แนะฉวยโอกาสเจาะตลาดหลัง จีน-สหรัฐทำสงครามการค้า

by ThaiQuote, 16 กรกฎาคม 2561

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับภาคเอกชน กลุ่มธุรกิจเกษตรและอาหารสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในวันนี้(16 ก.ค.61)เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา จีน และการตอบโต้ทางการค้าของประเทศอื่นๆรวมทั้งสหภาพยุโรป แม้ว่าความขัดแย้งทางการค้าดังกล่าวจะไม่มีเป้าหมายที่จะโจมตีการค้ากับไทยโดยตรง แต่ประเทศดังกล่าว ล้วนเป็นประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย โดยในเบื้องต้นภาคเอกชนเห็นร่วมกันว่าในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรของไทย น่าจะไม่รับผลกระทบโดยตรง

"ในสถานการณ์ความขัดแย้งได้สร้างโอกาสให้ไทยที่จะส่งสินค้าเข้าไปแทนที่สินค้าที่ถูกเก็บภาษี ภาคเอกชนจึงควรเตรียมตัวในเชิงรุก และใช้ประโยชน์ โดยสินค้าที่คาดว่าไทยน่าจะมีโอกาสขยายการส่งออกไปจีนได้เพิ่มขึ้น แทนที่สหรัฐที่ถูกจีนขึ้นภาษี ได้แก่ สินค้าประมง เช่นกุ้ง ซึ่งคาดว่าจีนอาจจะนำเข้าจากสหรัฐน้อยลงจากการขึ้นภาษี เพื่อตอบโต้มาตรการทางการค้าของสหรัฐ"นายสนธิรัตน์กล่าว

ในปี 2560 จีนมีการนำเข้ากุ้งจากสหรัฐฯ มากเป็นอันดับ 3 มูลค่าการนำเข้า 292 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 5 มูลค่าการนำเข้า 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ผลไม้เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคจีนให้ความนิยมอย่างมาก และไทยมีการส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้นทุกปี ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป เช่นปลาทูน่า และหอยนางรมบรรจุภาชนะ สิ่งสกัดหรือน้ำคั้นจากปลา ที่ผ่านมาจีนนำเข้าจากไทยมากกว่านำเข้าจากสหรัฐ ด้วยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 2 มูลค่า 38 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่นำเข้าจากสหรัฐเป็นอันดับที่ 8 มูลค่า 4.71 ล้านเหรียญสหรัฐ

สินค้าที่คาดว่าไทยน่าจะมีโอกาสส่งออกไปกลุ่มประเทศ EU มากขึ้นแทนที่สินค้าสหรัฐ ที่ถูกขึ้นภาษี เช่น สินค้าข้าวในปี 2560 EU นำเข้าข้าวและข้าวหักจากสหรัฐเป็นมูลค่า 182.75 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่นำเข้าจากไทยมูลค่า 170.90 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าธัญพืชและข้าวปรุงแต่ง ในปี 2560 EU นำเข้าจากไทยมูลค่า 9.82 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากสหรัฐมูลค่า 1.59 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นการที่ EU ประกาศขึ้นภาษีข้าว ธัญพืชและข้าวปรุงแต่งจากสหรัฐ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ไทยสามารถส่งออกไป EU ได้เพิ่มมากขึ้นด้วย เพื่อทดแทนปริมาณการนำเข้าเดิมจากสหรัฐ

นายสนธิรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการหารือนี้ ภาคเอกชนได้มีข้อเสนอแนะให้ภาครัฐ พิจารณาให้ความช่วยเหลือในประเด็นต่างๆ เพื่อเป็นการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนและเตรียมรับมือสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการค้าที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งเสนอให้เร่งการเจอจา FTAs เพื่อเปิดตลาดใหม่และสร้างโอกาสในการส่งออกให้แก่สินค้าไทย เช่น ความตกลงการค้าเสรี ไทย-อียู เป็นต้น

นายสนธิรัตน์ เน้นย้ำว่า กระทรวงพาณิชย์จะติดตามมาตรการการโต้ตอบระหว่าง สหรัฐ จีนและประเทศต่างๆอย่างใกล้ชิดและขอให้วางใจว่า กรมต่างๆในกระทรวงพาณิชย์จะทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง  เพื่อผลักดันการส่งออกของไทยไปยังประเทศที่เป็นกลุ่มตลาดเก่าและตลาดใหม่  พร้อมทั้งเตรียมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้มาตรการทางการค้าระหว่างประเทศของมหาอำนาจในโลก โดยจะเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของปริมาณการนำเข้า

ซึ่งหากเห็นว่าอุตสาหกรรมมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ ที่ทำให้เกิดการเบี่ยงเบนทางการค้าโดยมีสินค้าเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น หรือสินค้าที่ทุ่มตลาดเข้ามา เอกชนสามารถประสานแจ้งกระทรวงพาณิชย์ให้พิจารณานำมาตรการทางการค้าที่เหมาะสมมาใช้ เช่น การปกป้องทางการค้า มาตรการโต้ตอบการทุ่มตลาด