วันหยุดอย่าเผาเวลา! ไปเที่ยว “ล้ง 1919” เสพวัฒนธรรมจีนกว่า 100 ปี

by ThaiQuote, 13 สิงหาคม 2561

“ล้ง 1919”  คือ อดีตท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” (แปลว่า ท่าเรือกลไฟ)ก่อกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2393 โดยการก่อตั้งของพระยาพิศาล ศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) มีพื้นที่ทั้งหมดราว ๆ 6 ไร่ พร้อมพื้นที่อาคาร 6,800 ตารางเมตร  ท่าเรือกลไฟริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีบทบาทสำคัญของสยาม เป็นสถานที่เชื่อมความสัมพันธ์อันรุ่งเรือง ในช่วงยุคทองของการค้าระหว่างไทย-จีนในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งปัจจุบันนี้ตั้งอยู่ ตรงข้ามกับย่านตลาดน้อย-เยาวราช ต่อมาเมื่อท่าเรือแห่งประเทศไทยได้เข้ามามีบทบาททางการค้ากับต่างชาติมากขึ้น ท่าเรือฮวย จุ่ง ล้ง ก็ได้ลดบทบาทลง นายตัน ลิบ บ๊วย แห่งตระกูลหวั่งหลี จึงได้รับช่วงเป็นเจ้าของต่อจากตระกูลพิศาลบุตรในปี พ.ศ. 2462 และได้ปรับพื้นที่ให้กลายเป็นอาคารสำนักงานและโกดังเก็บสินค้า พร้อมทั้งเป็นที่อยู่อาศัยให้เช่าของคนงานในพื้นที่คือ โกดังของบ้านตระกูลหวั่งหลี  ต่อมาที่อยู่อาศัยและอาคารสำนักงานได้ย้ายออกพื้นที่ผืนนี้จึงเป็นโกดังร้างมาเป็นสิบๆ ปี ทางตระกูลตั้งใจปลุกอาคารที่หลับใหลมายาวนานกว่า 100 ปี ขึ้นมาอยู่กับปัจจุบัน แต่คงรูปร่าง หน้าตาดั่งเดิมไว้ จนทำให้ “ล้ง 1919” และพื้นที่สาธารณะแห่งนี้มีเสน่ห์และถูกกล่าวขวัญขึ้น สร้างความมีชีวิตชีวาใหม่ให้เกิดขึ้นกับ”ล้ง 1919” หลังจากที่ได้หลับใหลไปนาน ทุกวันนี้ “ล้ง 1919” กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทย-จีน และที่เที่ยวแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ อีกด้วย   "“ล้ง 1919”" ตั้งอยู่สุดถนนเชียงใหม่ แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพฯ โดยพื้นที่จะอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับย่านตลาดน้อย-เยาวราช การเดินทางมายัง “ล้ง 1919” หากมาทางเรือนั่นไม่ยาก ถ้านั่งเรือด่วนเจ้าพระยามาลงที่ท่าเรือสี่พระยา แล้วนั่งเรือข้ามฟากไปลงที่ท่าเรือหวั่งหลี หรือจะไปลงที่ท่าเรือสวัสดีก็ได้ - เดินทางโดยรถส่วนตัว ขัยมาบนถนนเจริญกรุง เลี้ยวเข้าถนนเชียงใหม่ (ถนนนี้อยู่ตรงข้ามสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ซอยเดียวกับวัดทองธรรมชาติวรวิหาร) ตรงเข้ามาสุดซอยจะพบที่จอดรถอยู่ทางขวามือ   - เดินทางโดย BTS ลงสถานีกรุงธนบุรี ประตูทางออกที่ 3 จากนั้นต่อรถโดยสารสาธารณะ หรือลงสถานีสะพานตากสิน ทางออกประตูที่ 2 แล้วต่อเรือโดยสารสาธารณะมาลงที่ท่าเรือสวัสดี   เมื่อเดินเข้าไปในพื้นที่อาณาจักรของ “ล้ง 1919” สิ่งแรกที่สัมผัสได้คือ เหมือนกำลังเข้าไปอยู่ในฉากหนึ่งของละครย้อนยุค ที่มีวัฒนธรรมจีนชาวโพ้นทะเลเข้ามาผสม จะเห็นถึงสถาปัตยกรรมจีนโบราณโดดเด่นด้วยจิตกรรมฝาพนังจากช่างฝีมือชาวจีนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 สิ่งที่จะเป็นจุดดึงดูดความสนใจของผู้มาเยือน และแลดูโดดเด่นเป็นตระหง่านคือสถาปัตยกรรม โดยเป็นรูปแบบงานสถาปัตยกรรมจีนที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน พื้นเป็นไม้ หลังคาสร้างจากกระเบื้อง มีลักษณะเป็นอาคารหมู่แบบซาน เหอ หยวน ซึ่งเป็นการวางผังอาคารแบบจีนโบราณ โดยจะมีอาคาร 3 หลังเชื่อมต่อกัน 3 ด้าน เป็นผังรูปทรงตัว U มีพื้นที่ว่างตรงกลาง มักใช้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์   นอกจากรูปแบบสถาปัตยกรรมแล้ว ก็ยังมีเรื่องของการออกแบบภายในที่คำนึงถึงหลักฮวงจุ้ย พร้อมทั้งมีงานจิตรกรรมฝาผนังแบบศิลปะจีนอันเก่าแก่อายุกว่า 160 ปี ที่สวยงามควรค่าแก่การอนุรักษ์   นอกจากตัวอาคารที่น่าประทับใจแล้วที่ “ล้ง 1919” ยังเป็นสถานที่ตั้งของสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่าง เจ้าแม่ทับทิม ที่พ่อค้าชาวจีน ต้องมาสักการะทั้งตอนมาถึงและก่อนออกจากเมืองไทย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ทั้งยังมีศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) ที่มีอายุมากกว่า 167 ปี ซึ่งเป็นศูนย์รวมใจของชาวจีนในแผ่นดินไทยด้วย   เนื่องจาก “ล้ง 1919” เป็นสถานที่ที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ การบูรณะใหม่ได้มีการจัดสรรพื้นที่ต่างๆ ออกเป็นส่วนๆ ดังนี้  
  1. ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) อายุมากกว่า 180 ปี สิ่งศักดิ์สิทธิ์และศูนย์รวมใจของชาวจีนในแผ่นดินไทย
  2. อาคารจัดงานอีเว้นท์ หรืองานเลี้ยงสังสรรค์ต่างๆ
  3. ลานกิจกรรมกลางแจ้ง
  4. Co-Working Space
  5. ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดีไซน์ งานฝีมือ จากศิลปินร่วมสมัยรุ่นใหม่
  6. ร้านอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำ อาทิ ร้านนายห้าง, ร้านอาหาร โรงสี, ร้านกาฟงกาแฟ ฯลฯ
  7. บริเวณที่นั่งพักผ่อนระเบียงริมแม่น้ำเจ้าพระยา
  8. ท่าเรือสัญจรทางแม่น้ำเจ้าพระยา
  9. ศิลปวัฒนธรรม อาทิ อาคารไม้สถาปัตยกรรมจีนโบราณ, ภาพจิตรกรรมฝาผนังจากปลายพู่กันจีน
10.ท่าเรือหวั่งหลี ซึ่งเป็นท่าเรือส่วนบุคคลสำหรับเดินทางทางน้ำมายัง ““ล้ง 1919”” โดยเฉพาะ   ว่างๆ วันหยุดวันเดียว พาเพื่อน พาครอบครัว ไปสัมผัสอารยธรรมจีนที่ผ่านกาลเวลากว่า 100 ปี ที่ตระกูลหวั่งหลีได้รังสรรค์ใหม่เพื่อให้คนไทยยุคใหม่ได้สัมผัส และเสพศิลปะต่างๆ ผ่านสถาปัตยกรรม ภาพจิตรกรรมฝาผนังจากปลายพู่กันจีน และศิลปวัฒนธรรมจีนโบราณที่หาดูยากเติมที