TGO ฉายวิสัยทัศน์ลดคาร์บอนสูุ่ความยั่งยืนในCOP28 ดึงกองทุนClimate Change1แสนล้านเหรียญมาไทย

by ประกายดาว แบ่งสันเทียะ , 12 ตุลาคม 2566

อบก. ชี้ ESG คือ ตัวเร่งภาคธุุรกิจย้ายเงินหนุนSMEs ปั้นEconsystemสีเขียว สร้างซัพพลายเชนปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เตรียมใช้เวที COP28 ที่ดูไบปลายปี 66 ดึงกองทุนClimate Change เข้ามาลงทุนจับคู่ BCG เปลี่ยนผ่านธุรกิจไทยสู่ความยั่งยืน

 

 

 

ในการเปิดตัวจักรวาลแห่งความยั่งยืน แพลตฟอร์ม ESG Universe และมีการเสวนา” โอกาสและอุปสรรคของ SME หลังเทรนด์โลกมุ่งสู่ ESG 'พา SME ไทย ไป Universe” มีพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน มาร่วมเป็นงานเปิดตัวและสัมมนาซึ่งเป็นจุดกำเนิดแห่งการสร้างพลังที่ส่งผลกระทบเชิงบวก มุ่งหวังจุดประกายให้กับทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปสู่สิ่งที่ดี และยั่งยืนไปพร้อมกัน


นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า องค์การก๊าซเรือนกระจกมีพันธกิจที่ประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ลดลงตามเป้าหมาย การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด‘ ( Nationally Determined Contributions : NDCs) ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในความพยายามกำจัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี 2030 โดยภาคธุรกิจSMEs จะเป็นผู้เกี่ยวข้องในด้านของเครือข่ายซัพพลายเชน ที่จะต้องมีการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิต โดยภาคอุตสาหกรรม และการเกษตรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแนวทางการประเมินจะเข้าไปพิจารณาการปล่อยของเสียในภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร พร้อมกันกับมีการประเมิน การกักเก็บผ่านวิธีการต่างๆ เช่น ปลูกต้นไม้ ยกตัวอย่างในปี 2018 มีการปล่อยก๊าซคาร์บอน 372 ล้านตัน มีการกักเก็บไว้ 86 ล้านตัน ดังนั้นทั้งประเทศมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนจริงราว 200 กว่าล้านตัน นี่คือการประเมินที่จะนำไปสู่การเห็นภาพรวมการปล่อยก๊าซคาร์บอนของประเทศ


ปัจจุบัน ESG มีข้อบังคับที่ส่งผลกระทบทำให้ภาคธุรกิจ ต้องมีการประเมินรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจัดการกับซัพพลายเชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจ เพื่อที่จะนำเสนอกับนักลงทุนให้ได้รับการยอมรับ


“ESG ในปัจจุบันถือเป็นข้อกำหนด บีบให้ภาคธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ ต้องมีการรายงานการปล่อยก๊าซคาร์บอน เพราะภาคการลงทุนให้ความสำคัญกับปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) ภาคธุรกิจจึงต้องรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อดูว่า มีส่วนทำบาปและสร้างเงื่อนไข เพิ่มความเสี่ยงการปล่อยคาร์บอนให้กับโลกหรือไม่ หากปล่อยคาร์บอนมาก็ไม่ควรลงทุน เพราะเป็นบริษัทที่ทำบาปกับโลก เราปล่อยคาร์บอนสะสมมากแล้ว จึงมีโอกาสปล่อยเพิ่มได้น้อยมาก เป้าหมายสูงสุดคือทุุกธุรกิจไม่ปล่อยเลย หรือ คาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) หรือ มีทางเลือกหากไม่ปล่อยก็ต้องไปหาคนอื่นที่มีการกักเก็บ เช่น ธุรกิจสีเขียว ปลูกต้นไม้ ก็มาลบได้ ไม่จำเป็นต้องทำเองทั้งหมด”


ในปัจจุบันทุกองค์กรขนาดใหญ่ในต่างประเทศ จะต้องวางแผนลดการปล่อยก๊าซรือนกระจก ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยการไปร่วมมือกับซัพพลายเชน ซื้อพลังงานสะอาด หรือ ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ตลอดจน การเข้าไปดูส่วนที่ซื้อวัตถุดิบ ขนส่งจากแหล่งกำเนิด ที่มีส่วนร่วมกับการลดการปล่อยก๊าซหรือไม่

สำหรับอบก.ในนามประเทศไทย จะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมว่าด้วยสภาพอากาศ COP28 ที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เป็นเจ้าภาพ จะเป็นโอกาสในการเชื่อมต่อให้ดึงเงินลงทุน จากกองทุนสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change Fund) ราว 1 แสนล้านดอลลาร์(ราว 35.5 แสนล้านบาท) ซึ่งเป็นข้อสัญญาขององค์กรใหญ่ ทั้งในสหรัฐ และยุโรป ต้องเข้ามาช่วยส่งเสริมองค์กรขนาดเล็กให้เปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจ ซึ่งประเทศไทยมีโอกาสร่วมมือขับเคลื่อนประเทศไทย เพราะมีพื้นฐานโครงสร้างเศรษฐกิจBCG จะทำให้ต่างชาติสนใจมาลงทุนในไทย ถือเป็นกลไก ที่มีการวางระบบให้บริษัทขนาดใหญ่เข้าไปช่วยกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก

“สิ่งที่ประเทศไทยจะไปนำเสนอในCOP28 คือแนวทางยุทธศาสตร์ เปลี่ยนผ่านประเทศสู่ความยั่งยืน เศรษฐกิจสีเขียวโดยใช้พื้นฐานที่เข้มแข็งในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นหน้าที่องค์กรใหญ่ที่รับผิดชอบเข้าไปช่วยลงทุนวางระบบนิเวศให้เป็นธุรกิจเติบโตจากด้านเทคโนโลยี และเงินร่วมลงทุน เพื่อช่วยธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยถูกกำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีจะถือเป็นโอกาสสำคัญในการช่วยSMEs ในการยกระดับตัวเอง”

ทั้งนี้ สิ่งที่SMEs ต้องการคือ การสนับสนุนการช่วยการประเมินการปล่อยก๊าซคาร์บอน เพราะเป็นการวัดบาป ซึ่งเป็นต้นทุนภาระค่าใช้จ่าย แต่หากประเทศไทยเข้าไปนำเสนอแนวทางการยกระดับธุรกิจ SMEs และทิศทางยุทธศาสตร์ของประเทศ ที่มุุ่งสู่ความยั่งยืนในเวทีCOP28 ก็มีโอกาส ในการได้รับการสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจใหม่ สร้างโอกาสใหม่ ที่ช่วยยกระดับการเติบโตอย่างมีขีดความสามารถการแข่งขันที่สมบูรณ์