บล็อกเชน เทคโนโลยีต้นกำเนิด บิทคอยน์

by ThaiQuote, 30 เมษายน 2561

เทคโนโลยีบล็อกเชนส่วนใหญ่แล้วมักมีความเกี่ยวข้องกับบิทคอยน์และเงินดิจิทัลสกุลอื่น ๆ แต่นั่นเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น โดยบางคนมองว่า เทคโนโลยีบล็อกเชนอาจจะเข้ามาปฏิวัติอุตสาหกรรมสำคัญในภาคส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่บริการดูแลสุขภาพไปจนถึงแวดวงการเมือง   หากคุณแค่กำลังศึกษาวิธีการลงทุนในบิทคอยน์ ซื้อขายเงินอีเธอเรียม หรือแค่ต้องการรู้ว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนคืออะไร จะ ขอพาท่านไปรู้จักกับบล็อกเชน ซึ่งเราได้อ้างอิงข้อมูลจาก Digitaltrends.com มานำเสนอดังนี้   บล็อกเชนไม่ได้มีขึ้นเพื่อรองรับบิทคอยน์อย่างเดียว   แม้เทคโนโลยีบล็อกเชนจะไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจได้ง่าย แต่แนวคิดพื้นฐานของบล็อกเชนก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินกว่าที่จะทำความเข้าใจ บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการจัดเก็บฐานข้อมูล ในลักษณะที่เป็นการรวบรวมระเบียน (Record) ต่างๆไว้ ซึ่งมีการดูแลโดยกลุ่มคนแทนที่จะเป็นหน่วยงานกลางหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง เช่น ธนาคารหรือหน่วยงานรัฐที่มักจะจัดเก็บข้อมูลไว้บนเซิร์ฟเวอร์เฉพาะของตนเอง   ในส่วนของคำว่า "บล็อก" หรือกลุ่มข้อมูล จะประกอบไปด้วยระเบียนธุรกรรมจำนวนหนึ่ง ส่วนคำว่า "เชน" หรือห่วงโซ่ เป็นการเชื่อมต่อบล็อกต่างๆ เข้าด้วยกันโดยใช้ฟังก์ชันแฮช (Hash function) เมื่อมีการสร้างระเบียนข้อมูลขึ้นมา ระเบียนข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นเหล่านี้จะได้รับการยืนยันโดยเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบกระจายศูนย์ (Distributed network) และถูกจับต่อเข้ากับระเบียนข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ก่อนหน้านี้ในเชน จนทำให้เกิดการสร้างเชนต่อๆ กันของบล็อก หรือบล็อกเชนนั่นเอง บล็อกเชนถูกจัดเก็บอยู่ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ ซึ่งหมายความว่า ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วได้ นี่ถือเป็นคุณลักษณะที่สำคัญ เนื่องจากทำให้ข้อมูลที่เกิดขึ้นในเชนก่อนหน้านั้นยังคงสภาพเดิม และหมายความว่า จะไม่มีใครสามารถย้อนกลับไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลเหล่านั้นได้ ทำให้บล็อกเชนเป็นบัญชีธุรกรรมสาธารณะที่ไม่มีใครเข้าไปแทรกแซงได้ง่ายๆ เพราะมีชั้นป้องกันภัยในตัวเอง ซึ่งหาไม่ได้ในฐานข้อมูลมาตรฐานแบบรวมศูนย์   ในระบบแบบปกติดั้งเดิม เราจำเป็นต้องมีหน่วยงานหรือองค์กรกลางต่างๆที่เชื่อถือได้มาทำหน้าที่ตามข้อกำหนดที่ได้มีการตกลงกัน แต่บล็อกเชนทำให้ใครก็ได้สามารถมาปฏิบัติหน้าที่เหล่านั้นให้เราในรูปแบบอัตโนมัติและปลอดภัย   นั่นคือนวัตกรรมของบล็อกเชน และคุณอาจจะได้ยินว่า บล็อกเชนถูกนำไปใช้ในเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากบิทคอยน์หรือสกุลเงินดิจิทัลต่างๆ และปัจจุบันเรายังสามารถใช้บล็อกเชนในการเก็บรักษาข้อมูลหลายรูปแบบ แม้ว่าจะยังไม่ได้ใช้งานกันอย่างแพร่หลายนัก มีองค์กรที่ชื่อว่า "Follow My Vote" ได้พยายามใช้บล็อกเชนในระบบการลงคะแนนเสียงแบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อความปลอดภัยที่สูงขึ้นกว่าแบบเวอร์ชั่นเดิม ๆ และในอนาคตผู้ให้บริการด้านสุขภาพก็อาจจะใช้บล็อกเชนในการบันทึกข้อมูลผู้ป่วยก็เป็นได้   บล็อกเชนมาจากไหน? แม้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพิ่งถูกนำมาใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่ต้นกำเนิดของบล็อกเชนก็สามารถสืบย้อนกลับไปได้อีกยาวไกล โดยในบทความที่มีชื่อว่า "แนวทางใหม่ในการเข้ารหัส" (New Directions in Cryptography) ที่ถูกเผยแพร่เมื่อค.ศ. 1976 ได้พูดถึงแนวคิดของบัญชีธุรกรรมแบบกระจายศูนย์ (Distributed ledger) ซึ่งคือสิ่งที่บล็อกเชนทำอยู่ในปัจจุบัน แนวคิดนี้ถูกต่อยอดมาในช่วงทศวรรษ 1990 มีการตีพิมพ์บทความในหัวข้อ "วิธีประทับเวลาบนเอกสารดิจิทัล" (How to Time-Stamp a Digital Document) แต่แนวคิดดังกล่าวยังคงต้องใช้เวลาอีก 2 ทศวรรษ และใช้คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงประกอบกับวิธีปฏิบัติการที่ชาญฉลาดเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล จึงจะทำให้แนวคิดเหล่านี้เป็นจริงได้   ในการตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของข้อมูลในบล็อกในลักษณะเดียวกันกับบัญชีธุรกรรมส่วนบุคคลแบบดั้งเดิมนั้น  บล็อกเชนจะต้องใช้การคำนวณที่ซับซ้อน จึงต้องใช้คอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงจำนวนมาก ซึ่งทำให้ต้องใช้ต้นทุนสูงมากในการจัดหา จัดการ และรักษาระดับอุณหภูมิของเครื่องคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม นั่นจึงเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้บิทคอยน์เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากในการเริ่มนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ เพราะบิทคอยน์สามารถเป็นรางวัลที่มีมูลค่าทางการเงินแก่คนที่เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการ   บิทคอยน์เกิดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2009 โดยการใช้แนวคิดคลาสสิคของบัญชีธุรกรรมแบบกระจายศูนย์ แนวคิดเรื่อง บล็อกเชน ผสานเข้ากับเรื่องสกุลเงินดิจิทัลที่ไม่ได้ถูกควบคุมโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง บิทคอยน์ถูกพัฒนาขึ้นโดยบุคคลที่ใช้นามแฝงว่า ซาโตชิ นากาโมโตะ ซึ่งนำบล็อกเชนมาใช้ทำให้การดำเนินบัญชีธุรกรรมต่างๆได้รับการปกป้องจากการถูกแทรกแซงแก้ไข สกุลเงินดิจิทัลนำบล็อกเชนมาใช้อย่างไร บิทคอยน์และสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีบล็อกเชนในรูปแบบที่แตกต่างกัน เนื่องจากบิทคอยน์ถูกคิดค้นขึ้นเป็นสกุลเงินดิจิทัลแรก บิทคอยน์จึงผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงหลายครั้งโดยกลุ่มผู้พัฒนาหลัก และกลุ่มผู้มีส่วนร่วมในวงกว้าง ขณะที่สกุลเงินดิจิทัลอื่นๆถูกสร้างเพื่อให้ดีขึ้นกว่าบิทคอยน์ และมีการดำเนินการที่แตกต่างกัน   ในกรณีของบิทคอยน์นั้น บล็อกใหม่ในบล็อกเชนจะถูกสร้างขึ้นทุก ๆ 10 นาทีโดยประมาณ บล็อกดังกล่าว จะตรวจสอบและบันทึก หรือ "รับรองยืนยัน" ธุรกรรมใหม่ที่เกิดขึ้น ในขั้นตอนดังกล่าว "นักขุด" จึงต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูง ในการส่งหลักฐานการทำงาน ซึ่งก็คือการคำนวณชุดตัวเลขที่จะตรวจสอบยืนยันบล็อก รวมถึงธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลยืนยันดังกล่าวต้องถูกส่งมาก่อนที่ธุรกรรมของบิทคอยน์จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ แม้ว่าในทางเทคนิคแล้ว บิทคอยน์จะถูกโอนในช่วงเวลาที่สั้นและรวดเร็วมาก   นี่คือสิ่งที่ทำให้บิทคอยน์ประสบปัญหาในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เมื่อธุรกรรมบิทคอยน์เพิ่มมากขึ้น การสร้างบล็อกทุกๆ 10 นาทีที่มีความซับซ้อน อาจจะต้องใช้เวลานานมากขึ้นในการยืนยันธุรกรรมทั้งหมด ซึ่งอาจจะทำให้เกิดงานคงค้างในระบบ   ในขณะที่สกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ จะมีความแตกต่างออกไป สำหรับไลท์คอยน์ การสร้างบล็อกเกิดขึ้นทุก 2 นาทีครึ่ง ส่วนอีเธอร์เรียม เวลาในการสร้างบล็อกอยู่ที่เพียง 10-20 วินาทีเท่านั้น ดังนั้นขั้นตอนการยืนยันการทำธุกรรมจึงเร็วกว่า นี่เป็นผลดีจากการปรับปรุง แม้ว่า การสร้างบล็อกที่เกิดขึ้นในอัตราที่เร็วกว่า จะมีโอกาสสูงกว่าในการเกิดความผิดพลาด เนื่องจากหากลองพิจารณาดูแล้ว ถ้าคอมพิวเตอร์ 51% ขึ้นไปที่ทำงานบนบล็อกเชนบันทึกข้อมูลผิดพลาด ก็จะกลายเป็นความผิดพลาดเกือบถาวร และการสร้างบล็อกที่รวดเร็วกว่าก็หมายความว่ามีจำนวนระบบที่ทำงานเกี่ยวข้องอยู่ไม่มากนัก   บทสรุป เทคโนโลยีบล็อกเชนยังคงเป็นเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มที่น่าตื่นเต้นและน่าติดตามอีกมาก แต่ก็มีข้อควรพึงระวังและพิจารณาอย่างจริงจังบางประเด็นก่อนที่เราจะฟันธงว่า บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต   การตรวจสอบความถูกต้องในเรื่องของการทำธุรกรรมนั้น จะต้องใช้พลังงานในระบบการประมวลผล ซึ่งคอมพิวเตอร์เหล่านี้ต้องใช้ไฟฟ้า บิทคอยน์เองก็เหมือนกับตัวแทนของปัญหาในการใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ บนเครือข่ายบล็อกเชนขนาดใหญ่ แม้ว่า ข้อมูลสถิติเฉพาะเกี่ยวกับข้อกำหนดด้านพลังงานของบิทคอยน์จะเป็นเรื่องที่ดูลำบาก แต่ข้อมูลเรื่องนี้ก็มักจะถูกนำมาใช้เปรียบเทียบกับประเทศที่มีขนาดเล็กๆ ในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าไม่ดีเท่าไรนัก เมื่อดูจากประเด็นที่สร้างความกังวลในปัจจุบันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แหล่งพลังงานในประเทศกำลังพัฒนา และความน่าเชื่อถือในเรื่องของพลังงานในประเทศที่พัฒนาแล้ว   ความเร็วในการประมวลรายการธุรกรรมก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ดังที่กล่าวข้างต้นนั้น บล็อกที่อยู่ในห่วงจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบจากเครือข่ายแบบกระจายศูนย์ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลา บางครั้งก็ใช้เวลาเป็นอย่างมาก สำหรับกรณีที่แย่ที่สุดนั้น เวลาในการประมวลรายการธุรกรรมโดยเฉลี่ยของบิทคอยน์ได้พุ่งเกิน 41 ชั่วโมงในช่วงเลวร้ายสุด ขณะที่สกุลเงินอีเธอเรียมนั้นมีประสิทธิภาพมากกว่า แต่เวลาเฉลี่ยก็อยู่ที่ประมาณ 15 วินาที ซึ่งก็แทบจะใช้เวลาไปชั่วนิรันดรหากคุณกำลังต่อแถวจ่ายเงินที่ซูเปอร์มาร์เก็ต ส่วนบล็อกเชนที่มีการนำไปใช้งานนอกเหนือจากในเรื่องของสกุลเงินดิจิทัลนั้น ก็อาจพบกับปัญหาคล้าย ๆ กัน ลองจินตนาการดูว่าคงจะเป็นเรื่องชวนหงุดหงิดน่าดู หากเราต้องมารอ 15 วินาทีทุกครั้งที่ต้องการเปลี่ยนการกรอกข้อมูลเข้าฐานข้อมูล   ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข เนื่องจากบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น แต่หากมองว่า เราอยู่ในช่วงเวลาที่ได้มีการนำบล็อกเชนมาใช้เป็นครั้งแรกไม่ถึง 10 ปีแล้วนั้น ดูเหมือนว่า เราเพิ่งจะอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการนำแนวคิดใหม่นี้มาใช้เท่านั้น   แปลและเรียบเรียงโดย สุนิตา พรรณรักษา : อินโฟเควสท์
Tag :