กรุงเทพฯ พร้อมแค่ไหน จัดการความท้าทาย ‘ขยะล้น คนเยอะ คุณภาพชีวิตถดถอย’

by วันเพ็ญ แก้วสกุล , 8 ตุลาคม 2566

 

จำนวนคนเมืองในกลุ่มประเทศเอเชีย คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า จาก 1.6 พันล้าน เป็น 3 พันล้านคนในปี 2593 ส่องแนวคิดบริหาร 2 เมืองจากเอเชีย เมืองยั่งยืน 9 ด้าน จาก “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” พร้อมมุมมองบริหารเมือง “สิงคโปร์” ประเทศขนาดเล็กแต่คุณภาพล้น ต้นแบบของการปลูกต้นไม้สร้างปอดสีเขียวให้เมือง และ เปิดแผนรับมือสังคมสูงวัยในอนาคต


 

กรุงเทพฯ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่อยู่ในอันดับที่ 98 เมืองน่าอยู่ จาก 140 เมืองทั่วโลก สะท้อนคุณภาพชีวิตและความยั่งยืนที่ไม่สู้ดีนักของเมือง

มหานครทั่วโลกต้องเตรียมรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ที่จะมาพร้อมกับจำนวนประชาการที่เพิ่มขึ้น พร้อมกับคำถามมากมายที่มีต่อคุณภาพชีวิตของผู้คน ปริมาณขยะจำนวนมากที่รอให้จัดเก็บและทำลาย ระบบขนส่งสาธารณะที่ทำให้การเดินทางสะดวกสบาย และไม่สร้างภาระด้านค่าใช้จ่าย
ปัญหามากมายในเมืองใหญ่ที่ต้องอาศัยการบริหารจัดการ ซึ่งต้องทำไปพร้อมกับการริเริ่มโครงการใหม่ เพื่อสร้างเมืองให้มีความน่าอยู่ และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

คนเมืองเอเชียพุ่ง 3 พันล้านคนในปี 2593
องค์การสหประชาชาติ คาดการณ์ว่าในปี 2593 จำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในเมือง จะมีสัดส่วนคิดเป็นเกือบ 70% ของจำนวนประชากรโลก หรือราว 6.4 พันล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 54% หรือเกือบ 4 พันล้านคนในปี 2558
ขณะที่จำนวนคนเมืองในกลุ่มประเทศเอเชีย คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า จาก 1.6 พันล้าน เป็น 3 พันล้านคนในปี 2593

กรุงเทพฯ เผชิญปัญหารอบด้าน


กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่ในการจัดอันดับความเป็นเมืองน่าอยู่ (Global Liveability Index) ปี 2566 จาก 140 เมืองทั่วโลก ที่จัดทำโดย Economic Intelligence Unit (EIU) กรุงเทพฯ อยู่ในอันดับที่ 98 ตัวเลขดังกล่าวจึงยังเป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะสะท้อนถึงคุณภาพชีวิตและความยั่งยืนที่ไม่สู้ดีนักของเมือง

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในงานมหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน (Sustainability Expo 2023) ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถึงการบริหารจัดการเมืองเพื่อความยั่งยืน โดยมองว่าปัญหาต่าง ๆ ของ กรุงเทพฯ ที่ยังต้องปรับปรุง เช่น ปริมาณขยะวันละ 10,000 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกขนย้ายไปยังสถานที่ทิ้งขยะ ยังไม่มีการรีไซเคิลมากนัก โดยต้องพัฒนาการจัดการกับขยะอย่างยั่งยืน เรื่องคุณภาพน้ำ กรุงเทพฯ อาจดูตัวอย่างจากสิงคโปร์ เรื่องการนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำให้ดีขึ้นกว่าในปัจจุบัน
ขณะที่ประเด็นเรื่อง “ความยั่งยืน” ยังเป็นเรื่องที่ไกลตัวคนทั่วไปเมื่อเปรียบเทียบกับ “คุณภาพชีวิต” ที่คนจำนวนมากจะเชื่อมโยงกับประเด็นนี้ได้มากกว่า ดังนั้น เป้าหมายของเราจึงอยู่ที่การยกอันดับตัวเลขความน่าอยู่ของเมืองให้สูงขึ้น
หนึ่งในตัวชี้วัดคุณภาพเมืองที่ดีจากพื้นที่สีเขียว โดยไทยมีพื้นที่ 1,500 ตร.กม. มากกว่าสิงคโปร์สองเท่า ที่มีพื้นที่ประมาณ 600 ตร.กม. แต่กลับมีพื้นที่สีเขียวน้อยกว่า ซึ่งเรื่องนี้กรุงเทพฯ ต้องปรับปรุง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความยั่งยืน

ความยั่งยืน 9 ด้านของเมือง

“ผมไม่แน่ใจว่าอะไรมาก่อน ความเสมอภาค หรือความยั่งยืน แต่แน่ใจว่าสองสิ่งนี้เชื่อมโยงกัน ต้องไปด้วยกัน” ชัชชาติ กล่าว
ทั้งนี้ ความยั่งยืนไม่ใช่แค่ลดคาร์บอนไดออกไซด์ แต่การพัฒนาการศึกษาจะนำไปสู่ความยั่งยืนที่ดีขึ้น วิสัยทัศน์ของผู้บริหารกรุงเทพมหานคร คือ ทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน ผ่านนโยบาย 9 ด้าน คือ สภาพแวดล้อม สุขภาพ ระบบขนส่ง ความปลอดภัย การบริหารจัดการ สาธารณูปโภค เศรษฐกิจ ความคิดสร้างสรรค์ และการเรียนรู้ โดยทำหน้าที่ในการเพิ่มผลิตภาพ ปรับปรุงคุณภาพชีวิต สร้างโอกาสสำหรับทุกคน และสร้างความเชื่อมั่นระหว่างผู้บริหารกรุงเทพมหานคร กับชาวเมืองกว่า 10 ล้านคน เพื่อร่วมมือกันทำงาน
โดยการพัฒนาเมืองเปรียบเสมือนระบบหมุนเวียนเลือดในร่างกาย เมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ เปรียบเป็นเส้นเลือดแดง และการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานต่างๆ เปรียบเป็นเส้นเลือดฝอย ทั้งสองระบบจะต้องทำงานอย่างดีไปพร้อมกัน
“แผนพัฒนาระบบขนส่งในอนาคต เราจะมีรถไฟฟ้า 11 สาย เกือบ 500 กิโลเมตร วิ่งไปทุกหนแห่งใน กรุงเทพฯ นี่คือระบบหลอดเลือดแดง แต่เมื่อมาดูเส้นเลือดฝอย การเดินทางเข้าสู่ที่พักอาศัยยังต้องขึ้นมอเตอไซค์รับจ้าง เดินบนฟุตบาธแย่ๆ ดังนั้น ถ้าระบบหลอดเลือดฝอยยังแย่ คุณภาพชีวิตที่ดีหรือเมืองที่ยั่งยืนจะยังเกิดไม่ได้” ชัชชาติ กล่าว

‘สิงคโปร์’ รับมือสังคมสูงวัย

รัฐบาลสิงคโปร์ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำในการวางแผนพัฒนาเมืองในระยะยาว และเปิดโอกาสให้เยาวชนและคนในชุมชนต่าง ๆ ได้มีส่วนร่วมวางแผน และออกแบบนโยบายที่เกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในชุมชนของตนเอง
นายฮิวจ์ ลิม ผู้บริหารของศูนย์เมืองน่าอยู่ (Centre for Liveable Cities) ในสิงคโปร์ ร่วมแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับการสร้างความเติบโตของเมือง
ในมิติด้านประชากรในในสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นเป็น 5.9 ล้านคน แผนพัฒนาเมืองและสังคม รวมถึงนโยบายระดับเทศบาล มุ่งตอบสนองความต้องการของผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบาง ในการรับมือกับปัญหาและเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและบริการต่างๆ ได้ เช่น ที่อยู่อาศัย บริการด้านสาธารณสุข การศึกษา และระบบขนส่งสาธารณะ

อีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ของสิงคโปร์ก็คือ จำนวนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น โดยในปี 2573 ชาวสิงคโปร์ 1 ใน 4 คน จะมีอายุมากกว่า 65 ปี ทำให้สิงคโปร์เป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-aging Society)
ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องจัดนโยบายด้านที่อยู่อาศัยโดยออกแบบฟังก์ชั่นต่างๆ ให้เหมาะกับความต้องการของกลุ่มผู้สูงวัย
โครงการที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อไม่นานมานี้คือ คอมนูนิตี้ แคร์ อพาร์ตเมนต์ ที่เน้นออกแบบมาให้เป็นมิตรต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงวัยได้อย่างอิสระและมีความสุขในชุมชนของตัวเอง โดยไม่ต้องไปอยู่ในบ้านพักคนชรา ซึ่งมีข้อดีที่คนสูงวัยส่วนใหญ่เข้าถึงได้ง่าย และราคาย่อมเยา โดยมาพร้อมพร้อมบริการด้านต่างๆ เช่น การตรวจเยี่ยมบ้าน บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง อาหาร ซักรีดเสื้อผ้า นอกจากนี้ ยังมีการจัดพื้นที่และกิจกรรมทางสังคมให้ผู้สูงวัยได้เข้าร่วมด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนของการเตรียมความพร้อมด้านงบประมาณในการพัฒนา คาดว่าอาจต้องใช้งบประมาณมากถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อตระเตรียมแผนรับมือระยะยาวสำหรับภัยพิบัติจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วง 50-100 ปีข้างหน้า ควบคู่กับการใช้วิธีการทางธรรมชาติ อย่างการใช้ป่าชายเลน ป่าโกงกาง เป็นแนวกันชน ช่วยซับแรงของคลื่นไม่ให้เข้ากัดเซาะชายฝั่ง
พร้อมกันนี้ได้ทำการจัดตั้งโครงการวิจัย Marine Climate Change Science (MCCS) เพื่อรักษาระบบนิเวศชายฝั่งทะเล และศึกษาเรื่องการดักจับคาร์บอนในทะเล
รวมถึงความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แผนแม่บทอาคารสีเขียวของสิงคโปร์ กำหนดให้ 80% ของอาคารสร้างใหม่ทั้งหมดต้องใช้พลังงานระดับต่ำสุดยอด (Super low energy) ภายในปี 2573 ซึ่งจะช่วยประหยัดพลังงานได้ราว 80% ช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ให้แก่เมือง