ครป. เสนอ 12 ข้อแก้รัฐธรรมนูญ ปลดชนวนวิกฤตการเมือง

by ThaiQuote, 14 สิงหาคม 2563

ครป. แถลงการณ์ เสนอ 12 ข้อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 60 คืนเสรีภาพให้ประชาชน กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ปิดทาง สว.เลือกนายกฯ

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (14 ส.ค.63) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แถลงการณ์ ข้อเสนอของ ครป. ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 เพื่อปลดชนวนวิกฤตทางการเมือง ระบุว่า

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่มีอัตลักษณ์แบบอำนาจนิยม ซึ่งจำกัดสิทธิและเสรีภาพของ ประชาชน ขณะที่มอบสิทธิและอำนาจแก่กลุ่มชนชั้นสูงในสังคมอย่างมหาศาล ลักษณะเช่นนี้ทำให้รัฐธรรมนูญมีศักยภาพในการสร้างความขัดแย้งที่รุนแรงทางการเมืองอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันความขัดแย้งจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) จึงขอเสนอแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 12 ประเด็นหลักดังนี้

1.ยกเลิกบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั้งหมด เพื่อให้เกิดกระบวนการสรรหา ส.ว.ใหม่ตามบทบัญญัติหลักของรัฐธรรมนูญ
2.ยกเลิกบทเฉพาะกาลมาตรา 272 เพื่อให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีเกิดขึ้นในสภาผู้แทนราษฎร ตามบทบัญญัติหลักในมาตรา 159

3.แก้ไขบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยให้ประชาชนสามารถสมัคร ส.ส. ได้อย่างเป็นอิสระ ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองและให้แยกการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบเขตเลือกตั้งให้ออกจากกัน โดยในการเลือกตั้งประชาชนจะใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ สำหรับเลือก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และ ส.ส.แบบแบ่งเขต ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีอิสระภาพในการเลือกตั้งมากขึ้น

4.แก้ไขมาตรา 249 เพื่อขยายการกระจายอำนาจการปกครองแก่ประชาชนในท้องถิ่นให้มากขึ้น โดยเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งจังหวัดจัดการตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชน กำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารระดับจังหวัดโดยตรงจากประชาชน และถ่ายโอนราชการภูมิภาคให้กับจังหวัดที่มีการเลือกตั้งผู้บริหารจังหวัดทันที รวมทั้งจัดตั้ง “สภาพลเมือง” (ส.ม.) ขึ้นมาเป็นสภาคู่ขนานกับสภาท้องถิ่น เพื่อร่วมตัดสินใจในโครงการที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของประชาชนในท้องถิ่นนั้น และมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นด้วย

5.ยกเลิกมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ และให้บรรจุเรื่องการจัดทำประชามติโครงการขนาดใหญ่ของรัฐเข้าไปแทน

6.แก้ไขบทบัญญัติที่ว่าด้วยองค์กรอิสระทั้งหมด โดยให้คณะกรรมการสรรหาและการให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะเป็นกรรมการในองค์กรอิสระต้องยึดโยงกับประชาชนผ่านกลไกรัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตย ยกเลิกการตั้งเงื่อนไขคุณสมบัติว่าต้องเป็นข้าราชการระดับสูงหรือเรียนจบปริญญาตรี และลดวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการองค์กรอิสระให้เหลือ 5 ปี

7.หมวดการปฏิรูปประเทศ ควรแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการปฏิรูประบบการศึกษา โดยให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการการศึกษาระดับชาติ (คศช.) เป็นองค์กรอิสระที่ปลอดจากการเมืองและมีวาระ 7 ปี กำหนดให้มีการจัดการศึกษาฟรีแก่เด็กตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมปลายและอาชีวะศึกษาตอนต้น พร้อมทั้งส่งเสริมการศึกษาทางเลือกและการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง

8.ควรเพิ่มเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างพลังงานและทรัพยากรในหมวดการปฏิรูปประเทศ โดยมีการระบุในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่า พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติเป็นของประชาชนไทย ในการดำเนินนโยบายและยุทธศาสตร์พลังงานและทรัพยากรทั้งดิน น้ำ ป่า จะต้องมี “คณะกรรมการระดับชาติด้านพลังงานและทรัพยากรที่เป็นอิสระจากการเมือง” ซึ่งมาจากการสรรหาและกำหนดสัดส่วนให้ภาคประชาชนเข้าไปเป็นกรรมการไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง

9.ควรเพิ่มเรื่อง “รัฐพึงป้องกันและปราบปรามการผูกขาดทางเศรษฐกิจและสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ” ในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ

10.ในหมวดสิทธิและเสรีภาพปวงชนชาวไทย ควรเพิ่มเรื่องสิทธิชุมชนท้องถิ่นในการปกป้องและรักษาชุมชนจากการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ สิทธิแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประชาชนทั้งในแง่ชาติพันธุ์และความหลากหลายทางเพศ สิทธิในการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย สิทธิในการได้รับสวัสดิการสังคมอย่างเพียงพอและทั่วถึง และสิทธิในการดำรงชีวิตที่ปลอดจากความรุนแรง

11.แก้ไขมาตร 256 ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้โดยการใช้เสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภา เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความยืดหยุ่น สามารถแก้ไขได้ง่ายขึ้นและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม

12.แก้ไขโดยเพิ่มหมวดที่ว่าด้วย “การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่” ขึ้นมา ซึ่งกำหนดโครงสร้างระบบและกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำโดยใช้การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาทำหน้าที่ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 1 ปี ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความชอบธรรมและได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนในสังคม ซึ่งจะช่วยป้องกันความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้

 

ข่าวที่น่าสนใจ

จุฬาฯ ไม่ให้ชุมนุม หวั่นเหตุการณ์ขยายวงกว้าง – นิสิตจะไม่ปลอดภัย