ไบโอไท จี้ ยกเลิกคำขอ สิทธิบัตรกัญชาทันที ชี้ขัดกม.ชัด

by ThaiQuote, 15 พฤศจิกายน 2561

รายงานข่าวเปิดเผยว่า เมื่อวานนี้(14 พ.ย.) นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไท) ได้แถลงข่าว "ภาคประชาชนจับโกหกกรมทรัพย์สินทางปัญญา ด้อยประสิทธิภาพ ตรวจสอบคำขอสิทธิบัตรกัญชาทำคนทั้งชาติเสียหาย" ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์เท่าที่จะสามารถตรวจสอบเจอในขณะนี้พบว่ามีคำขอจดสิทธิบัตรกัญชา 12 ฉบับที่กรมฯรับคำขอไว้ มีเพียง 1 ฉบับที่อยู่ในสถานะละทิ้งไปแล้ว อย่างสมัครใจ อีก 7 ฉบับอยู่ในขั้นตอนประกาศโฆษณาว่าจะมีผู้คัดค้านหรือไม่ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ 2 ในยื่นคำขอ และอีก 3 ฉบับอยู่ในขั้นตอนการยื่นคำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ ที่เป็นขั้นตอนหลังจากประกาศโฆษณาแล้วไม่มีคนคัดค้าน และมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะตรวจเจอคำยื่นขอสิทธิบัตรกัญชาเพิ่มขึ้นอีกเป็นรายวัน จากการตรวจสอบคำขอทั้งหมด พบว่าการดำเนินการเป็นการขัดต่อพ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ.2522 ทั้งสิ้น โดยเฉพาะในมาตรา 5 ที่การจดสิทธิบัตรจะต้องเป็นสิ่งใหม่ หรือที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น มาตรา 9 ต้องไม่ใช่พืชหรือสารสกัดจากสัตว์หรือพืช แต่คำขอสิทธิบัตรกัญชานั้น ชัดเจนว่าไม่ใช่เป็นสิ่งใหม่ และเป็นพืชและสารสกัดจากพืช จึงไม่สามารถยื่นขอจดสิทธิบัตรได้ตามกฎหมายของประเทศไทย ดังนั้น คำขอที่ยื่นจดสิทธิบัตรเหล่านี้ควรถูกตีตกไปตั้งแต่ขั้นตอนการยื่น ไม่ควรปล่อยให้หลุดรอดเข้ามาจดถึงขั้นตอนต่อไป "เมื่อคำขอจดสิทธิบัตรเหล่านี้ขัดกฎหมายชัดเจน เท่ากับว่ากรมทรัพย์สินฯละเมิดกฎหมายและทำผิดกฎหมายของตนเอง สิ่งที่ต้องทำโดยทันทีในตอนนี้ คือ สั่งยกเลิกคำขอจดสิทธิบัตรกัญชาทั้งหมด เพราะตามมาตรา 28 กำหนดไว้ชัดเจนว่าถ้าอธิบดีพิจารณาเห็นว่าคำขอไม่ถูกต้องตามมาตรา 9 ให้อธิบดีสั่งยกคำขอรับสิทธิบัตรได้" นายวิฑูรย์ กล่าว นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้แม้แต่ผ่านขั้นตอนการประกาศโฆษณาแล้วก็ตาม มาตรา 30 กำหนดไว้อีกว่า หากพบคำขอรับสิทธิบัตรขัดมาตรา 5,9 ให้อธิบดีสั่งยกคำขอได้ รวมถึงกฎกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 22 พ.ศ.2542 ระบุไว้ชัดอีกว่าถ้าตรวจพบคำขอนั้นเป็นการประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรไม่ได้ตามมาตรา 9 อธิบดีสั่งยกคำขอได้ "อธิบดีกรมทรัพย์สินฯมีอำนาจที่จะยกเลิกคำขอได้ทันที ถ้าไม่ทำก็ถือว่าเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และรัฐบาลจะต้องร่วมรับผิดชอบ ยกตัวอย่างคำขอที่ทำไทยเสียประโยชน์ เช่น การขอสิทธิบัตรการประดิษฐ์เกี่ยวข้องกับสารสกัดกัญชาที่ใช้ในการรักษาโรคลมชัก ซึ่งไม่ถือเป็นเรื่องใหม่มีปรากฏอยู่ในตำรับยาแผนไทย หรือสารสกัดกัญชาที่อ้างรักษามะเร็ง เป็นต้น"นายวิฑูรย์กล่าว นายวิฑูรย์ กล่าวด้วยว่า ในจำนวนคำขอที่ยื่นนั้นมาจากบริษัทเดียวกันถึง 8 คำขอ เป็นลักษณะผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชา ของบริษัทสัญชาติอังกฤษ แต่การยื่นจดสิทธิบัตรในไทยอยู่ภายใต้การร่วมมือกับบริษัทประเทศญี่ปุ่น ชื่อบริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด และเคยปรากฏว่ารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเคยเดินทางไปยังบริษัทนี้ด้วย และบริษัทนี้อยู่ในโครงการรัฐบาลชื่อฟู้ดเมโทรโพลิสด้วย น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) กล่าวว่า ข้อเรียกร้องในขณะนี้ คือ 1.อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาสั่งยกเลิกคำขอจดสิทธิบัตรกัญชาทั้งหมดโดยทันที 2.องค์การเภสัชกรรม(อภ.)และมหาวิทยาลัยรังสิตฟ้องร้องกรมทรัพย์สินฯ ในฐานความผิดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และฟ้องศาลทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับการกระทำผิดพ.ร.บ.สิทธิบัตร เนื่องจากเป็นผู้เสียหายโดยตรงจากการที่กำลังจะมีผลิตภัณฑ์เรื่องนี้ออกมา รวมถึง ผู้ป่วยที่คิดว่าจำเป็นจะต้องใช้กัญชาในการรักษาเพราะถือเป็นผู้เสียประโยชน์สามารถฟ้องได้ และ3.หากไม่มีการดำเนินการใดๆ และไม่มีข้อสั่งการใดออกมาจาก รมว.พาณิชย์หรือรัฐบาล ภายใน 1 เดือนจะฟ้องสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ(ป.ป.ช.)ให้ตรวจสอบเพราะถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และในวันที่ 20 พ.ย.นี้ เครือข่ายภาคประชาชนจะขอเข้าร่วมเวทีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ที่เชิญกรมทรัพย์สินฯมาให้ข้อมูลเรื่องสิทธิบัตรกัญชาด้วย สนช. เรียก กรมทรัพย์สินทางปัญญาแจง20พย นายสมชาย แสวงการ เลขานุการกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เปิดเผยว่า สนช.ส่วนใหญ่ มีความเห็นว่า ปัจจุบันกัญชายังเป็นยาเสพติดต้องห้าม ไม่สามารถเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่ได้รับการคุ้มครองทางสิทธิบัตรตามกฎหมายได้ เป็นไปตามมาตรา 9 (5) ของ พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 ที่ระบุว่า การประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี อนามัย หรือสวัสดิภาพประชาชนจะไม่ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ. ดังนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญา จะต้องไม่รับการจดสิทธิบัตรดังกล่าวไว้ จำเป็นต้องเพิกถอนคำร้องขอยื่นจดสิทธิบัตรทันที สนช.เป็นห่วงว่า หากไม่เพิกถอนการขอจดสิทธิบัตร เกรงว่า หากต่อไป เมื่อร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่าน สนช. และมีผลบังคับใช้แล้ว จะทำให้ต่างชาติได้รับรองการจดสิทธิบัตร จะส่งผลกระทบต่อการที่หน่วยงานภาครัฐ หรือมหาวิทยาลัย ทำการวิจัยค้นคว้าทางการแพทย์ เนื่องจากต้องไปขออนุญาตจากเจ้าของสิทธิบัตรที่เป็นต่างชาติก่อน. จำเป็นต้องเชิญอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญามาชี้แจงต่อวิป สนช. ในวันที่ 20 พ.ย. ก่อนที่ สนช.จะบรรจุร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเข้าสู่การประชุม สนช.