โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครฯ คืบหน้า แก้ปัญหาน้ำท่วมยั่งยืน

by ThaiQuote, 28 มิถุนายน 2563

คณะอนุกรรมาธิการฯ บริหารจัดการกลุ่มลุ่มน้ำภาคใต้ ลงพื้นที่ศึกษาดูงานโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

วันที่ 27 มิ.ย.63 นายสาคร เกี่ยวข้อง ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการ กลุ่มลุ่มน้ำภาคใต้ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะ ได้เดินทางมาติดตามการดำเนินงานบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และรับทราบปัญหาอุปสรรคของโครงการต่าง ๆ ที่กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินงาน โดยมีนายถาวรวัฒน์ คงแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วยหน่วยงานในสังกัดกรมชลประทานร่วมให้การต้อนรับ

โดยคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มลุ่มน้ำภาคใต้ ได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่บริเวณหัวงานการก่อสร้างประตูรายบายน้ำคลองท่าเรือ-หัวตรุด ที่ กม.9+200 ต.ท่าเรือ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช


โดยรับฟังบรรยายสรุปความคืบหน้าของโครงการจากนายธเนศ ดิษฐปัญญา ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 10 และนายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน ซึ่งปัจจุบันการดำเนินโครงการมีความคืบหน้าไปแล้ว 11.4 %

สำหรับโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชดำริแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในตัวจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ต้องประสบกับปัญหาอุทกภัยเมื่อปี 2531 โดยได้พระราชทาน พระราชดำริ ว่า สมควรพิจารณาขุดลอกลำคลอง พร้อมทั้งขุดทางระบายน้ำเพิ่ม เพื่อช่วยระบายน้ำ ลงสู่อ่าวไทยให้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ดังนั้น เพื่อต้องการสืบสาน รักษาและต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ช่วยแก้ปัญหาอุทกภัย ใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร และอุปโภค-บริโภคในฤดูแล้ง รวมทั้งป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็ม รัฐบาลจึงได้อนุมัติงบประมาณ 9,580 ล้านบาท ในการดำเนินโครงการ

โดยจะมีการขุดคลองผันน้ำเลี่ยงเมืองระบายน้ำใหม่ จำนวน 3 สาย รวมระยะทาง 18.64 กิโลเมตรพร้อมก่อสร้างประตูระบายน้ำ 7 แห่ง และขุดขยายคลองเดิม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ 2 สาย สามารถระบายน้ำได้ 750 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และกักเก็บน้ำได้ประมาณ 5 ล้าน 5 แสนลูกบาศก์เมตร ระยะเวลาก่อสร้าง 6 ปี ระหว่างปี 2561 – 2566

ซึ่งหากโครงการแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ บรรเทาอุทกภัยในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช และพื้นที่ใกล้เคียง ได้ประมาณร้อยละ 90 มีครัวเรือนได้รับประโยชน์กว่า 32,000 ครัวเรือน และมีพื้นที่การเกษตรได้รับผลประโยชน์ 17,400 ไร่

ต่อจากนั้นคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้เดินทางไปศึกษาดูงานคลองชะอวด-แพรกเมือง ที่บริเวณสถานีควบคุมไฟป่าพรุควนเคร็ง ศาลหลวงต้นไทร ต.การะเกด อ.เชียรใหญ่ และศึกษาดูงานอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใส อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช และ อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง

 


ข่าวที่น่าสนใจ

สว.เฮ! ประกันสังคมให้ผู้สูงวัย อายุ 60-65 ปี ประกันตนมาตรา 40 ได้

2 เพจดังซัดกันนัว “แหม่มโพธิ์ดำ” ปะทะ “The METTAD” ปมแมสก์ บอย-พันธ์ยศ