228 ปีอริยสงฆ์แห่งรัตนโกสินทร์ “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)”

by ThaiQuote, 22 เมษายน 2559

“สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)ฯ” เป็นที่รู้จักและนับถือกันอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่ชาวไทยเท่านั้นที่นับถือในพระเดชพระคุณของท่าน แต่ยังมีชาวต่างประเทศจำนวนไม่น้อยที่ได้รู้จักท่านผ่าน “พระพิมพ์สมเด็จ”อันโด่งดัง และกลายเป็นของมีค่าระดับเอเชีย และระดับโลกไปแล้ว

“สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)ฯ” เกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (หลังสร้างกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว 7 ปี ) ตรงกับวันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก จุลศักราช 1150 เวลาพระบิณฑบาต (ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331)  ณ บ้านไก่จ้น (บ้านท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ตามประวัติซึ่งบันทึกไว้แตกต่างกันและเป็นความเชื่อของแต่ละบุคคลผ่านวิจารณญาณ และการศึกษาหาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของแต่ละคน ในส่วนของมารดาสมเด็จฯโตมีผู้กล่าวถึงประวัติของท่านในส่วนนี้แตกต่างกันไปหลายฉบับ เช่นฉบับของพระยาทิพโกษา กล่าวว่ามารดาของท่านชื่อนางงุด บุตรของนายผลกับนางลา เป็นชาวนาเมืองกำแพงเพชร  หรือฉบับของพระครูกัลยาณานุกูล (เฮง อิฎฐาจาโร) กล่าวว่า มารดาของท่านชื่อเกตุ เป็นคนท่าอิฐ อำเภอบางโพ  (แถบจังหวัดอุตรดิตถ์) หรือแม้แต่เชื่อกันว่า มารดาของท่านนั้นเป็นชาวเมืองเหนือ เพราะทุกแหล่งอ้างอิงกล่าวตรงกันว่ามารดาของท่านเป็นชาวเมืองเหนือแต่ได้ลงมาทำมาหากินแถบภาคกลางในช่วงหลัง

ซึ่งจากการศึกษาข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ในภายหลัง การเข้ามาบูรณะวัดไชโยวรวิหารของสมเด็จฯโตมีส่วนในการอ้างอิงประวัติของมารดาท่านในข้อนี้อยู่มาก โดยเฉพาะพระพิมพ์สมเด็จอันโด่งดังที่เรียกว่า “เกศไชโย” นั้นหลายทัศนะมองว่า น่าจะมาจากชื่อมารดาของท่านที่ชื่อ “เกตุ”หรือ “เกษ”

เช่นเดียวกับประวัติข้างบิดาของท่านที่กลายเป็นเรื่องราวหลากความเชื่อ  ซึ่งคงจะต้องปล่อยให้ประวัติศาสตร์เป็นผู้หาคำตอบว่าบิดาท่านตามที่พระยาทิพโกษาบันทึกไว้ว่า เป็นโอรสนอกเศวตฉัตรของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครั้งทรงพระยศเป็นเจ้าพระยาจักรี ส่วนฉบับของพระครูกัลยาณานุกูล และฉบับของตรียัมปวายกล่าวว่า  ท่านเป็นโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  (ข้อสันนิษฐานว่าด้วยบิดาและมารดาของท่านนั้นเป็นเพียงเรื่องเล่าซึ่งชาวบ้านในสมัยนั้นกล่าวและเชื่อกันโดยทั่วไป)

สมเด็จฯโตได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อพ.ศ. 2343 ต่อมาปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดและเมตตาสามเณรโตเป็นอย่างยิ่ง ครั้นอายุครบอุปสมบทปีพ.ศ. 2350 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวง อุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีฉายานามในพุทธศาสนาว่า "พฺรหฺมรํสี" (พรหมรังสี)  เนื่องจากเป็นนาคหลวงจึงเรียกว่า "พระมหาโต" มานับแต่นั้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้รับพระมหาโตไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์

อุปนิสัยและจริยวัตรของสมเด็จฯโตที่โดดเด่นที่สุด เห็นจะเป็นเรื่องของความสันโดษ และความสมถะ อีกทั้งยังมีแนวคิดอันแยบคายผ่านคำสั่งสอน และเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวบ้านผู้พบได้สัมผัส รวมถึงความเข้มขลังในวัตรปฏิบัติในสมณเพศ สมเด็จฯโตจึงเป็นที่รักและเคารพศรัทธาของประชาชนทั่วไปในสมัยนั้น จนชาวบ้านเรียกขานกันแบบภาษาง่าย ๆ ว่า “ขรัวโต”

นอกจากนี้ สมเด็จฯโตยังมีชื่อเสียงเกี่ยวกับการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม และพระพุทธรูปต่าง ๆในหลากหลายพื้นที่ รวมถึงได้สร้างวัดและสิ่งเกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธศาสนาจำนวนมาก เช่น พระพุทธไสยาสน์  วัดสะตือ  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา , พระมหาพุทธพิมพ์   วัดไชโย  จังหวัดอ่างทอง,   หลวงพ่อโต วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม ,พระโตนั่งกลางแจ้งวัดพิตเพียน  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, พระพุทธรูปยืนอุ้มบาตร  วัดกลางคลองข่อย  จังหวัดราชบุรี,  พระเจดีย์นอน วัดละครทำ ฯลฯ

จวบจนเข้าสู่สมณศักดิ์ วัตรปฏิบัติต่าง ๆก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมไปมากนัก และยังคงวัตรเช่นเมื่อครั้งยังเป็น “ขรัวโต” ตามที่ชาวบ้านเรียกขาน แม้ว่าจะอยู่ในสมณศักดิ์ระดับ “สมเด็จ”

ในปี พ.ศ. 2395 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้พระราชทานสมณศักดิ์พระมหาโตเป็นครั้งแรก เป็นพระราชาคณะที่ "พระธรรมกิติ" และดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ขณะนั้นท่านอายุ 65 ปีโดยปกติแล้วพระมหาโตมักพยายามหลีกเลี่ยงการรับพระราชทานสมณศักดิ์ แต่ด้วยเหตุผลบางประการ ทำให้ท่านต้องยอมรับพระราชทานสมณศักดิ์ในที่สุด อีก 2 ปีต่อมา (พ.ศ. 2397) ท่านจึงได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ที่ "พระเทพกระวี" หลังจากนั้นอีก 10 ปี (พ.ศ. 2407) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นสมเด็จพระราชาคณะที่ "สมเด็จพระพุฒาจารย์สมณศักดิ์ดังกล่าวนี้นับเป็นสมณศักดิ์ชั้นสูงสุด  และเป็นชั้นสุดท้ายที่ท่านได้รับตราบจนกระทั่งถึงวันมรณภาพ คนทั่วไปนิยมเรียกท่านว่า "สมเด็จฯโต" หรือ "สมเด็จวัดระฆัง"

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้มรณภาพบนศาลาเก่าวัดบางขุนพรหมใน ณ วันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิริรวมอายุได้ 84 ปี อยู่ในสมณเพศ 64 พรรษา เป็นเจ้าอาวาสครองวัดระฆังโฆสิตารามได้ 20 ปี มรดกธรรมที่ เจ้าประคุณ สมเด็จพุฒาจารย์โตได้สร้างไว้นอกจากวัดวาอารามพระพุทธรูป และพระพิมพ์อันลือชื่อแล้ว

“พระคาถาชินบัญชร” ก็เป็นอีกบทสวดอันศักดิ์สิทธิ์ ที่ทำให้ทุกคนนึกถึง “อริยสงฆ์ผู้โด่งดังแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” สมเด็จพุฒาจารย์โต พฺรหฺมรํสี หรือ “สมเด็จโต”