แก้ปัญหาน้ำสไตล์รัฐบาล 'เก็บน้ำฝนลงใต้ดิน' กระจายน้ำให้สมดุล ยั่งยืน

by ThaiQuote, 15 กรกฎาคม 2563

พาส่องวิธีการพาน้ำลงใต้ดิน โครงการของรัฐบาลที่จะช่วยให้เกษตรกรมีน้ำใช้ ไม่ต้องเจอภัยแล้ง แต่เขาทำกันแบบไหน ทำกันอย่างไร เราเขียนไว้ให้คุณ

 

หมวกอีกใบที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐสวมอยู่ มีชื่อเรียกว่า "ผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ" หน้าที่ใหญ่ในรัฐบาลทีเดียวที่แต่งตั้งให้พล.อ.ประวิตร มาแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำในภาคเกษตรของไทย

มันสมองของรัฐบาลถูกระดมมาเพื่อการณ์นี้ ผนึกกันเข้ากับหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบคือกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และทำคลอดโครงการออกมาที่มีชื่อว่า "โครงการเติมน้ำใต้ดิน" ที่เป้าหมายคือการเติมน้ำจากธรรมชาติหรือน้ำฝน เข้าสู่เส้นทางที่โยงใยให้น้ำลงไปใต้ดิน ไปยังจุดที่ต้องการให้เกษตรกรใช้น้ำ เพื่อให้การเกษตรที่ดำเนินการอยู่มีน้ำพอใช้สำหรับการเพาะปลูก

ก่อนที่ข้อสั่งการจะลงไปยังผู้น้ำท้องถิ่นให้พาประชาชนในพื้นที่จัดการ เพื่อเลิกเสียทีกับการเจอปัญหาน้ำท่วมขังในทุกปี และน้ำที่ท่วมขังก็เสียไปเพราะไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อย่างที่ควรเป็น และยังทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหายไปด้วย

พลันเช้าวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 ก็ถึงเวลาเช็กงานในโครงการเติมน้ำใต้ดิน พล.อ.ประวิตร ไปตรวจการดำเนินงานใน 2 จุด คือ ตำบลหนองกุลา อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก และตำบลท่าช้าง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดเดียวกัน

แต่รู้กันบ้างหรือเปล่า ว่า "โครงการเติมน้ำใต้ดิน" ของรัฐบาล เขาทำกันอย่างไร

ในพื้นที่ตำบลหนองกุลา อ.บางระกำ ที่พล.อ.ประวิตรไปเจอมา อบต.หนองกุลาใช้บ่อวงคอนกรีต 500 บ่อ เพื่อรองรับน้ำฝนที่จะตกลงมาตามฤดูกาลไปยังใต้ดิน โดยผ่านระบบบ่อคอนกรีตที่วางเอาไว้ เพื่อบังคับทิศทางน้ำให้ไปยังพื้นที่ที่เกษตรกรต้องการใช้น้ำเพื่อเพาะปลูก

ส่วนในพื้นที่ ตำบลท่าช้าง อำเภอพรหมพิราม เขาใช้วิธีการให้น้ำผ่านท่อระบายน้ำคลองแยงมุมของกรมชลประทาน ซึ่งมีความสำคัญทำหน้าที่รับน้ำจากคลองสายหลัก (คลองเมน) เข้าสู่คลองแยงมุม ความยาว 2 กิโลเมตรไปเชื่อมโยงกับคลองอีก 5 สาย ซึ่งทำหน้าที่ส่งน้ำ เพื่อการเพาะปลูกหล่อเลี้ยงพื้นที่นากว่า16,900 ไร่ (ข้อมูลจาก วาสนา นาน่วม)

แต่ในเงื่อนไขนี้ จะต้องพึ่งพา "ฝน" ที่จะต้องตกลงมาเช่นกันเพื่อให้น้ำไปสู่ใต้ดินตามที่รัฐบาลต้องการ แต่หากทำได้ ก็จะเกิดเป็นรอยยิ้มของเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำของแม่น้ำยม และแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะพวกเขาจะมีโอกาสปลูกข้าวและเก็บเกี่ยวให้ทันก่อนฤดูน้ำหลาก และเมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จ ยามน้ำหลากมาถึงก็จะเป็นการตัดตอนน้ำอีกชั้นหนึ่งเพื่อไม่ให้เข้าไปท่วมเมืองได้อีกทาง

โมเดลนี้คือการยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว ทั้งเกษตรกรมีน้ำ และเมืองไม่ต้องมีน้ำ (ที่ไม่จำเป็น)

"การเติมน้ำใต้ดินนั้นทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับว่าพื้นที่เป็นแบบไหน ก็ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานท้องถิ่น ผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยกันดูแล ควบคุมการเติมน้ำใต้ดินให้เป็นไปตามหลักวิชาการ ขอให้ประชาชนในพื้นที่ช่วยกันดูแล ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ไม่ว่าจน้ำผิวดิน น้ำบาดาล ก็ต้องใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด" พล.อ.ประวิตร กล่าวเอาไว้

 

ข่าวที่น่าสนใจ