อวสานม่านรูด! เมื่อม่านรูด จำต้อง “รูดม่าน”

by ThaiQuote, 18 กุมภาพันธ์ 2561

ล่วงเลยวันวาเลนไทน์มาแล้ว เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา แอบชำเลืองไปเห็นโพลล์ “บ้านสมเด็จโพลล์” มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับวันวาเลนไทน์ โดย ร้อยละ 43.3 ของกลุ่มตัวอย่างอยากอยู่ร่วมกับคนรักในวันวาเลนไทน์ ขณะเดียวกัน เมื่อถามถึงสถานที่ซึ่งจะพาคนรักไปในวันวาเลนไทน์ แน่นอน อันดับ 1 คือ ร้านอาหาร ร้อยละ 34.6 อันดับ 2. ห้างสรรพสินค้า ร้อยละ 25.7 อันดับ 3.บ้าน 18.9 อันดับ 4. โรงแรม/ห้องเช่ารายวัน/โรงแรมม่านรูด ร้อยละ 8 และอันดับ 5 หอพัก/อพาร์ทเม้นท์ ร้อยละ 4.5 กระแสการใช้บริการม่านรูดในปัจจุบัน ดูซบเซาลงไป สังเกตได้จากการทยอยปิดตัวสถานที่ประเภทดังกล่าว หลังจากที่อดีตเราอาจเห็นผ่านหูผ่านตามาบ้าง ตามถนน ซอกซอยต่างๆ สาเหตุอาจเนื่องจาก คำว่า “ม่านรูด” ดูจะมีความ “เทา” อยู่ในตัวเอง ข่าวที่เราได้ยินได้ฟังฉุดให้ม่านรูด กลายเป็น สถานที่ “อโคจร” เช่น การจับกุมนักเรียน เยาวชนมั่วสุม การจับกุมขบวนการค้ายาเสพติด การตายปริศนา หรือการฆาตกรรม ล่าสุดกับคดีดัง “ฆ่าหั่นศพ” ซึ่งใช้ม่านรูดเป็นที่ลงมือ หากมองในแง่ของธุรกิจ ธุรกิจม่านรูดเป็นธุรกิจ “เงียบ” แต่มีการแข่งขันสูง ไม่เฉพาะแต่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล แต่ธุรกิจนี้เมื่อไม่เกิน 20 ปีที่ผ่านมา เป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด ราคาค่าใช้บริการซึ่งถูก สามารถใช้บริการแบบชั่วคราวได้ครั้งละ 2-3 ชั่วโมง ถือเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้คนกลุ่มหนึ่งนิยมใช้บริการ รวมถึงเด็ก และเยาวชน ซึ่งใช้เป็นที่มั่วสุม ขณะที่การใช้บริการโรงแรมมีราคาที่สูงกว่า แต่ปัจจุบัน เมื่อแนวโน้มการแข่งขันของโรงแรม ที่พักต่างๆ เริ่มสูงขึ้น ธุรกิจโรงแรมจึงจำเป็นต้องขยับตัว ปรับราคา การบริการ แน่นอนปัจจุบันตามหัวเมืองท่องเที่ยว หรือจังหวัดต่างๆ เรามักจะเห็นโรงแรมในราคาหลักร้อยไม่เกิน 1,000 บาทเพียบพร้อมด้วยการบริการ สะอาด สิ่งอำนวยความสะดวก และเมื่อเข้าใช้บริการก็ไม่ต้องหลบๆซ่อนๆ อีกต่อไป ส่วนม่านรูด เมื่อขายไม่ได้ก็จำเป็นต้องปรับตัว เช่นกัน ข่าวเจ้าของม่านรูดชื่อดัง ผันธุรกิจม่านรูดแต่งตัวเสียใหม่ รีโนเวทห้องพักกลายเป็นโรงแรมรับรองนักท่องเที่ยว จึงไม่ค่อยเป็นที่น่าแปลกใจ หากยังไม่เปลี่ยน จึงจะน่าตกใจที่จะสู้ต่อไปได้อย่างไร นอกจากโรงแรมแล้ว กลุ่มธุรกิจอพาร์ทเม้นท์ หอพัก และรีสอร์ทขนาดเล็ก ก็ลงมาเล่นแย่งชิงพื้นที่กลุ่มลูกค้าของ โรงแรมม่านรูดด้วยเช่นกัน ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA) กล่าวกับ “ThaiQuote” ว่า จากการวิจัยและทำการสำรวจ พบว่า ธุรกิจของโรงแรมมีการปรับตัวรับการแข่งขันเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในทุกๆกลุ่ม จากโรงแรมที่มีระดับ 3-5 ดาว ซึ่งมีราคาแพง ก็อาจมีการปรับพื้นที่ ปรับราคาลงมาเล่นในระดับกลางและล่าง ด้านกลุ่มของห้องพัก อพาร์ตเม้นท์ ก็ต้องปรับตัวรับการแข่งขัน จากที่เคยให้เช่าเป็นรายเดือน ตัวอย่างเช่น เดือนละ 3,000 บาท ก็ปรับรูปแบบมาให้เช่าเป็นรายวัน หรือเปลี่ยนเป็นโรงแรมให้เช่าคืนละ 1,000 บาท (หรือประมาณเดือนละ 30,000 บาท) และการเกิดขึ้นของธุรกิจใหม่อย่าง Hostel (โฮสเทล) ที่แปลงตึกแถวมาแบ่งเป็นห้องเช่าแบบโรงแรม เหล่านี้ดูจะเป็นทางเลือกทีดีในการใช้บริการมากกว่าม่านรูด ขณะเดียวกัน การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเขตใจกลางเมืองซึ่งโรงแรมม่านรูดตั้งอยู่นั่นเป็นทำเลทองของการพัฒนาในรูปแบบอื่นๆ ทั้งอาคารชุด(คอนโดมิเนียม) ทาวน์เฮ้าส์ อาคารสำนักงาน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจหากพื้นที่ที่เคยตั้งม่านรูดจะกลายเป็นคอนโดมิเนียมเสียแล้ว อย่างไรก็ตามสามารถสรุปได้ว่า ที่ม่านรูดหลายต่อหลายแห่งต้องปิดตัวลงนั้น เป็นเพราะมูลเหตุ ดังต่อไปนี้ 1.พื้นที่ตั้งแต่เดิมเป็นที่รโหฐาน แต่ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งชุมชนไม่เหมาะกับการใช้บริการอีกต่อไป 2. มีโรงแรมตามปกติหลายแห่งเปิดให้เช่าชั่วคราวหรือค้างคืนเดียว สามารถไปใช้บริการได้อย่างแนบเนียนกว่าการขับรถเข้าไปในโรงแรมม่านรูด 3. ราคาที่ดินที่ตั้งของโรงแรมม่านรูดสูงขึ้นทำให้เกิดทางเลือกใหม่ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 4. มีโรงแรมแบบรีสอร์ทหลายแห่งที่บรรยากาศดีกว่าเหมาะสมกว่า “ม่านรูด” 5.ม่านรูดหลายแห่งอาจเหมาะสมนำมาทำ บูติค โฮเต็ล , hostel หรือโรงแรมตามปกติและน่าจะสร้างรายได้ได้มากกว่าการเป็นโรงแรมม่านรูด ด้วยเหตุผลเหล่านี้เอง ทั้งด้านของสภาพกายภาพของพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไป สภาพทางสังคม และสภาพทางเศรษฐกิจ จึงเป็นเหตุให้ม่านรูด จึงจำเป็นต้อง “รูดม่าน” ไปในที่สุด

Tag :