‘กสิกรไทย’ จับมือ ‘ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส’ ‘บินลดคาร์บอน’ ขนส่งเอกสารธุรกิจ

by ESGuniverse, 7 ธันวาคม 2566

“กสิกรไทย” ปรับทัพซัพพลายเชนขนส่งลดโลกร้อน เปลี่ยนการส่งเอกสารทางอากาศให้ยั่งยืน ด้วยพลังงานชีวภาพ SAF ผ่านการบริการ “ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส” สู่เป้าหมาย คาร์บอนเป็นศูนย์ในการดำเนินงานขององค์กร ภายในปี 2573

 

 

“ธนาคารกสิกรไทย” ดำเนินธุรกิจบนหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืน (Bank of Sustainability) ทำธุรกิจสร้างความสมดุลทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) สร้างวัฒนธรรมถ่ายทอดการทำงาน ปลูกฝังความยั่งยืนอยู่ในทุกกระบวนการทํางาน เพื่อให้ก้าวสู่ “ธนาคารดีเอ็นเอ สีเขียว” (Green DNA) ขององค์กร พร้อมกับผสานความท้าทายด้วยการใช้นวัตกรรมและความร่วมมือกับพันธมิตรมาส่งเสริมให้ประชาชน เข้าถึงบริการของธนาคารอย่างทั่วถึงและสะดวกสบาย ตอบโจทย์ สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

ทั้งนี้ ได้วางเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) จากการดําเนินงานของธนาคาร ภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) หลังจากเข้าไปสำรวจกระบวนการทำงานภายในองค์กร ตลอดซัพพลายเชนธุรกิจการเงิน เพื่อวางแผนโรดแมปก้าวสู่การเป็น”ธนาคารที่มีบทบาทลดโลกร้อน” อย่างไรได้บ้าง

จึงเริ่มต้นลดการปล่อยคาร์บอนจากภาคการขนส่งเป็นส่วนสำคัญปล่อยมลพิษสูู่ชั้นบรรยากาศ จึงปรับเปลี่ยนจากภาคการขนส่งทางบก ทยอยใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ภายในอาคารสำนักงาน ใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานและติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ ส่วนภาคการขนส่งทางอากาศ เพื่อส่งเอกสารข้ามทวีปไปทั่วโลก เป็นหนึ่งในต้นเหตุหลักของโลกร้อน จึงผนึกพันธมิตรในธุรกิจขนส่งระหว่างประเทศ “ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส” ผ่านโครงการ Go Green Plus ส่งเอกสารทางการค้าด้วยเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel -SAF) เป็นธนาคารแรก

กุลวัชร์ พุ่มเทียน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ระบุถึงความร่วมมือดังกล่าวว่า จะสนับสนุนและส่งเสริมลูกค้าธุรกิจของธนาคารที่ต้องนำส่งเอกสารทางการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ ปรับเปลี่ยนมาใช้การขนส่งด้วยเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน โดยใช้น้ำมันที่ช่วยลดโลกร้อนปล่อยมลพิษต่ำ เช่น พลังงานเชื้อเพลิงจากชีวภาพ ช่วยให้การขนส่งเอกสารระหว่างประเทศ ถือเป็นรูปแบบการบริการการบินที่ไม่เพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่าย โดยธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารแรกที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อเป็นต้นแบบ สนับสนุนให้ลูกค้าธุรกิจของธนาคารได้เป็นส่วนหนึ่งในการรักษ์โลกไปด้วยกัน

ทั้งนี้ คาดว่ารูปแบบการปรับเปลี่ยนการขนส่งนี้ จะสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดตลอดวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life-cycle Carbon Footprint) ได้ราว 70-80% เทียบกับการใช้น้ำมันเครื่องบินทั่วไป และลดการปล่อยสารอันตรายที่เป็นอนุภาคเล็กและกำมะถัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจไปสู่  Net Zero Emission ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

นับว่าเป็นการปรับเปลี่ยนการดำเนินงาน ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจบนหลักการ “ธนาคารแห่งความยั่งยืน” (Bank of Sustainability) โดยดำเนินนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการให้บริการของธนาคารมาโดยตลอด

ด้าน เฮอร์เบิต วงศ์ภูษณชัย กรรมการผู้จัดการ ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ประเทศไทย และหัวหน้าภาคพื้นอินโดจีน กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการขนส่งเอกสารระหว่างประเทศด้วยเครื่องบิน ผ่านการเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน แทนน้ำมันเครื่องบินทั่วไป แสดงถึงความมุ่งมั่นด้านการดำเนินการที่ยั่งยืนของทั้งสองบริษัท ซึ่ง SAF มีบทบาทสำคัญและมีประสิทธิภาพในการช่วยจัดการแก้ปัญหาการปล่อยคาร์บอนที่เป็นความท้าทายนี้ โดยดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรสจะเดินหน้าสนับสนุนการใช้ SAF ให้เข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่มอย่างแพร่หลาย เพื่อช่วยให้บรรลุเป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้สำเร็จและยั่งยืน

และนี่คืออีกหนึ่งต้นแบบในการเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจการเงิน นอกเหนือจากการปล่อยสินเชื่อ ยังเริ่มต้นปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภายในการดำเนินธุรกิจ และขยายไปสู่ซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เพื่อช่วยลดโลกร้อน ที่ไม่ว่าจะอยู่ในธุรกิจใด ก็สามารถมีส่วนร่วมลดโลกร้อนได้ ผ่านความคิดสร้างสรรค์ การประเมินซัพพลายเชนของตนเอง และการผนึกพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญ เมื่อโลกคลายความร้อนรุนแรง ธุรกิจย่อมหายใจได้โล่งขึ้น