โมเดล บำบัดน้ำเสีย นำร่องเศรษฐกิจหมุนเวียน อัพเกรดอุตฯไทย

by ESGuniverse, 29 มีนาคม 2567

 ไทยยูเนี่ยน ผนึก บพข. คิดค้นนวัตกรรมเปลี่ยนน้ำเสียไม่ทิ้ง เป็นน้ำดีบริสุทธิ์ ไทยยูเนี่ยน โรงงานต้นแบบถ่ายทอดเทคโนโลยี สู่ผู้ประกอบการไทยใช้น้ำอย่างรู้ค่า ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน

 

ในทุก ๆ อุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารมีการใช้น้ำมากกว่าที่พวกเราคิด มีสัดส่วนมากกว่า 22% ของการใช้น้ำในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป หรือราว ๆ สระว่ายน้ำโอลิมปิกเลยทีเดียว

จะดีแค่ไหน หากภายในอุตสาหกรรมจะสามารถนำน้ำเหล่านั้นกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่แค่เรื่องประหยัดต้นทุน แต่ยังรวมไปถึงการไม่ปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำ ช่วยปกป้องมลพิษ ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมโดยรอบโรงงาน ทำให้อยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข ธุรกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

นวัตกรรม บำบัดน้ำทิ้งเป็นศูนย์ ฝีมือคนไทย 

จึงเกิดแนวคิดโครงการ “การพัฒนาต้นแบบระบบบำบัดน้ำทิ้งเป็นศูนย์” เพื่อเรียนรู้ระบบการบำบัดน้ำ และมีการหมุนเวียนน้ำทิ้งนำกลับมาใช้ประโยชน์

การปล่อยน้ำจากอุตสาหกรรมอาหารเป็นศูนย์ ใช้งบวิจัยและพัฒนา (R&D) รวม 12 ล้านบาท โดยความร่วมมือระหว่าง การให้ทุนผ่านแผนงานเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มูลค่า 3.6 ล้านบาท และ ไทยยูเนี่ยนมูลค่า 8.4 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030

การ”บำบัดน้ำเสีย” ถือเป็นการสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ เป็นการนำน้ำเสียมาใช้ใหม่ให้เกิดมูลค่า ผ่าน “โครงการลดการปล่อยน้ำทิ้งสู่สาธารณะเป็นศูนย์” มีรูปแบบการบริหารจัดการที่ตั้งแต่น้ำต้นทางตลอดจนกระบวนการผลิต

จนไปปรับปรุงคุณภาพน้ำให้เทียบเท่าและใช้แทนน้ำประปาได้ นำกลับเข้ามาใช้ในระบบทุกหยด จึงไม่มีน้ำเสียปล่อยลงสู่แหล่งนเ้ำ สามารถบริหารจัดการน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตจากวันละ 7 ล้านลิตร ปัจจุบันใช้น้ำเพียงวันละ 4 ล้านลิตร ซึ่งส่งผลให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ถึงปีละประมาณ 27.8 ล้านบาท

ศูนย์เรียนรู้ บำบัดน้ำ ตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน

รศ. ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. เปิดเผยเกี่ยวกับโครงการว่า ถือการตอบโจทย์ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE) มุ่งเน้นการขับเคลื่อนประเทศไทยให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำที่เติบโตขึ้นจากการใช้นวัตกรรมการผลิตที่สะอาด ลดการใช้ทรัพยากร เพิ่มการหมุนเวียนวัสดุ และเพิ่มคุณค่าการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

โครงการนี้เป็นตัวอย่างของการนำนวัตกรรม มาใช้ และสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยี และองค์ความรู้ให้กับให้ผู้ประกอบการทุกระดับ ภายในประเทศให้มีขีดความสามารถการแข่งขัน

ภายหลังจากมีการทดลองพัฒนาบำบัดน้ำเสียจนสำเร็จไม่ปล่อยน้ำทิ้ง จึงมีการตั้ง “ศูนย์เรียนรู้ระบบการบำบัดน้ำเพื่อการหมุนเวียนน้ำทิ้งนำกลับมาใช้ประโยชน์ การทิ้งน้ำเป็นศูนย์” ไทยยูเนี่ยนเป็นโรงงานต้นแบบในการติดตั้งและดำเนินการโดยวิศวกรคนไทยที่สร้างมาตรฐานด้านการบริหารจัดการน้ำทิ้งในระบบได้สำเร็จเป็นรูปธรรม 100% ที่จะเข้าไปช่วยพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ตรงตามเจตนารมณ์และภารกิจของ บพข. ในการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงสร้างความร่วมมือ และร่วมลงทุนในการวิจัยและนวัตกรรมให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้จริง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

สำหรับปีงบประมาณ 2567 นี้ บพข. มีได้มีการจัดสรรเงินทุนเพื่อสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านความยั่งยืน ไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นไปที่การขับเคลื่อนในแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน และแผนงานกลุ่มพลังงาน เคมีและวัสดุชีวภาพ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการนําขยะหรือของเสียจากภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศมาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นวัตถุดิบทดแทนหรือนํามาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้น

รวมถึงส่งเสริมให้มีการพัฒนาพลังงานทดแทน การผลิตพลังงานสะอาด เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ เท่ากับ 30 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) มุ่งเพิ่ม 3% ของ GDP และลดการใช้ทรัพยากร 1 ใน 3 ภายในปี 2573 มุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศไทยภายในปี 2593 ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมภายในประเทศต่อไป

ไทยยูเนียน ต้นแบบ แบ่งปันองค์ความรู้ Seachange เปลี่ยนน้ำเสียเป็นน้ำดี สู่ ผู้ประกอบไทย

อดัม เบรนนัน ผู้อำนวยการกลุ่มด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการลดการปล่อยน้ำทิ้งสู่สาธารณะเป็นศูนย์ (Zero Wastewater Discharge) ภายใต้โครงการวิจัย “การพัฒนาต้นแบบระบบบำบัดน้ำทิ้งเป็นศูนย์ เกิดศูนย์การเรียนรู้ระบบการบำบัดน้ำเพื่อการหมุนเวียนน้ำทิ้งนำกลับมาใช้ประโยชน์การทิ้งน้ำเป็นศูนย์ในอุตสาหกรรมอาหาร”

โดยสานต่อเป้าหมายโครงการ SeaChange® หรือกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ซึ่งปลูกฝังเรื่องความยั่งยืนไว้ในทุกแง่มุมของการดำเนินงาน

SeaChange® ได้มีการพัฒนารูปแบบความยั่งยืนขึ้นภายใต้เป้าหมายอันมุ่งมั่น 11 ประการที่เชื่อมโยงถึงกัน ลดของเสียฝังกลบเป็นศูนย์ และลดการสูญเสียอาหารเป็นศูนย์ ณ โรงงานหลักของไทยยูเนี่ยน 5 แห่ง ให้สำเร็จ 100% ภายในปี 2573

พร้อมพัฒนาบริษัทฯอย่างต่อเนื่อง เดินหน้าสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่ยั่งยืนด้วยโครงการลดการปล่อยน้ำทิ้งสู่สาธารณะเป็นศูนย์ (Zero Wastewater Discharge) ไม่เพียงแต่จะเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ด้านความยั่งยืนด้วยระบบปฏิบัติการของบริษัทฯ แต่ยังสะท้อนถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและแนวทางปฏิบัติของอุตสาหกรรม ด้วยการขยายผลไปยังโรงงานอื่นๆภายในเครือ เช่น โรงงานในจังหวัดสงขลา และโรงงานของบริษัท อินเดียน โอเชียนทูน่า จำกัด หรือ IOT ผลิตปลาทูน่ากระป๋องที่ประเทศ Seashelles แอฟริกา

 

วิศวกรไทย ถอดสูตรน้ำดี จาก ของเสียอุตฯอาหาร

สำหรับแนวทางการดำเนินงานระบบบำบัดน้ำทิ้งให้เป็นศูนย์ของไทยยูเนี่ยน คือการใช้ระบบบริหารจัดการที่ต้นทางทั้งในส่วนวิศวกรรมและกระบวนการผลิตพร้อมปรับปรุงคุณภาพน้ำให้เทียบเท่าและใช้แทนน้ำประปาได้ เริ่มตั้งแต่การดูแลให้เกิดของเสียน้อยที่สุดก่อนนำมาบำบัด ด้วยการแยกเลือดปลาและน้ำนึ่งปลาจนสามารถลดไขมันและเลือดปลาที่ปะปนมาในน้ำทิ้งให้น้อยลงได้ และใช้การกรองโดยระบบ Ultra Filtration (UF) จากนั้นนำไปผ่านระบบ Reverse Osmosis (RO) เพื่อให้ได้น้ำสะอาดกลับออกมาเป็นน้ำใช้ในระบบทำความเย็นของโรงงานที่ต้องการคุณภาพน้ำสะอาดที่มากกว่าน้ำทั่วไป

ส่วนน้ำทิ้งจากกระบวนการ RO ที่ยังมีคุณภาพน้ำที่ดีจะถูกนำไปล้างพื้น ทำความสะอาดรถบรรทุกหรือล้อรถบรรทุก โดยน้ำที่ถูกนำไปใช้ทำความสะอาดเสร็จแล้วจะถูกหมุนเวียนกลับเข้าระบบ UF และ RO ไปเรื่อย ๆ เพื่อไม่ให้เหลือทิ้งออกสู่ภายนอก

โครงการนำร่อง Zero Wastewater Discharge ของไทยยูเนี่ยน ตั้งอยู่ ณ โรงงานไทยยูเนี่ยน สำนักงานใหญ่ จังหวัดสมุทรสาคร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 155,000 ตารางเมตร เริ่มทดลองระบบมาตั้งแต่ปลายปี 2566 โดยสามารถบริหารจัดการน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตจากวันละ 7 ล้านลิตร ปัจจุบันไทยยูเนี่ยนใช้น้ำเพียงวันละ 4 ล้านลิตรเท่านั้น ส่งผลให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ถึงปีละประมาณ 27.8 ล้านบาท

 นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า โครงการลดการปล่อยน้ำทิ้งสู่สาธารณะเป็นศูนย์ ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของกระทรวง อว. โดยท่านรัฐมนตรีศุภมาส อิศรภักดี ที่มุ่งขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมโดยเน้นประเด็นสำคัญของประเทศ ได้แก่ การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Go Green) ความพอเพียงและความยั่งยืน (Sustainability) ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) พลังงานสะอาด เศรษฐกิจชีวภาพ และตามนโยบายของรัฐบาล ในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ (Sustainable Development Goals: SDGs) ในปี 2573

นอกจากนี้ บพข. และไทยยูเนี่ยน ยังขยายความร่วมมือ เพิ่มเติมเกี่ยวข้องกับการต่อยอดสู่เศรษฐกิจเทคโนโลยีชีวภาพ (Bioeconomy) ได้แก่ โครงการความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องดื่ม และสารสำคัญเชิงหน้าที่มูลค่าสูงจากน้ำมันปลาทูน่า กว่า 4 โครงการ ที่ประสบความสำเร็จเตรียมออกสู่ตลาด และยังมีโครงการแพลตฟอร์มเพื่อการผลิตและวิเคราะห์เปปไทด์ออกฤทธิ์ทางชีวภาพในผลิตภัณฑ์อาหาร และอาหารเสริมสัตว์ เป็นต้น