CIMB Thai ปั้นซิกเนเจอร์ชุมชน ‘ตะเคียนเตี้ย’ มรดกคู่สวนป่ามะพร้าวสุดท้ายชลบุรี

by ESGuniverse, 2 เมษายน 2567

ซีไอเอ็มบี ไทย จับมือ ท็อปเชฟไทยแลนด์ เทรนเนอร์ เชฟชุมชน คิดค้นขนมสูตรใหม่ซิกเนเจอร์ประจำชุมชน ตะเคียนเตี้ย จ.ชลบุรีมอบเป็นมรดก ต่อยอดวิสาหกิจท่องเที่ยวยั่งยืน

 

ชลบุรี พัฒนาไปไกลมาก จนเป็นชุมขนเมืองที่เต็มไปด้วยแหล่งอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัยของคนต่างถิ่น และเมืองท่องเที่ยวตากอากาศทะเลแสนสวยที่แทบจะไม่เห็นสวนมะพร้าว ชุมชนตะเคียนเตี้ย เป็นชุมชนเล็กๆ เพียงไม่กี่แห่ง ที่ยังคงเก็บรักษาวิถีชีวิต อัตลักษณ์ประเพณีท้องถิ่น รวมถึง “สวนป่ามะพร้าวแห่งสุดท้าย” ของชลบุรี

เสน่ห์ของเหลือน้อยที่มีเพียงไม่กี่แห่งในจังหวัด กลับเป็นภูมิปัญญาทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง รักษาผืนป่ามะพร้าวให้ลูกหลานได้สืบทอด ป่ามะพร้าวสร้างเศรษฐกิจ สร้างอาชีพ ส่วนประกอบของมะพร้าวทุกส่วนสร้างรายได้ให้ชุมชน

นางสาวณัฐณี เกษมรัฐกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สื่อสารองค์กร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ ชุมชนตะเคียนเตี้ย อ.บางละมุง สวนป่ามะพร้าวแห่งสุดท้ายของชลบุรี พบว่าชุมชนนี้มีความเข้มแข็ง รักษาผืนป่ามะพร้าวให้ลูกหลานได้สืบทอด ป่ามะพร้าวสร้างเศรษฐกิจ สร้างอาชีพ ส่วนประกอบของมะพร้าวทุกส่วนสร้างรายได้ให้ชุมชน อาทิ กาแฟมะพร้าว และแกงไก่กะลา เมนูอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น ตลอดจนผ้ามัดย้อมจากกะลามะพร้าว ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวให้เรียนรู้วิถีชุมชนอีกด้วย

“เราเล็งเห็นถึงศักยภาพของชุมชนนี้ ด้วยบุคลากรคุณภาพ ความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน และวัตถุดิบประจำท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ ธนาคารจึงเชิญเชฟบีม-ภวินวัชร์ ท็อปเชฟขนมหวานคนแรกของไทย มารังสรรค์ขนมหวานที่มีอัตลักษณ์ประจำชุมชนซึ่งผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ากับความสมัยใหม่ จนเกิดเป็นเมนูใหม่ชื่อ ‘เครปมะพร้าวตะเคียนเตี้ย’ โดยได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ให้กับเชฟชุมชน และนักเรียน โดยซีไอเอ็มบี ไทย และเชฟบีม ได้ทำพิธีส่งมอบสูตรขนมหวานให้ชุมชนนำไปต่อยอดธุรกิจ สร้างรายได้ให้ชุมชนได้ในระยะยาว ซึ่งสอดคล้องกับจุดยืน CSR บนความยั่งยืนของเรา” นางณัฐณี กล่าว

เชฟบีมชู “มะพร้าว” เป็นจุดเด่นของวัตถุดิบประจำชุมชน

นายภวินวัชร์ โชคเศรษฐปวินท์ หรือ เชฟบีม ท็อปเชฟไทยแลนด์ขนมหวานคนแรกของไทย กล่าวว่า ที่มาของเมนูนี้ คือ การพยายามชูจุดเด่นของวัตถุดิบประจำชุมชน จึงใช้มะพร้าวเป็นตัวชูโรง และจากการที่ไทยได้รับการยกย่องเป็นเครปอันดับ 4 ของโลก จึงเลือกเมนูเครปซึ่งสามารถทำได้โดยใช้อุปกรณ์ครัวที่ชุมชนมีอยู่ ไม่ต้องซื้อเตาอบใหม่ โดยเมนูเครปจะใช้แป้งข้าวเจ้าเป็นส่วนผสมของเนื้อเครปนุ่มละมุน สอดใส้ด้วยครีมที่ทำจากมะพร้าวผสมเนื้อมะพร้าวอ่อน จึงเป็นที่มาของ แป้งม้วนใบเตยมะพร้าวอ่อนครีมสด หรือเรียกสั้นๆ ว่า เครปมะพร้าวตะเคียนเตี้ย รู้สึกภูมิใจที่ได้ใช้ประสบการณ์จากสายอาชีพนี้ สร้างเมนูใหม่ แบ่งปันเทคนิคให้เชฟชุมชนและน้องๆ นักเรียนนำไปใช้ต่อยอดในอนาคต

นางวันดี ประกอบธรรม ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวตำบลตะเคียนเตี้ย กล่าวว่า กลุ่มชาวบ้านดีใจกันมาก ที่ได้เมนูใหม่ เพราะที่ผ่านมาทำแต่ขนมเมนูเดิมๆ อย่างขนมต้ม ถั่วแปบ เมนูเครปเป็นสูตรเด็ด ผลิตจากมะพร้าวที่พวกเรามี ชิมแล้วชอบ มีหลายคนเห็นโอกาสอยากทำขายในตลาดนัด กำลังฝึกให้คุ้นมือ มาเติมเต็มเมนูซิกเนเจอร์อย่างแกงไก่กะลา ทางชุมชนขอขอบคุณธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ที่เชิญเชฟบีม มาให้ความรู้ที่ตรงกับความต้องการของคนในพื้นที่

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เห็นถึงศักยภาพของชุมชนตะเคียนเตี้ย อ.บางละมุง ซึ่งเป็นสวนป่ามะพร้าวแห่งสุดท้ายของชลบุรี สามารถนำไปต่อยอดสร้างรายได้ สร้างอาชีพ เติมเต็มเมนูซิกเนเจอร์อย่างแกงไก่กะลา กาแฟมะพร้าว ผ้ามัดย้อมจากกะลามะพร้าว และเพิ่มความน่าสนใจในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีชุมชนอีกด้วย

"คอมมูนิตี้ ลิงค์" (Community Link) สร้างสรรค์โครงการดี
คืนกลับสู่สังคมไทย ด้วยเงินทุนและศักยภาพระดับอาเซียน

ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยและเป็นสมาชิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ร่วมกับมูลนิธิซีไอเอ็มบี (CIMB Foundation) เปิดตัวโครงการ "คอมมิวนิตี้ ลิงค์" (Community Link) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือและพัฒนาชุมชน รวมถึงผู้ด้อยโอกาสในสังคมอย่างยั่งยืน โดยมีแนวคิดหลักคือ สาขาต่างๆ ทั่วประเทศจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด ด้วยการร่วมมือกับองค์กรส่วนท้องถิ่นและองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรในการสร้างสรรค์โครงการที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่นั้นๆ อย่างแท้จริง ธนาคารได้ประสานความร่วมมือทั้งจากส่วนลูกค้า ผู้บริหาร สื่อมวลชน และพันธมิตรของธนาคาร รวมถึงริเริ่มและต่อยอดโครงการด้วยความรู้ความเข้าใจในชุมชนอย่างแท้จริง โดยการพัฒนานั้นดำเนินไปด้วยเงินทุนและศักยภาพระดับอาเซียน

ปัจจุบัน โครงการ "คอมมิวนิตี้ ลิงค์” นี้ มุ่งเน้นการดำเนินโครงการที่ครอบคลุม 3 ด้านหลัก อันได้แก่ การพัฒนาด้านสังคม การพัฒนาด้านกีฬา และการพัฒนาด้านการศึกษา โดยธนาคารได้ดำเนินโครงการภายใต้แนวคิดดังกล่าวอย่างต่อเนื่องด้วยโมเดลการดำเนินโครงการระดับภูมิภาค