทั้งในด้าน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ (Hard Infrastructure) ทั้งด้าน พื้นฐานด้านกฎหมาย กฎระเบียบ มาตรฐาน (Soft Infrastructure) เช่น การกำหนดให้มี ASEAN Taxonomy จะมีส่วนสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซในกลุ่มประเทศอาเซียน และยังทำให้อาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของความยั่งยืนในระดับเวทีโลกเช่นกัน



รายใหญ่รอดพร้อมปรับตัวล่วงหน้า SMEs ยังน่าห่วง

 

ทั้งนี้ สถานการณ์ปัจจุบันของภาคธุรกิจในอาเซียน เรื่องการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ (Large Corporates) มีความสามารถในการปรับตัว และปฏิบัติตามกติกาในระดับนานาชาติได้อย่างทันท่วงที ด้วยความพร้อมด้านทรัพยากร เทคโนโลยี เงินทุน และความรู้ ขณะที่กลุ่มลูกค้าขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ยังไม่สามารถปรับตัวได้ด้วยตัวเองทั้งหมด ต้องมีการช่วยเหลือจากรัฐบาลและธนาคาร ในรูปแบบพหุภาคี (Multi Development Banks) เพื่อให้ลูกค้ากลุ่มนี้สามารถเอาตัวรอดได้

 

และกลุ่มสุดท้ายในส่วนของกลุ่มลูกค้ารายย่อย ก็ต้องมีการผลักดันให้เกิดการตระหนักรู้ และสร้างแนวคิดที่จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เกิดการสร้างระบบคุณค่าใหม่ (New Value System) ที่จะคอยผลักดันให้SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่ปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต

 

ขับเคลื่อนสู่ผู้นำแบงก์ESGในอาเซียน



นายพิพิธ กล่าวในตอนท้ายว่า หากมีการส่งเสริมการสร้างมาตรฐานการร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนร่วม ในภูมิภาคอาเซียน จะช่วยตอกย้ำแนวคิดการทำงานตามหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืน (Bank of Sustainability) ของธนาคารกสิกรไทย ที่พร้อมจะก้าวสู่การเป็นผู้นำด้าน ESG ของกลุ่มธนาคารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยธนาคารจะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและผลักดันลูกค้า ในเรื่องของการเปลี่ยนผ่านด้านสิ่งแวดล้อม หรือ Decarbonization ในประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน ที่ธนาคารกสิกรไทยมีที่ตั้งอยู่ เพื่อให้เป็นตามนโยบายเป้าหมาย Net Zero Commitment ของแต่ละประเทศต่อไปในอนาคต