เปิดโมเดลSCG เปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว เปิดใจฝ่าวิกฤติ ด้วยจิตวิญญาณนักสู้

by ประกายดาว แบ่งสันเทียะ , 9 ตุลาคม 2566

ทุกการเปลี่ยนผ่าน องค์กร ประเทศ มีวิกฤติ เป็นตัวเร่งให้คนตื่นตัวปรับเปลี่ยนตัวเอง เพื่อความอยู่รอด เช่นเดียวกันกับ การพลิกโฉมสู่ความยั่งยืนแห่งมวลมนุษชาติ เพื่อหลุดพ้นจากวิกฤติโลกเดือด เอสซีจี องค์กรที่ผ่านการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร จนถือเป็นผู้นำด้านการพัฒนายั่งยืน ขับเคลื่อนประเทศไทย สู่สังคมคาร์บอนต่ำ เศรษฐกิจสีเขียว ส่งต่อโลกแห่งความยั่งยืนให้กับคนรุ่นถัดไป หัวใจของการเปลี่ยนผ่านคือ เปิดรับวิกฤติ ด้วยสปิริตนักสู้

 

 

 

“รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยถึงการสร้างการเปลี่ยนแปลงจากภายในสู่ภายนอก ทำให้เอสซีจีหลุดกับดักอุตสาหกรรมหนัก สู่สินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Product) เพื่อให้อยู่รอด หลุดกับดักผู้ผลิตอุตสาหกรรมหนักปล่อยก๊าซคาร์บอน จนเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนระดับโลก

ภายในงาน มหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนกับงาน Sustainability Expo 2023 (SX2023) นำเสนอมุมมองจากผู้บริหารสูงสุดขององค์กรขนาดใหญ่ ในการนำแนวทางด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนมาปรับใช้ในการบริหารธุรกิจ รวมถึงแบ่งปันประสบการณ์จากการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของผู้นำองค์กรภาคธุรกิจอื่นๆ ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนไปด้วยกัน กับหัวข้อ "TSCN CEO PANEL: ปรับตัวอย่างไร ให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน"

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี ฉายภาพถึงวิกฤติที่ผ่านมาว่า หลังจากวิกฤตโควิด-19 ยังตามมาด้วยปัจจัยเหนือการควบคุมที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะมีวิกฤติซ้อนวิกฤติ แต่ทุกวิกฤตินำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เช่นเดียวกันกับปัจจุบัน ทุกภูมิภาคกำลังขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนายั่งยืน ทั้งในยุโรป ก็มีการปรับเปลี่ยนวิธีการขับเคลื่อนจากออกมาตรการเพื่อมาควบคุมธุรกิจและสินค้า โดยใช้กำแพงภาษีเป็นบทลงโทษ เช่น มาตรการCBAM (มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป) ซึ่งเป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในสหภาพยุโรป

ขณะที่สหรัฐอเมริกา มีการขับเคลื่อนโดยการออกกฎหมาย Inflation Reduction Act(IRA) ซึ่งเป็นกฎหมายพลิกโฉมแหล่งพลังงานสะอาดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านพลังงงานสะอาด เกือบ 400,000 ล้านดอลลาร์ ผ่านการส่งเสริมการลดภาษี ทุนให้สิทธิ์ และการรับรองสินเชื่อ พลังงานไฟฟ้าสะอาดและระบบส่งไฟฟ้า การขนส่งด้วยพลังงานสะอาด รวมถึงสิทธิ์สำหรับยานพาหนะสะอาด เช่น สิทธิ์สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นต้นแบบของการสร้างจุดเปลี่ยนให้เกิดธุรกิจสีเขียวให้เติบโตมูลค่าลงทุนระยะยาวถึง 10 ปี คาดว่าสหรัฐจะมีการขยายจำนวนผู้ประกอบการด้านเศรษฐกิจสีเขียว สัดส่วนของกลุ่มพลังงานหมุนเวียนสูงกว่าพลังงานฟอสซิล

วิกฤติคือตัวเร่งเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่เศรษฐกิจสีเขียว

วิกฤติเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมา ทุกธุรกิจต่างก็ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมพลังงาน ต้องยอมรับว่า ธุรกิจไม่ได้อยู่ในความยั่งยืน เพราะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ซึ่งในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา ปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลทำให้ต้นทุนฟอสซิลมีราคาสูง วิกฤติจึงถือเป็นตัวเร่งให้ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ปรับแผนการใช้พลังงานและกระบวนการผลิต ที่หันมาใช้พลังงานหมุนเวียนและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เพื่อความยังยืน เช่นเดียวกันกับช่วงหลังวิกฤติโควิด มีสภาวะสงคราม ทำให้ผู้ประกอบการต้องแสวงหาการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในการผลิตเร็วขึ้น

“วิกฤติเป็นตัวเร่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่คนยังไม่รู้สึกว่าเป็นสิ่งใกล้ตัว จนเป็นสิ่งที่จะต้องทำ วันนี้หากไม่ทำก็เจ๊ง แม้จะในช่วงหนึ่งราคาต้นทุนจะสูงแต่เมื่อถึงยุคหนึ่งจะเริ่มลดลง เช่นเดียวกันกับการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์เป็นสีเขียว ในช่วงเริ่มต้นจะมีการคิดค้น สร้างซัพพลายเชน สิ่งที่ยากคือกระบวนการผลิต โดยมีการตั้งเป้าให้เพิ่มขึ้นทุกปี จากเป้าหมาย 25% ในปี 2030 ผ่านมาแล้ว 2 ปี เพิ่มขึ้น 5% ถือว่าเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2% ต่อปี มีการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพ ทั้ง เอไอ และเทคโนโลยีดิจิทัล นี่คือประโยชน์ของวิกฤติที่ทำให้สร้างโอกาส สามารถก้าวข้ามความท้าทายแก้ไขปัญหาจนผ่านไปได้ จะทำให้เติบโตอย่างยั่งยืน”

ผู้นำสร้างจิตวิญญาณนักสู้
กล้าลุยก่อนตลาด

บทเรียนสำคัญจากการการบริหารการเปลี่ยนแปลงในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา พบว่า เรื่องเศรษฐกิจสีเขียว และสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่ต้องทำ เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจตลอดไป ไม่สามารถยกเลิกได้ ในที่สุดทุกคนก็ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องและต้องดำเนินการ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ทางเลือก ดังนั้นหากเป็นผู้นำธุรกิจต้องก้าวผ่านอุปสรรคก่อนคนอื่น เป็นผู้นำต้องเชื่อมั่นในการเปลี่ยนผ่านทิศทางที่ยั่งยืน โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อม จึงจะสามารถกระกระตุ้นให้คนในองค์กรเร่งปรับตัว

“เรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่มีทางถอยได้ ต้องยอมรับว่าจะอยู่กับมันให้ได้ และทำให้มันดีด้วย ต้องทำต่อเนื่องกลับไม่ได้ วันนี้ทำร้อย พรุ่งนี้เป็นศูนย์ไม่ได้ ต้องเดินไปข้างหน้าเพิ่มขึ้นทุกปี ไม่ควรรอให้คนอื่นทำ หรือ รอ10 ปีแล้วค่อยทำ เพราะนี่ไม่ใช่ทางเลือกธุรกิจแต่เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำ หากผู้นำบอกว่าไม่แน่ใจ ก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง หากผู้นำสู้ ก็จะมีเวลา กระตุ้นให้ลูกน้องได้สู้ตาม พรุ่งนี้ต้องทำได้ดีกว่าวันนี้ มุ่งเน้นในการมีจิตวิญญาณนักสู้ (Fighting Spirit)"

วาระการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

เอกชน รัฐ และภาคประชาชนรวมทีมไทยแลนด์

ในทุกการเปลี่ยนผ่านการบริหารธุรกิจ ที่จะต้องมีการตัดสินใจลงทุนใหม่ จะต้องขับเคลื่อนความสมดุลระหว่างการเติบโตทางการเงิน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นี่คือสิ่งที่จะต้องมอบหมายให้ทีมร่วมขับเคลื่อนและตัดสินใจในการดำเนินการ โดยมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเป็นเครื่องมือสร้างการเปลี่ยนแปลง

สิ่งที่ต้องการฝากถึงภาครัฐ คือการภารกิจการสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ ทุกฝ่ายต้องมีบทบาท ไม่ใช่เพียงหน้าที่ของเอกชน หรือ ภาครัฐ เป็นเพียงผู้คอยยืนดู เพราะภาครัฐมีบทบาทในการเป็นผู้กำกับวางแผนขับเคลื่อนในระดับนโยบาย ซึ่งมีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดการปฏิบัติ

“ ต้องสร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนรัฐไม่เข้ามามีส่วนร่วมไม่ได้ ยืนดูแล้วเชียร์เฉยๆ ไม่ได้ มองเอกชนทำ ให้ประชาชนร่วมมือกันอย่างเดียวก็ไม่ได้ มีส่วนร่วมแต่ไม่มีบทบาทก็ไม่ได้ นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง ที่กำลังจะปรับไปสู่จากการผลิตที่ขาย ใช้ทิ้งแล้วย้อนกลับมา มาสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน จึงมีหลายเรื่อง ที่จะต้องทำในหลายภาคส่วน เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องใข้นโยบายสร้างการเปลี่ยนแปลง และสิ่งที่ยากที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงจากภาครัฐต้องร่วมมือกันที่เข้ามาร่วมมือทำงานกับเอกชนมากขึ้น ร่วมมือกันทำงานเป็นทีม”