ดร.สุเมธ ยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดับวิกฤตธรรมชาติ หยุดบริโภคเกินตัว

by ThaiQuote, 3 ตุลาคม 2566

ดร.สุเมธ เตือนภัยธรรมชาติรุนแรง อากาศแปรปรวนเกิดจากน้ำมือมนุษย์ นับถอยหลังธรรมชาติเสื่อมโทรม เพราะบริโภคเกินตัว ทางออกเดียวฟื้นฟูธรรมชาติ น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยึดหลักธรรมะเตือนสติหยุดความโลภ ประมาณตัว พอเพียงพอดี คืนสมดุลสู่ธรรมชาติ คนร่วมมือกันส่งต่อโลกให้คนรุ่นต่อไป

 

 

ภายในงาน มหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน Sustainability Expo (SX2023) ภายในธีม ถอดรหัสการ “ลงมือทำ” เพื่อสมดุลที่ดี เพื่อโลกที่ดีกว่า (Good Balance, Better World)


ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวปาฐกถาพิเศษ” หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ Decade of Action” ว่า ถือเป็นอีกปีที่ทุกคนจะต้องสร้างความร่วมมือกำหนดพันธสัญญาการร่วมกันขับเคลื่อนโลกสู่สมดุล เพื่อรักษาโลกให้ส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไป ให้ดีกว่าเดิม โดยหลักการการเติบโตที่ผ่านมามีการบริโภคจนเกินพอดี ขาดความสมดุล มุ่งเน้นความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จนลืมกลับมาดูพื้นฐานชีวิตของมนุษย์ คือ องค์ประกอบของธรรมชาติ ดิน น้ำ ลมไฟ จึงเกิดปรากฎการณ์ขาดสมดุล ภัยพิบัติธรรมชาติ ทั้งเกิดน้ำท่วมในหลายแห่ง รวมถึงปัญหาไฟป่า ในอเมริกา อิตาลี โปรตุเกส และในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าก็มีจะเริ่มเกิดภัยแล้ง เอลนีโญ สิ่งต่าง ล้วนเกิดขึ้นจาก การกระทำของมนุษย์ที่ไม่เคยจะเอาชนะธรรมชาติได้


“ปีนี้น้ำมากเป็นพิเศษ เป็นภัยทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำ โดยที่ไม่รู้สึกแปลกประหลาด และไม่เคยหาวิธีการแก้ไขปัญหา คิดค้นวิธีการเอาชนะธรรมชาติได้เลย แม้กระทั่งน้ำท่วมเมืองใหญ่ในนิวยอร์ก เมืองที่เป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยีล้ำยุค แต่ไม่สามารถจัดการกับภัยธรรมชาติได้ นี่คือสิ่งที่น่าทุกข์ใจและหวาดวิตก ปัจจัยของชีวิต ดิน น้ำ ลม ไฟ ได้ถูกทำลายอย่างไม่มีหยุดยั้ง”


ทั้งหมดมาจากประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น ย้อนกลับไปครึ่งศตวรรษ ประชากรในประเทศมีเพียง 17 ล้านคน ในปีนี้ มีประชากรเพิ่มถึง 70 ล้านคน โดยที่พื้นที่ประเทศเท่าเดิม แต่ทรัพยากรเริ่มลดลง ทำให้เกิดสภาพของการแย่งกันบริโภค แม่น้ำเสื่อมโทรม ภูเขาถูกทำลายจนหัวโล้น เพราะเกิดจากการบริโภคจนเกินพอดี


“ทรัพยากรถือเป็นสินทรัพย์ที่รักษาชีวิตเราให้ดำรงอยู่ กลับอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรม ทุกคนแย่งกันกิน แย่งกันใช้ ความโลก หรือกิเลส เกิดขึ้นมาพร้อมกันกับการมีคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่มนุษย์ก็ยังโลภอย่างไม่บรรยะบรรยัง มนุษย์เป็นผู้สร้างและเป็นผู้ทำลาย ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะดี หรือวิเศษแค่ไหนก็ตาม แต่ทรัพยากรที่มนุษย์นำไปใช้ ล้วนก่อให้เกิดมลพิษ กลายเป็นของเสีย ทั้งน้ำที่ดื่ม อากาศที่หายใจ ข้าวที่กิน ทุกอย่างกลายเป็นของเสียรอบตัว”


หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทาน คือคำตอบของการทำให้โลกคืนสู่สมดุล เช่นเดียวกันกับหลักธรรมในการดำรงชีวิตให้รู้เท่าทันและเข้าใจ พร้อมเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตและธุรกิจ ประกอบด้วย พอประมาณ มีการบริหารจัดการรองรับความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ มีเหตุผล มีการตรวจสอบทุนทรัพย์ ทุนทางปัญญา และมีภูมิคุ้มกัน ในการบริหารความเสี่ยง ให้เดินอย่างระมัดระวัง ตั้งอยู่บนความไม่ประมาท


การทำงานเพื่อประชาชานเป้าหมายสูงสุดคือเพื่อสร้างประโยชน์และความผาสุก ที่ไม่ใช่เรื่องของเม็ดเงินเป็นตัวตั้ง แต่จะต้องสมดุลทุกส่วน ทั้งรายได้ ทรัพยากร และสังคม คนทั้งโลกอยู่ร่วมกันได้


“การมีรายได้ทุกบาททุกสตางค์ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่สิ่งสำคัญ คือจะมีวิธีการใช้เงินอย่างไร ต้องเกิดสมดุล หากคนทั้งโลก หยุดกระหายกลับมาดู ความสมดุล ก็ทำให้อยู่รอดไปได้ รักษาโลกใบนี้ส่งต่อให้ลูกหลาน จึงต้องเข้าถึงและพัฒนา หาสาเหตุและวิธีการแก้ไขปัญหา”