‘Net Zero Carbon’ ผนึกบริษัทนวัตกรรมเกษตร ลุยตลาด ‘เกษตรคาร์บอนต่ำ’ ไทย-เวียดนาม

by ESGuniverse, 11 ธันวาคม 2566

นอกจากภาคพลังงานและขนส่ง จะเป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับ1 ทำให้โลกร้อนปะทุจุดเดือดแล้ว ในภาคการเกษตร ยังเป็นอีกตัวการสำคัญ โดยข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า ภาคการเกษตรไทย มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับ 2 รองจากอุตสาหกรรมพลังงานและการขนส่ง โดยแหล่งที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำคัญ คือ “การปลูกข้าว” ซึ่งเกิดจากการขังน้ำระหว่างปลูกข้าวโดยจะปล่อยก๊าซมีเทน อีกหนึ่งต้นตอก๊าซเรือนกระจก

 

 

 

ดังนั้น “เทคโนโลยีลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร” จึงมีความสำคัญในการ “ปลดล็อก” การทำเกษตรอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับการประชุม COP28 ที่มหานครดูไบ ที่ต้องการขยายผลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปยังกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด หมายรวมถึงภาคการเกษตรและอาหาร ผลักดันให้ “ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและกิจกรรมลดโลกร้อนในภาคเกษตร” ตื่นตัวในเรื่องนี้

ล่าสุด บริษัทเนทซีโรคาร์บอน จำกัด (Net Zero Carbon Thailand) ผู้ดำเนินธุรกิจคาร์บอนเครดิตและใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (RECs) ในไทย ได้ประกาศความร่วมมือเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมคาร์บอนต่ำในการปลูกข้าว (Low Carbon Rice Production) กับ Spiro Carbon บริษัทเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกา โดยจัดตั้งบริษัทร่วมทุน Spiro Carbon Asean เพื่อดำเนินการธุรกิจคาร์บอนเครดิตร่วมกันในอาเซียน

นอกจากนี้บริษัทฯยังลงนามความร่วมมือกับ BSB Nanotechnology บริษัทเทคโนโลยีจากเวียดนาม เพื่อเดินหน้านวัตกรรมเกษตรเพิ่มผลผลิต - ลดต้นทุนการผลิต ให้กับเกษตรกร โดยความร่วมมือดังกล่าวนี้ จะนำร่อง 2 ประเทศ คือ ไทย และเวียดนาม ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของโลก

 

 

 ธนนนท์ เตรียมชาญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เนทซีโรคาร์บอน จำกัด (Net Zero Carbon Thailand) กล่าวถึงความร่วมมือว่า Spiro Carbon มีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์ข้อมูลจากหลายแหล่ง รวมถึงข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม เพื่อติดตามการทำนาแบบเปียกสลับแห้งซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสามารถประเมินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยโครงการปลูกข้าวลดโลกร้อนนี้สามารถเข้าถึงเกษตรกรรายย่อยผ่านการมีส่วนร่วมและช่วยเกษตรกรสร้างรายได้เสริมโดยการช่วยขายค่าการชดเชยคาร์บอน (คาร์บอนเครดิต) ให้กับผู้ใส่ใจปัญหาโลกร้อน

ขณะที่ BSB Nanotechnology สามารถสกัดสารนาโนซิลิกาจากแกลบได้ จะนำมาใช้ดูแลพืช กำจัดเชื้อรา และแบคทีเรียในรูปแบบอินทรีย์ ซึ่งช่วยเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกร ลดต้นทุนการผลิต และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้นโยบาย 'ดินสู่ผืนดิน' โดยให้ Net Zero Carbon Thailand เป็นตัวแทนแต่ผู้เดียวไทย

 

 

 

“ความร่วมมือครั้งนี้จะสร้างผลประโยชน์ให้กับเกษตรกรในไทย เวียดนาม ลาว และอาเซียน ที่เปลี่ยนมาทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากภาคการเกษตรเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน และการใช้ผลิตภัณฑ์นาโนซิลิกานั้นจะช่วยให้ผลผลิตของเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น สร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้กับเกษตรกร โดยกลุ่มบริษัทพันธมิตรพร้อมดำเนินโครงการให้เป็นรูปธรรมภายในต้นปี 2567” ธนนนท์ กล่าว

และนี่คือหนึ่งในตัวอย่างความร่วมมือของบริษัทเอกชนที่เกาะเทรนด์ “เทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร” โดยนอกจากจะมีส่วนช่วยลดโลกร้อนจากการปลูกข้าว ซึ่งเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรไทยแล้ว ยังทำให้เกษตรกรไทยมีรายได้เสริมจากการขายคาร์บอนเครดิต อีกด้วย