ผ่า5มิติ4ข้อคิด ESGตัวจริงหลุดกับดักกรีนวอช แบรนด์ดีเนื้อแท้.. ต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม

by ThaiQuote, 25 กันยายน 2566

ดร.วีรไท  สันติประภพ ประธานมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ผ่า 5 มิติ ทำไมธุรกิจต้องออกแบบกลยุทธ์ความยั่งยืน เพราะรูปแบบธุรกิจแบบเดิมขาดสมดุลESG พร้อมกับฉายภาพ 4 ข้อคิด เข็มทิศ How to ทำ ESG ไม่มีกรีนวอช ในยุคที่ต้องหลอมรวม สังคม และสิ่งแวดล้อมมาเป็นแกนคู่ขนานไปกับกลยุทธ์การทำธุรกิจหลัก นี่คือ วิวัฒนาการของธุรกิจ ต้องชูความดีงามจากเนื้อแท้ดึงดูดการยอมรับจากลูกค้า จึงจะยืนยาวเหนือกาลเวลา

 

ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่อันดับ 9 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ที่ถือว่าอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อการได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทางออกในการช่วยทำให้ประเทศไทยหลุดจากวิกฤตินี้ได้ คือการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ที่จะเป็นเครื่องยนต์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่ (New Growth GDP) ให้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น 1-2%ภายในปี 2030 (ปีพ.ศ. 2573)

 

ในงาน ประชุมด้านความยั่งยืนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้แนวคิด “์Net Zero Transition”” From Commitment to Action” หรือ การเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero จากพันธสัญญาสู่การปฏิบัติ ที่จัดโดย กลุ่มธุรกิจ TCP

 

ดร.วีรไท สันติประภพ ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิ แม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวปาฐถา ในหัวข้อ “การเปลี่ยนผ่านด้านความยั่งยืนของประเทศไทย เกี่ยวกับนิยามความยั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติ หมายถึง

 

การพัฒนาที่ตอบโจทย์ความต้องการที่จําเป็นสําหรับคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ไปเบียดเบียนความสามารถของโลกและสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ความต้องการที่จําเป็นของคนในรุ่นต่อไป รวมไปถึง ให้ความสําคัญกับการกระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม ดูแลคนที่อยู่ฐานรากของสังคม ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ใส่ใจเกื้อกูลสังคมที่เปราะบาง ไม่ให้เกิดความขัดแย้ง

 

“ถ้าคนส่วนใหญ่ของสังคมสามารถมีคุณภาพชีวิตดีอยู่รอดได้ ก็จะไม่ไปเบียดเบียนสิ่งแวดล้อมและไม่ไปทำลายแย่งชิงทรัพยากร ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ”

 

แนวคิด Sustainability หรือ ความยั่งยืน ให้ความสำคัญกับ 3 เสาหลักที่เรียกว่า ESG (Environment-Social-Governance) หรือ สมดุล3 เรื่องคือ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

 

“ทำไมธุรกิจต้องมาให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ควรจะมีบทบาท เพียงแค่การสร้างการเจริญเติบโตทางธุรกิจ เน้นการสร้างนวัตกรรมและสร้างกําไรก็เพียงพอ แล้วก็จ่ายภาษีให้รัฐเป็นคนไปแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม หรือธรรมาภิบาล”

 

คำตอบ 5 มิติ ทำไมภาคธุรกิจต้องหันมาทำ ESG

 

1.ภาคธุรกิจเป็นต้นเหตุปัญหา

ปฏิเสธไม่ได้ว่ารูปแบบการทําธุรกิจจํานวนไม่น้อยที่มีส่วนในการเบียดเบียนทรัพยากรที่จําเป็นสําหรับคนรุ่นต่อไป นำไปสู่การสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สร้างปัญหาด้านสังคม มีพฤติกรรมที่อาจจะเบียดเบียนธุรกิจขนาดเล็ก มีารใช้อํานาจเหนือตลาด หรือสร้างปัญหาด้านธรรมาภิบาล ซึ่งปัญหาเหล่านี้ทวีความรุนแรงขึ้นในสังคมไทย

นี่คือ ผลเสียจากการมุ่งทําธุรกิจที่ไม่ยั่งยืน หรือเน้นแต่ผลประโยชน์ของตัวเองในระยะสั้น จนเบียดเบียนคนรุ่นต่อไป หรือผู้อื่น รวมถึงคนรุ่นเดียวกัน จึงปล่อยปัญหานี้เพิ่มความรุนแรงขึ้นไมไ่ด้ ธุรกิจต้องกลับมาทบทวน หาวิธีทำธุุรกิจใหม่

 

2.ภูมิทัศน์การทำธุรกิจเปลี่ยนไปภายใต้สภาวะแวดล้อมทางภูมิอากาศ

อุณหภูมิของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบรุนแรงมาก ทำให้วิถีการทําธุรกิจ ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติจากหลากหลายด้าน ่อาทิ หาน้ำสะอาดมาผลิตสินค้ายากขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนการใช้น้ำในอุตสาหกรรม ภัยพิบัติธรรมชาติถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น เช่น ฝนตกน้ำท่วม กระทบต่อการขนส่งโลจิสติกส์ มีการย้ายถิ่นฐานของของคนจำนวนมากในหลายภูมิภาค เพราะไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เดิมได้

นี่คือปรากฎการณ์สภาพอากาศแปรปรวนที่ส่งผลต่อการทำธุรกิจ ต้องเผชิญกับต้นทุนสูงขึ้น รวมถึงมีปัญหาคอร์รัปชั่นในหลายประเทศ เพราะกติกาการแข่งขันที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนความเป็นธรรม ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ที่เกิดจากการทำธุรกิจโดยขาดสมดุลของ ESG

 

3.กฎเกณฑ์กติกาของภาครัฐ

ไม่สามารถคาดหวังให้ภาครัฐเป็นผู้นำในการออกแบบกฎกติกา ซึ่งก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการบังคับใช้ในหลายประเทศ มีการนำกฎหมายมาปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม เนื่องจากภาครัฐ เพราะขาดบุคลากรที่มีความรู้และความเข้าใจในเรื่องนั้น ที่สำคัญ โครงสร้างการใช้อํานาจรัฐ เป็นรูปแบบการแบ่งการทำงานยึดติดกับกรอบไซโลแยกส่วน ทำให้ยากที่จะตอบโจทย์ใหม่ๆ ซึ่งเต็มไปด้วยความท้าทายใหม่ๆ ได้ เช่น เรื่องปัญหาโลกร้อน เป็นต้น

 

4.ภาคธุรกิจกำลังเผชิญหน้ากับกฎกติกาใหม่เพิ่มเข้ามาในเวทีโลก

มีหลายกฎกติกาใหม่ที่เริ่มนำมาบังคับใช้เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทาง ESG อาทิ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป(CBAM), มาตรการแผนการลดและชดเชยการปล่อยคาร์บอนสำหรับธุรกิจการบินที่กำหนดขึ้นโดย ICAO เรียกว่ามาตรการ CORSIA รวมถึงกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อต้นทุนการทำธุรกิจต้องปรับตัวอย่างเท่าทัน

 

5. ความคาดหวังของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปมาก

คนรุ่นใหม่ คือคนที่จะต้องรับภาระของปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต จึงคาดหวังให้ธุรกิจปรับเปลี่ยนวิถีการทําธุรกิจ หยุดเบียดเบียน หรือสร้างปัญหาให้กับคนรุ่นต่อไป เพราะคนรุ่นใหม่จะให้คุณค่ากับธุรกิจที่มีส่วนในการลดปัญหา หรือแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม

เพราะกลุ่มคนรุ่นใหม่ คือ กลุ่มคนที่จะกลายเป็นทั้งลูกค้าและพนักงาน หรือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจในอนาคต หากคนรุ่นใหม่มีทัศนคติไม่ดี มองว่าธุรกิจคือตัวสร้างปัญหา จะจะส่งผลต่อการไม่ยอมรับแบรนด์ จึงส่งผลต่อความยั่งยืนธุรกิจในอนาคต ที่ไม่สามารถดึงดูดให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานในองค์กรได้ ดังนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ตอบโจทย์กำไร แต่จะต้องมีส่วนแก้ไขปัญหาในสังคม

 

ในโลกตะวันตก คำว่าความยั่่งยืนในการทำธุรกิจ ถูกกำหนดและมอบอำนาจให้สังคม ดังนั้น ก่อนจะมีการพิจารณาอนุญาตในการทำธุรกิจจะต้องได้รับการอนุมัติจากสังคม แม้ธุรกิจจะไม่ได้เป็นองค์กรการกุศล เพราะยังต้องมีกำไรเพื่ออยู่รอดก็ตาม แต่การทำธุรกิจก็ต้องคำนึงถึงคนส่วนรวม สังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กับธุรกิจ

 

“ความยั่งยืน จึงเป็นโจทย์สำคัญของภาคธุรกิจ จึงต้องหาช่องว่างตรงกลางระหว่าง ธุรกิจจะมีวิธีการหาเงินอย่างไรให้ธุรกิจชนะไปพร้อมกันกับสังคมวัฒนา”

 

4 มิติ หลุดกับดักกรีนวอช
ความยั่งยืนคือกลยุทธ์หลักขับเคลื่อนธุรกิจ

 

กลับมุมคิด เรื่องความยั่งยืน ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่มต้นทุนการทำธุรกิจเสมอไป แต่สามารถออกแบบเป็นกลยุทธ์ธุรกิจที่ต้องบริการจัดการ ช่วยลดต้นทุนได้ในระยะยาว และยังเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน อีกทั้งยังสร้างโอกาสใหม่ทาง ธุรกิจได้

 

ดร.วีรไท กล่าวถึง กระแสธุุรกิจหันมาดำเนินการด้านความยั่งยืนมากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งดำเนินการมานานอย่างเป็นรูปธรรม และอยู่ในระดับเริ่มต้น จึงมีข้อคิดด้านความยั่งยืน ดังนี้

 

1.ระมัดระวังไม่ให้ยึดติดกับกรอบ ความรับผิดชอบต่อสังคม(CSR)

หลายองค์กรคิดว่าความยั่งยืน คือการต่อยอดจาก CSR ในความเป็นจริงนั้นแตกต่างกัน เพราะCSR คือความต้องการจากภายนอก ความต้องการของสังคม หรือมาจากความสนใจของผู้บริหารระดับสูงในองค์กร ซึ่งในบางครั้งไม่เกี่ยวข้องกับ ธุรกิจหลักเลย(Core Business) อีกทั้ง เป็นการจัดสรรงบประมาณ ส่วนแบ่งจากกำไรไปทำกิจกรรม ไม่ใช่การจัดวางธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้น การทำCSR จึงเป็นโครงการคิดทำในแต่ละปี ไม่มีความต่อเนื่อง โดยมอบหมายให้ฝ่ายสื่อสารองค์กร หรือ ทรัพยากบุคคบ (HR) ดำเนินการ โดยไม่เชื่อมโยงกับธุรกิจหลัก ที่สำคัญยังมองว่าเป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเข้ามา ทั้งที่ในความจริง หากมองด้านความยั่งยืน สิ่งเหล่านี้คือการลงทุนกลยุทธ์ธุรกิจในระยะยาว

 

2.กลยุทธ์ความยั่งยืนของธุรกิจ ยังติดอยู่กับดักของหลักการตัวชี้วัดมากกว่าเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง
ธุรกิจมีแรงกดดันจากดัชนีชี้วัดต่างๆ ที่ต้องพยายามทำให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การรายงานความยั่งยืน รวมไปถึงรางวัลต่างๆ จนไม่ได้หันกลับมามองถึงผลลัพธ์ของการทำงานให้เกิดผลลัพธ์ ในมิติของการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมและสิ่งแวดล้อม

 

3.มองการทำเรื่องความยั่งยืนเป็นการทำธุรกิจที่มองในเชิงการบริหารยุทธศาสตร์
กลยุทธ์ความยั่งยืน จึงต้องเริ่มกำหนดตั้งแต่ ผู้บริหารระดับบน จนถึง คณะกรรมการองค์กร สู่การกำหนดธุรกิจหลัก ตลอดจนการกระจายแผนไปยังหน่วยธุรกิจต่างๆ เข้ามาเชื่อมโยง

ท้าทายที่สุด “เรื่องความยั่งยืนไม่ใช่ เรื่องของนางฟ้า” ที่ให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรือการสื่อสารองค์กรทำต่อไป หากต้องการทำให้เกิดผลได้จริงจะต้องมีการคิดถึงการเปลี่ยนผ่านธุรกิจแบบพลิกโฉมในการทำธุรกิจให้กับองค์กร

“ผู้บริหารสูงสุดจะต้องมี Mindset ที่เปิดรับ อยากที่จะเปลี่ยนแปลง แล้วจึงเชื่อมโยงกับคุณค่าขององค์กร นี่จึงถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์ธุรกิจ ที่สร้างความแตกต่างให้กับองค์กร แม้จะอยู่ในองค์กรเดียวกัน แต่ธุรกิจต่างกันก็จะมีการดำเนินการด้านความยั่งยืนให้เหมาสะมสอดคล้องแตกต่างกัน ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน”

ประเด็นสำคัญของการสร้างความยั่งยืนในธุรกิจ ถือเป็นแนวคิดของการบริหารความเสี่ยงในเชิงยุทธศาสตร์ โดยเริ่มต้นจากการหันมาตั้งคำถามกับตัวเอง ธุรกิจมีประเด็นเกี่ยวข้องกับ ESG ในด้านใดที่เป็นความเสี่ยงต่อองค์กร ถ้าไม่ทำเมื่อคู่แข่งลุกขึ้นมาทำก่อนจะมีโอกาสในการสร้างความได้เปรียบ ยึดหัวหาดได้ก่อน หากไม่ทำก็จะวิ่งตามคู่แข่ง และมีต้นทุนสูงกว่า

 

นี่คือจุดที่ชี้ชัดว่า การบริหารความยั่งยืนเป็นกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงขององค์กรในระยะยาว ที่ทำให้มีหลักคิดในการมองไกล มองกว้าง และมองรอบด้าน มากกว่าผลของกำไรสูงสุด เพราะเป็นการป้องกันความเสี่ยงในองค์กร สิ่งสำคัญของวางยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความยั่งยืนอยู่ที่ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เสริมองค์ความรู้ เพื่อสร้างกลไกการขับเคลื่อนให้เป็นไปตามเป้าหมาย

 

4. หลังจากมีการทำงานแล้ว มีการสื่อสารให้กับลูกค้า และสังคมได้รับรู้
หลังจากมีการดำเนินการจนเกิดผลลัพธ์กลับมาสู่ธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ควรจะต้องสื่อสารทำให้เห็นถึงความแตกต่างของแบรนด์ ที่ขยายผลไปสู่การสร้างคุณค่าใหม่ และสร้างบรรทัดฐานใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ

นี่จึงเรียกว่า การหาเงินไปโดยทำให้ธุรกิจชนะ ไปพร้อมกับสังคมวัฒนา และสิ่งเหล่านี้จะทำให้แบรนด์ หรือ ตราสินค้า เกิดความเข้มแข็ง เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง และเมื่อมีข่าวร้ายในองค์กร ได้สื่อสารไปยังลูกค้า พนักงาน หรือผู้เกี่ยวข้อง สิ่งเหล่านี้จะกลับมาปกป้องแบรนด์ จากความน่าเชื่อถือแ และความดีงามที่องค์กรได้เคยทำไว้

สุดท้ายสิ่งที่ฝากให้ไปคิดต่อ ควรมองปัญหาเป็นองค์รวมมุมกว้าง ไม่ยึดติดกับกรอบในอดีต ไม่เพียงเฉพาะมิติของธุรกิจและผู้เกี่ยวข้อง แต่มองภาพรวมของปัญหาหลักของประเทศและโลก เช่น การคอร์รัปชัน สิ่งแวดล้อม นำไปสู่การสร้างคุณค่าที่แตกต่างของแบรนด์

 

“ความยั่งยืนต้องเร่งทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ท่ามกลาง บริบทที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และจะไม่มีทางกลับมาเหมือนเดิม เช่น จากสภาพอากาศเปลี่ยน(Climate Change) ใน 10 ปีที่แล้ว มาสู่ วิกฤติ (Crisis) และในปัจจุบันอยู่ในระดับ หายนะ”

 

ภาคธุรกิจจะมีบทบาทเป็นผู้นําได้ ในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ทำให้ไปพร้อมพร้อมกับสังคมวัฒนา