เอสซีจี เปิด 4 มิติ เปลี่ยนผ่านประเทศสู่ยุคเศรษฐกิจสีเขียว

by ThaiQuote, 22 กันยายน 2566

เอสซีจี จัดเวทีดึงทุกภาคส่วนร่วมเปลี่ยนผ่านประเทศ สู่สังคมคาร์บอนต่ำ ผ่าน 4 เส้นทาง ลดและเพิ่ม ไปยังเศรษฐกิจสีเขียว คนไทยอยู่รอด สภาพอากาศบนโลกถูกฟื้นฟู คือ 1. ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน 5 ภาคธุรกิจ 2. ลด ละ เลิก ฟอสซิลสู่พลังงานสะอาด 3.ลดใช้ทรัพยากรคืนสู่สมดุลด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน 4. เพิ่มทุนอุดหนุนกลุ่มเปราะบาง

 

สภาพแวดล้อมรอบตัว ไม่ใช่เรื่องไกลตัวที่เราจะเป็นพียงผู้เฝ้าดูการเปลี่ยนแปลง แล้วปล่อยให้คนมีหน้าที่แก้ไขปัญหา ในไม่ช้าผลกระทบนั้นก็จะคืบคลานมาสู่เราเป็นผู้ประสบภัยร่วมกัน
เพราะอากาศที่ร้อนขึ้นแบบรู้สึกได้ ฤดูกาลที่ผันเปลี่ยนแบบไม่ทันตั้งตัว จนส่งผลต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวัน ไฟป่าที่โหมกระหน่ำไม่หยุด จนก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศและนำมาสู่โรคระบบทางเดินหายใจ หรืออุณหภูมิมหาสมุทรที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ จนเกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตของทั้งประชากรมนุษย์และสัตว์โลก เหตุการณ์เหล่านี้พาเราเข้าสู่นิยามใหม่ของภาวะโลกโดยองค์การสหประชาชาติที่ว่า เราอยู่ในยุคโลกเดือด หรือ Global Boiling แล้ว ผลจากหลายปีที่ผ่านมา ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทุกภาคส่วนเพิ่มสูงขึ้น จากการใช้ทรัพยากรและพลังงานจำนวนมหาศาล จนส่งผลถึงสภาพอากาศที่แปรปรวนเข้าขั้นวิกฤติ

แม้ปัญหาที่อยู่ตรงหน้าจะเป็นเรื่องน่ากังวลใจไม่น้อย และเวลาก็ดำเนินต่อไปโดยไม่รอ แต่ใช่ว่าความหวังจะหมดไปเสียทีเดียว เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีผู้คนจากทุกภาคส่วนที่มุ่งมั่นตั้งใจทำงานเพื่อกอบกู้วิกฤติโลกเดือด ฟื้นฟู คุณภาพชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ดี ไปสู่คนรุ่นต่อไป ผ่าน 4 เส้นทาง เปลี่ยนสู่สังคมคาร์บอนต่ำของประเทศไทย



1.เดินหน้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศตาม NDC Roadmap

หลังจาก Paris Agreement (ความตกลงปารีส) เป็นความตกลงระหว่างประเทศฉบับใหม่เกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้รับมติเห็นชอบจากการประชุมรัฐภาคี อนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 21 (COP 21) เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2015 (พ.ศ.2558) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผลลัพธ์ของการเจรจาอย่างเข้มข้นต่อเนื่องยาวนานมากว่า 8 ปี โดยสิ่งที่ทุกประเทศในภาคีต้องจัดทำเพื่อบรรลุความตกลง คือ NDC (Nationally Determined Contribution) ตามแนวทางของแต่ละประเทศ เพื่อจัดการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วยเนื้อหา อาทิ การลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัว การเงิน การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี และการเสริมสร้างศักยภาพในการเปลี่ยนผ่าน

พันธสัญญาปารีส.. คำมั่นโรดแมป
เคลื่อนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

โดยความตกลงปารีสที่ผ่านมาเป็นจุดเริ่มต้นในการกำหนดให้ทุกภาคีต้องรายงานความคืบหน้า NDC ทุก ๆ 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2020 (พ.ศ.2563) ด้วยการให้ข้อมูลอย่างโปร่งใส มีความก้าวหน้า สะท้อนหลักความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง คำนึงถึงศักยภาพและสถานการณ์ของประเทศที่แตกต่างกัน


ประเทศไทยได้จัดทำ NDC Roadmap โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30-40% จากปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีปกติ (ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีที่ไม่มีการดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกใด ๆ) ภายในปี 2030 แบ่งเป็น 5 สาขา ดังนี้

     1.ด้านพลังงาน (Energy)
     2.ด้านกระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (Industrial Processes and Product Use : IPPU)
     3.ด้านการจัดการของเสีย (Waste)
     4.ด้านการเกษตร (Agriculture)
     5.ด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use, Land-Use Change and Forestry : LULUCF)

2.เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและยั่งยืน (Energy Transition)

ที่ผ่านมาสัดส่วนกว่า 70 % ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาจากการใช้พลังงาน อาทิ การใช้พลังงานในครัวเรือน อุตสาหกรรมการผลิต คมนาคมขนส่ง ดังนั้น การเปลี่ยนสู่พลังสะอาดและยั่งยืน หรือ Energy Transition จึงต้องเริ่มจากจุดตั้งต้นการเปลี่ยนจากการใช้พลังงานฟอสซิล ซึ่งปล่อยคาร์บอนสูง มาสู่พลังงานสะอาดที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ

โดยแผนพลังงานชาติได้ตั้งเป้าในการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการใช้พลังงานดังนี้ คือ
     1.เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของกำลังผลิตใหม่ให้มากกว่า 50%
     2.ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนให้ภาคขนส่งใช้พลังงานไฟฟ้าสีเขียว ผ่านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30 หรือการตั้งเป้าผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2030 (พ.ศ.2573) ภายใน 7 ปี
     3.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้ได้มากกว่า 30-40% โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเปลี่ยนผ่านสู่เป้าหมาย อาทิ ระบบกักเก็บพลังงานสะอาด ไฮโดรเจน และการดักจับและการจัดเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS) เป็นต้น


3.ลดใช้ทรัพยากรตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ถือเป็นการปฏิวัติกระบวนการผลิตจนไปถึงการบริโภค โดยเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจเดิมที่เป็นเส้นตรง ผลิต-บริโภค-ทิ้งไป มาสู่การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านวงจร ผลิต-ใช้-วนกลับ นำสินค้าที่ใช้แล้วจากการบริโภคกลับเข้ามาสู่กระบวนการผลิตอีกครั้ง

หลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจหมุนเวียน กลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและการบริโภค ผ่านการจัดการทรัพยากร ครอบคลุมตั้งแต่ การลดการใช้ทรัพยากรต้นทาง การออกแบบพัฒนาสินค้าและบริการ การปรับกระบวนการแปรรูปโดยใช้พลังงานต่ำที่สุดและเป็นพลังงานหมุนเวียน ตลอดจนการนำวัสดุหมุนเวียนกลับมาใช้เพื่อลดวัตถุดิบใหม่ จนเกิดนวัตกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้นมากมาย เช่น เม็ดพลาสติกรีไซเคิล บรรจุภัณฑ์รีไซเคิล ชิ้นส่วนรถยนต์ที่ใช้วัสดุประเภทเดียวสะดวกต่อการรีไซเคิล และเมื่อผ่านการตรวจสอบมาตรฐานของเม็ดพลาสติกรีไซเคิลแล้ว ยังสามารถเอากลับมาใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ใหม่ได้อีกด้วย

4.ร่วมเปลี่ยนผ่านไปด้วยกัน...สู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Just Transition)

ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเปราะบางและอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่มาจากภาคเกษตรกรรม ท่องเที่ยว รวมถึงภาคอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤติโลกเดือดโดยตรง ขณะเดียวกัน เมื่อเศรษฐกิจและสังคมกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ภาคส่วนเหล่านี้ได้รับผลกระทบชัดเจนขึ้น อาทิ ผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) ต้องปรับกระบวนการผลิตเพื่อยกระดับสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ แรงงานต้องพัฒนาทักษะวิชาชีพให้สอดคล้องกับธุรกิจคาร์บอนต่ำธุรกิจท่องเที่ยวต้องลดความเสี่ยงต่อปัจจัยทางภูมิอากาศที่แปรปรวนรุนแรงขึ้น รวมถึงกลุ่มเกษตรกรที่ต้องปรับวิถีชีวิต และการประกอบอาชีพเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วมน้ำแล้ง


เปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม
เพิ่มเงินทุนอุดหนุนกลุ่มเปราะบาง

การประชุม COP27 ปี 2022 (พ.ศ.2566) ที่ประเทศอียิปต์ ประเทศพัฒนาแล้วเน้นย้ำความร่วมมือช่วยเหลือประเทศที่กาลังพัฒนาผ่าน “เงินทุนสนับสนุนด้านภูมิอากาศ” เพื่อให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้ โดยมีทุนสนับสนุน Mitigation Finance กองทุนสำหรับแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก และ Adaptation Finance กองทุนสำหรับแผนปรับตัว ปรับเปลี่ยน เพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะโลกเดือด โดยมุ่งเน้นด้านเกษตรกรรม ป่าไม้ การจัดการน้ำ เป็นต้น


ประเทศไทยจะสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างราบรื่น ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันหาแนวทางสนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน ไม่เพียงด้วยกองทุนสนับสนุน หากรวมถึงการสนับสนุนด้านนโยบายที่เหมาะสม ด้านเทคโนโลยี การยกระดับทักษะแรงงาน การมีส่วนร่วมของชุมชน พร้อมสร้างการตระหนักรู้ในวงกว้าง เพื่อสนับสนุนให้ทุกคนเปลี่ยนผ่านไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

 

 ทั้งนี้ ESG Symposium 2023 จะมีการจัดงานใน 2 ช่วง ได้แก่

 

ช่วงที่ 1 Pre-session ระดมความคิดทุกภาคส่วน หาแนวทาง ร่วม เร่ง เปลี่ยน สู่สังคมคาร์บอนต่ำ ในเดือนกันยายน 2566 ทั้งหมด 4 หัวข้อ ดังนี้


1.NDC Accelerator รวมพลัง เร่งขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

2.Energy Transition ร่วม เร่ง เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและยั่งยืน

3.Circular Economy Acceleration ขยายผล เร่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน

4.Just Transition ร่วมเปลี่ยนผ่าน...ไปด้วยกันสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

 

ช่วงที่ 2 ESG Symposium 2023: Accelerating Changes towards Low Carbon Society ร่วม เร่ง เปลี่ยน สู่สังคมคาร์บอนต่ำ ในวันที่ 5 ตุลาคม 2566 เวลา 12.00-17.15 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์