กทม.เปิด 10 จุดกดน้ำฟรี ตามรอยเมืองน่าอยู่ น้ำสะอาดพื้นฐานยั่งยืน จุดเริ่มลด ละ เลิกพลาสติก

by ESGuniverse, 26 เมษายน 2567

กทม. ติดตั้งตู้น้ำดื่ม ลดขยะขวดพลาสติกทั่วกรุงเทพฯ สนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัยและราคาไม่แพงสําหรับทุกคนในระดับสากลและเท่าเทียมกัน

 

 

น้ำประปาสะอาดดื่มได้เป็นสิทธิ์ในการเข้าขั้นพื้นฐานของมนุษยชน ในการเข้าถึงทรัพยากร เพื่อที่แสดงถึงการก้าวสู่โครงสร้างการพัฒนายั่งยืน ทั้งการต่อท่อตรงไปสู่ในทุกบ้าน หรือน้ำดื่มที่พื้นที่สาสามารถดื่มได้ เป็นการสะท้อนถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร เพราะลดค่าใช้จ่ายต้นทุนการเข้าถึงน้ำในท้องถิ่นได้โดยตรง โดยไม่ต้องขนส่งผ่านน้ำขวด ที่ทั่งเพิ่มคาร์บอน และเพิ่มมลพิษจากระบวนการผลิต

 

ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นการสะสมขยะพลาสติกจากขวดที่ต้องใช้เวลานับร้อยปีในการย่อยสลาย ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การสร้างขยะสะสมล้นในโลกในไปค้างลงสู่มหาสมุทร และยังดีต่อสุขภาพในระยะยาว กับการดื่มน้ำบริสุทธิ์จากธรรมชาติ แทนผ่านเครื่องกรองน้ำในหลายชั้น และผ่านขวดดื่มพลาสติก แบบใช้ครั้งเดียว ที่สำคัญ น้ำดื่มที่บริโภคจากท่อน้ำที่ต่อตรงจากธรรมชาติโดยตรง จะปลอดภัย และมีคุณภาพมากกว่า

 

หลายคนเมื่อเดินทางไปในประเทศที่พัฒนาแล้ว มักจะตั้งคำถามในเมืองไทยทำไมเรายังต้องซื้อน้ำขวด หรือเครื่องกรองน้ำเพื่อดื่มกินกันอยู่
ในสังคมเมือง ที่เมื่อประเทศเราพัฒนามากขึ้น การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจดีขึ้น แต่เรากลับบริโภคน้ำดื่มจากขวดพลาสติกกันในปริมาณที่มาก ยากมากในการหาน้ำดื่มสะอาดบริการตั้งตามจุดต่าง ๆ ให้เรา หากเทียบกับในอดีต ที่หน้าบ้านในสมัยก่อน ต่างล้วนมีตุ่มน้ำหน้าบ้านบริการให้คนผ่านไปมาได้ดื่มฟรี

 

บทความจากTappwater.com ระบุถึงการขาดแคลนน้ำและการพัฒนายั่งยืน การขาดแคลนน้ำเป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นในหลายภูมิภาคของโลก ในการใช้บริโภค ทำการเกษตร และ อุตสาหกรรม ภาครัฐ จึงมีความท้าทายในการจัดสรรทรัพยากรน้ำให้เพียงพอและยั่งยืน ที่จะต้องมีองค์ประกอบในการอนุรักษ์น้ำ การหมุนเวียนน้ำมาใช้โดยการบำบัดน้ำ การจัดการลุ่มน้ำให้เพียงพอ การกำหนดราคาน้ำให้สะท้อนความเป็นจริง และ การกักเก็บน้ำในหน้าฝน รวมไปถึงการส่งเสริมให้ดื่มน้ำสะอาดจากประปา แทนน้ำจากขวดพลาสติก เพื่อลดปัญหาขยะ ที่ในไม่ช้าทั่วโลกำลังจะมีกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมนำดื่มจากขวดพลาสติกเพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อน


ด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Susgtainable Development Goal -SDG) ข้อที่ 6.1 ระบุถึง "ทำให้คนเข้าถึงน้ําดื่มที่ปลอดภัยและราคาไม่แพงสําหรับทุกคนในระดับสากลอย่างเท่าเทียมกัน" ภายในปี 2030 ทำให้ทั่วโลกคำนึงถึงเรื่องน้ำดื่มที่มีคุณภาพ สะอาด และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

 


ผลลัพธ์ดื่มน้ำจากขวดพลาสติก
ปีที่ผ่านมาปริมาณขยะแตะ 2.83 ล้านตัน

ย้อนกลับมาดูน้ำดื่มในไทย เชื่อว่าหลายคนเคยมีประสบการณ์ดื่มน้ำประปาจากก็อกน้ำในบ้านเรือนแต่ก็รู้สึกว่าน้ำมีกลิ่นแปลก ๆ แม้ว่าผู้หลักผู้ใหญ่จะบอกว่าน้ำประปาสามารถดื่มได้ แต่มันสะอาดจนสามารถดื่มได้แบบไม่มีสารตกค้างจริงๆหรือ ด้วยความเคลือบแคลงใจนี้ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากซื้อน้ำดื่มบริโภคแทนการดื่มน้ำประปา


ปัญหาที่ตามมาคือ ขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียว (Single-use Plastics) จากการซื้อน้ำดื่มเพื่อการบริโภคมีปริมาณกว่า 2.83 ล้านตันในปีที่ผ่านมา และในเมื่อทรัพยากรน้ำคือสิ่งพื้นฐานที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้


นี่คือปัญหาหลักที่ ทางกรุงเทพมหานคร หรือ กทม.จึงแก้ไขปัญหาลดขยะพลาสติก ด้วยการตั้งตู้น้ำเย็นฟรี นำร่อง 10 แห่งแรกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ช่วยลดการใช้ขวดพลาสติกแล้วกว่า 50,000 ตัน

 

หลายประเทศกำลังพัฒนา มีวิธีการจัดการกับขยะจากพลาสติกใช้ครั้งเดียว (Single Use) ที่เริ่มตั้งแต่ต้นทางอย่างชัดเจนและเด็ดขาด นำหน้าไทย อย่างประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ไต้หวัน ที่ได้มีการบังคับใช้มาตรการและกฏหมายต่าง ๆ เช่น ควบคุมการใช้ไมโครบีดพลาสติก เพิ่มมาตรการเก็บภาษี มีบทลงโทษเข้มข้น เรียกปรับเงินหากพบการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เป็นวิธีที่จะเห็นผลในการปรับพฤติกรรมคนให้ลด ละ เลิก การใช้พลาสติกได้ ที่จะเกิดผลในระยะยาวและยั่งยืน

 

ขณะที่ประเทศไทย ยังใช้รูปแบบการสมัครใจมากกว่าบังคับ ยังไม่มีบทลงโทษทางกฎหมายชัดเจน เน้นตามความสะดวกเป็นหลัก

 

คนไทยยังคุ้นชินกับดื่มน้ำจากขวด

 

น้ำประปาไทยดื่มได้จริงไหม? คำถามที่ยังมีคำตอบได้ไม่เต็มปาก และไม่มั่นใจ มีหลายคนยังมีข้อสังสัยและความเชื่อมั่นทั้งต่อผู้บริโภคคนไทย และชาวต่างชาติ ที่ผ่านมา กรมอนามัยได้ทำการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนจำนวน 700 คนในประเด็น 'น้ำประปาดื่มได้...จริงหรือ' ซึ่งผลการสำรวจ พบว่า แหล่งน้ำดื่ม 3 อันดับแรก ที่ประชาชนดื่มบ่อยมากที่สุด คือ


1.น้ำบรรจุขวดปิดสนิท สัดส่วน 58%
2.น้ำประปาที่ผ่านเครื่องกรองน้ำในบ้าน สัดส่วน 20%
3.น้ำบรรจุถัง 20 ลิตร สัดส่วน 18%
ประชาชนทั่วไปยังคุ้นชินและมีความพึงพอใจการดื่มน้ำจาก น้ำรรจุขวดปิดสนิทสัดส่วน 75% และรองลงมา น้ำประปาผ่านเครื่องกรองน้ำในบ้าน สัดส่วน 41% และน้ำบรรจุถัง 20 ลิตร สัดส่วน 31%

 

หลักฐานวิจัยยืนยัน น้ำประปาไทยดื่มได้ ปลอดภัย

 

นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สิ่งที่ประชาชนกังวลเกี่ยวกับน้ำประปามากที่สุดคือ ความสะอาดของสถานที่ผลิต แหล่งผลิต ผู้ผลิต และน้ำที่ใช้ในการผลิต รวมไปถึงกังวลว่า ระบบการผลิตไม่ได้ตามมาตรฐาน


ในความเป็นจริง มีข้อมูยืนยันทางหลักวิทยาศาสตร์ได้ว่าน้ำประปาสามารถดื่มได้ จากข้อมูลของศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์ และการเกษตรแห่งเอเซีย ได้ระบุถึงกระบวนการผลิตน้ำประปา ที่ทางการประปานครหลวงสูบน้ำมาจากแหล่งน้ำดิบเรียบร้อยแล้ว จะนำน้ำมาปรับปรุงคุณภาพน้ำเบื้องต้นก่อนด้วยการเติมสารเคมี เช่น สารส้ม และปูนขาว เพื่อช่วยให้มีการจับตัวของตะกอนได้ดียิ่งขึ้น


แล้วจึงส่งผ่านไปยังถังตะกอนที่ตะกอนขนาดใหญ่น้ำหนักมากจะตกลงสู่ก้นถัง เป็นการกำจัดสิ่งปนเปื้อนต่าง ๆ ที่รวมอยู่ในตะกอนออกไป ได้แก่ ความขุ่น จุลินทรีย์ ฯลฯ ส่วนน้ำใสจะส่งผ่านไปสู่กระบวนการกรองที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อกำจัดตะกอนและจุลินทรีย์ส่วนที่ยังเหลืออยู่ในน้ำ ทำให้น้ำมีความใสมากขึ้น และในขั้นตอนสุดท้ายน้ำจะถูกนำไปผ่านขบวนการฆ่าเชื้อโรคด้วยคลอรีน เพื่อให้น้ำสะอาดสามารถดื่มได้อย่างปลอดภัย


แม้คุณภาพน้ำปลอดภัย แต่สิ่งที่ยังส่งผลทำให้น้ำประปายังมีการปลอมปน และรู้สึกรสชาติไม่ตรงไม่ไว้วางใจ เพราะระบบการขนส่งผ่านท่อที่เก่า ความดันน้ำที่ไม่แรงพอ มีตะกอนตกค้าง ไม่สะอาด ตรงตามมาตรฐาน ประชาชนจึงขาดความเชื่อมั่นว่าน้ำประปาที่ออกจากก๊อกเป็นน้ำดื่มที่สะอาดและปลอดภัยเพียงพอที่จะดื่ม


“ระบบท่อของประเทศไทยนั้นเป็นที่หวั่นเกรงว่ายังคงไม่สะอาดเพียงพอ ไม่ใช่แค่ความไม่สะอาดของท่อลำเลียงเท่านั้น ยังมีหลายสาเหตุ ประชาชนต้องใช้ระบบปั๊มน้ำและถังพักน้ำ อันเนื่องมาจากแรงดันน้ำต่ำ ซึ่งทำให้คุณภาพของน้ำแย่ลง นำไปสู่การเพิ่มเชื้อโรคปนเปื้อนจนไม่สามารถดื่มได้อย่างปลอดภัย ถึงแม้ว่าน้ำประปาต้นทางจะการันตีว่าดี มีคุณภาพสะอาดปลอดภัย ดื่มได้ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลกก็ตาม”


โดยศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ สหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) จัดอันดับให้ ประเทศไทยนั้นอยู่ในรายชื่อประเทศที่แนะนำให้หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำประปา ทางกทม. จึงแก้ไขปัญหาสร้างความเชื่อมั่น ผ่านโครงการ “แท่นน้ำประปาดื่มได้” รวมแล้วประมาณ 809 จุดทั่วกรุงเทพฯ ตั่งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน 25 ปี เรากลับพบว่ามีหลายแท่นชำรุด ดื่ม่ไม่ได้ และแลดูไม่สะอาดปลอดภัย


ปัญหาคือแท่นน้ำเหล่านั้นตั้งอยู่ในบริเวณที่ไม่เหมาะสม เช่น ริมถนน เมื่อรถวิ่งผ่านก็อาจมีเศษฝุ่นไปเกาะติดอยู่ที่ท่อน้ำ ทำให้เมื่อดื่มแล้วอาจได้รับสารปนเปื้อนเข้าไปด้วย ประชาชนเองก็ไม่แน่ใจว่ามีการตรวจเช็คแท่นน้ำประปาครั้งล่าสุดเมื่อใด จึงทำให้ไม่มีใครกล้าดื่มน้ำจากแท่นน้ำประปาเหล่านั้น

 

ส่งผลให้ประชาชนต้องซื้อน้ำบรรจุขวดปิดสนิทมาใช้ดื่มกินในชีวิตประจำวัน ปัจจุบัน ประเทศไทยปีเมื่อปี 2565 มีขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use Plastics) จำนวน 11% ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2.83 ล้านตัน โดยขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวได้แก่ ถุงร้อน ถุงเย็น ถุงหูหิ้ว แก้วพลาสติก หลอดพลาสติก และกล่องโฟมบรรจุอาหาร


จากรายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2565, 2566 มีการนำขยะพลาสติกกลับไปใช้ประโยชน์เฉลี่ยประมาณ ปีละ 0.71 ล้านตัน คิดเป็น 25% ส่วนที่เหลือ 2.04 ล้านตัน คิดเป็น 72% จะถูกนำไปกำจัดโดยการฝังกลบรวมกับขยะมูลฝอยอื่น ๆ อีก 0.08 ล้านตัน คิดเป็น 3% นั้นไม่ได้รับการจัดการและตกค้างในสิ่งแวดล้อม

 

แล้วประเทศอื่นๆในโลกมีวิธีจัดการกับถังขยะและตู้น้ำดื่มอย่างไร?

กว่า 138 ประเทศทั่วโลกได้มีการติดตั้งจุดน้ำดื่มสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนนาดา สหราชอาณาจักร สวิชเซอร์แลนด์ ฮังการี จอร์เจีย ออสเตรเลีย อิตาลี่ และอื่นๆอีกมากมายซึ่งก็ต่างเป็นประเทศชั้นนำของโลกทั้งนั้น ในส่วนของโซเอเชียได้แก่ ประเทศไต้หวัน ญี่ปุ่น สิงค์โปร์ มาเลเซีย และประเทศไทย

 


การกำจัดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวของเมืองน่าอยู่ทั่วโลก


ประเทศสหรัฐอเมริกา


เมืองซีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเมืองแรกที่ออกกฎหมายห้ามหลอดพลาสติกพร้อมกับเครื่องใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use Plastic) การห้ามใช้ในครั้งนี้ได้รับการทดสอบผ่านแคมเปญ "Strawless in Seattle" ทั่วทั้งเมือง ซึ่งร่วมมือกับร้านอาหารมากกว่า 100 แห่ง องค์กรกีฬารายใหญ่ สนามบิน และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ํา และอื่น ๆ


ซีแอตเทิลเป็นเพียงเมืองเล็ก ๆ แต่เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวระดับโลกที่พยายามเปลี่ยนผ่านการใช้พลาสติก โดยทางเมืองได้สั่งห้ามถุงพลาสติกและใน 4 ปีพบว่าขยะถุงพลาสติกจากที่อยู่อาศัยลดลง 50% และขยะถุงพลาสติกเชิงพาณิชย์ลดลงประมาณ 75%


ประเทศแคนาดา


แคนาดาได้หยุดการใช้ไมโครบีดพลาสติก (Plastic Microbeads) อย่างเต็มที่ ครั้งหนึ่งไมโครบีดเคยถูกใช้ในผลิตภัณฑ์เพื่อความงามมากมาย รวมถึงสบู่เช็ดหน้า เจลอาบน้ํา ยาสีฟัน ยาทาเล็บ และโลชั่นบํารุงผิว เป็นเม็ดพลาสติกขนาดเล็กที่โดยทั่วไปทําหน้าที่เป็นสารผลัดเซลล์ผิวหรือฟิลเลอร์ และมักจะไหลลงไปในแหล่งน้ํา


และที่เมืองมอนทรีออลของแคนาดาเริ่มห้ามถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวโดยผู้กระทําความผิดครั้งแรกอาจถูกปรับสูงถึง 1,000 ดอลลาร์สําหรับบุคคลและ 2,000 ดอลลาร์สําหรับองค์กร ซึ่งก่อนหน้านี้มอนทรีออลใช้ถุงพลาสติกประมาณ 2 พันล้านถุงทุกปี และมีการรีไซเคิลเพียง 14% เท่านั้น ในขณะเดียวกัน เมืองวิกตอเรียก็ได้ประกาศว่าจะห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวด้วยเช่นกัน

 

ประเทศสหราชอาณาจักร

สหราชอาณาจักรได้ประกาศแผน 25 ปี 'Set The Global Gold Standard' ในการกําจัดขยะพลาสติก เริ่มแรกคือการกําจัดไมโครบีดพลาสติก ซึ่งจะไม่สามารถใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสําอางและผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลได้อีกต่อไป เนื่องจากพลาสติกขนาดเล็ก (Micro Plastic) สามารถพบได้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น สครับผิวกาย โฟมล้างหน้า ยาสีฟัน และผลิตภัณฑ์ทําความสะอาด แต่เนื่องจากพวกมันมีขนาดที่เล็กมากจนไหลบรรจบไปลงเอยในมหาสมุทร ที่ซึ่งพวกมันถูกสัตว์ทะเลกินและมักจะกลับเข้าไปในห่วงโซ่อาหาร


ซึ่งไม่ใช่การห้ามใช้อย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์เช่น ครีมกันแดดและเครื่องสําอางยังคงได้รับอนุญาตให้มีไมโครบีดเป็นส่วนประกอบอยู่
และสหราชอาณาจักรยังได้เก็บภาษีถุงพลาสติกซึ่งส่งผลให้มีการหมุนเวียนถุงพลาสติกน้อยลง 9 พันล้านถุง และยังมีการห้ามหลอดพลาสติก เครื่องกวน และสําลีก้าน ซึ่งแม้แต่สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษองค์ก่อนก็ได้เข้าร่วมสงครามกับพลาสติกโดยห้ามหลอดพลาสติกและขวดจาก Royal Estate ด้วยเช่นกัน


ประเทศออสเตรเลีย


ตามรายงานของ Clean Up Australia ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในผู้ผลิตขยะรายใหญ่ที่สุดของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา โดยชาวออสเตรเลียใช้ถุงพลาสติกประมาณ 5 พันล้านถุงทุกปี


ออสเตรเลียใต้และเมืองหลวงของออสเตรเลีย แทสเมเนีย นอร์เทิร์นเทร์ริทอรีและควีนแลนด์ มีคําสั่งห้ามพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทั่วทั้งรัฐ ในขณะเดียวกัน ซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ของออสเตรเลีย Coles และ Woolworths ได้ประกาศว่าพวกเขาจะเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เพื่อกระตุ้นลูกค้าในวิกตอเรีย นิวเซาท์เวลส์ และเวสเทิร์นออสเตรเลีย
ประเทศไต้หวัน


การซื้อน้ำดื่ม สั่งอาหารกลับบ้าน จะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อไต้หวันได้มีการประกาศห้ามใช้พลาสติกอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก โดยจํากัดการใช้ถุงพลาสติก หลอด เครื่องใช้ และถ้วยแบบใช้ครั้งเดียว การห้ามใช้ในครั้งนี้ซึ่งขึ้นจากกฎระเบียบที่มีอยู่ เช่น โครงการรีไซเคิล และค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสําหรับถุงพลาสติก และแสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวต่อต้านพลาสติก เนื่องจากไต้หวันตระหนักถึงอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ โดยจะมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ภายในปี 2573

 

ในส่วนของพิกัดตู้กดน้ำเย็นของกทม.ทั้ง 10 จุดนำร่อง ได้แก่

1.ประตู 6 สวนเบญจกิติ
2.สนามพิกเคิลบอล สวนเบญจกิติ
3.หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)
4.ลานหน้าศาลพระตรีมูรติ เซ็นทรัลเวิลด์
5.ป้ายรถเมล์ติดแอร์ หน้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์
6.ฟอร์จูนทาวน์ พระราม 9
7.สวนธนบุรีรมย์
8.สวนรถไฟ หรือสวนวชิรเบญจทัศ
9.อุโมงค์หน้าพระลาน
10.ท่ามหาราช

โดยทางกทม.มีแผนดำเนินการติดตั้งตู้กดน้ำดื่มฟรี 200 จุด ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทุกแห่งสำนักงานเขตทุกเขตและสวนสาธารณะ ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้วรวมถึงประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนในการใช้พื้นที่เพื่อติดตั้งตู้กดน้ำเพื่ออำนวยความสะดวกและบริการประชาชนอย่างทั่วถึง


Source: https://www.hfocus.org/content/2024/03/30035
https://amarc.co.th/amarc-article-tap-water/#:~:text=%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%88%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%95%E0%B8%B8,%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%94%E0%B8%B5)
https://www.globalcitizen.org/en/content/taiwan-ban-on-plastic-bags-straws-utensils-contain/
https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/download/article/article_20231214140614.pdf
Water Scarcity and Sustainable Development: How Tap Water Can Make a D – Tappwater

Tag :