เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไร้ค่า...ให้เป็นสิ่งที่มีคุณค่า ปรัชญาธุรกิจวิถียั่งยืน ‘กลุ่มมิตรผล’

by ESGuniverse, 15 พฤศจิกายน 2566

ก้าวที่เติบโตของธุรกิจที่เริ่มต้นจาก 2 คำสั้น ๆ “ยั่งยืน” และ “มิตร” วันนี้ “กลุ่มมิตรผล” กับบทพิสูจน์ด้านเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และองค์กรยั่งยืน ด้วยอุทยานมิตรผล ด่านช้างฯ ก้าวแรกของการผลักดันองค์กรสู่ ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2030 และเตรียมพร้อมที่จะเป็นองค์กร Net Zero ในอนาคต

 

 

 

ไม่ใช่เรื่องง่ายในการทำธุรกิจที่ยาวนานกว่า 60 ปี บนเส้นทางการเติบโตด้วยมูลค่ารายได้เป็นแสนล้านบาท ท่ามกลางการแข่งขันสูง และเศรษฐกิจที่ผันผวน

อะไรเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจกลุ่มมิตรผล บนเส้นทางอุตสาหกรรม อ้อยและน้ำตาลในไทย บรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริษัทและประธานคณะกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรผล สะท้อนมุมมองและให้คำตอบในเรื่องนี้ 

“กลุ่มมิตรผล ยึดหลักการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและลงมือทำจริงมาเป็นเวลานาน เพราะเราอยู่ในภาคเกษตรและอาหาร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก ทุกการดำเนินงานจึงต้องมีคำว่า ความยั่งยืน อยู่ควบคู่กันเสมอ”

 “ความยั่งยืน” ของการทำธุรกิจจะเกิดขึ้นได้ต้องมาพร้อมคำว่า “มิตร” ที่ไม่ได้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของชื่อองค์กรเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงกระบวนการคิดและการทำงาน ที่เป็น “มิตร” ตลอดทั้งห่วงโซ่มูลค่า ไม่ว่าจะเป็น สิ่งแวดล้อม คู่ค้า ลูกค้า ชุมชน และพนักงาน

 ซึ่งเป็นสองคำสำคัญที่เป็นแกนหลักของการทำธุรกิจที่ผ่านมา และในอนาคต ผ่านการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพ พร้อมทั้งการนำเทคโนโลยีและการบริหารจัดการไร่ในโครงการ มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม (Mitr Phol ModernFarm)เพื่อชาวไร่อ้อยได้เพิ่มผลผลิตต่อไร่ และมีรายได้ที่มั่นคง

 เปลี่ยนสิ่ง ไร้ค่า...เป็นสิ่งที่มีคุณค่า

ที่ผ่านมา กลุ่มมิตรผล ดำเนินงานภายใต้แนวคิดที่ว่าด้วยการ “เปลี่ยนสิ่ง ไร้ค่า...เป็นสิ่งที่มีคุณค่า” (From Waste to Value) ที่ผลักดันให้ภาคเกษตรได้เข้าไปมีส่วนช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับโลกและสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบของการผลิตพลังงานทดแทน (Renewable Energy) ซึ่งก็ทำให้ธุรกิจเกิดการต่อยอดจากน้ำตาลไปเป็นธุรกิจ ไฟฟ้าชีวมวล เอทานอล ที่ได้ดำเนินงานมากว่า 30 ปี

 Carbon Neutrality Complex แห่งแรกในไทย

 สำหรับงานด้านสิ่งแวดล้อม กลุ่มมิตรผล ขับเคลื่อนองค์กรสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ตามเป้าหมายประเทศไทยที่ตั้งไว้ในปี ค.ศ.2050 จะเป็น Carbon Neutrality และ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ในปี ค.ศ.2065

โดยริเริ่มการดำเนินงานอุทยานมิตรผลด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี คอมเพล็กซ์ที่ประกอบไปด้วย 7 โรงงาน ที่เริ่มจากโรงงานน้ำตาล และหมุนเวียนใช้ทรัพยากรที่เหลือจากกระบวนการผลิตน้ำตาล ต่อยอดสู่โรงไฟฟ้าชีวมวล และอุตสาหกรรมไบโอเบส

นอกจากนี้ ยังมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ส่งผลให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 270,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่ากับการ

ปลูกต้นไม้กว่า 300,000 ไร่

 ภายในคอมเพล็กซ์แห่งนี้ มีกระบวนการทำงานที่เน้นการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Energy) จากการหมุนเวียนวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ชานอ้อย ใบอ้อย สู่การผลิตพลังงานไฟฟ้าชีวมวล รวมถึงระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่พัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูง ลดการสูญเสีย และ ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 185,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

 ในส่วนของระบบบริหารจัดการน้ำเสีย (Advanced Technology for Environmental Protection) มีการนำเทคโนโลยีการบำบัดแบบตะกอนเร่ง (Activated Sludge) ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง ทดแทนการใช้ระบบแบบเดิมที่ใช้พื้นที่มากและเกิดก๊าซเรือนกระจก ทำให้น้ำที่ผ่านการบำบัดมีคุณภาพที่ดี และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 10,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

พร้อมกันนี้ ยังดำเนินการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Offset) จำนวน 75,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

จากคาร์บอนเครดิตที่กลุ่มมิตรผลได้รับจากการเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER)

 “ความสำเร็จของการผลักดันอุทยานมิตรผล ด่านช้างฯ เป็นเครื่องยืนยันความตั้งใจและการลงมือทำจริงของเรา เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กร Net Zero ในอนาคตและร่วมสร้างสมดุลที่ดีให้กับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน”

 โดยเตรียมจะพัฒนาไปอีกขั้นสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ทั้งองค์กร ภายในปี ค.ศ. 2030 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050