องศาร้อนพีก..ของแพงเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนอย่างไร ภัยความร้อนที่ไม่ควรมองข้าม

by สินนภา ดีเลิศพัฒนา, 30 เมษายน 2567

อากาศร้อนอบอ้าว ความร้อนระอุทะลุ 40 องศาแทบทุกวันส่งผลต่อปริมาณการใช้ไฟฟ้าเฉพาะเมษายนเดือนเดียว มีอัตราการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 36,356 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา

 

สภาพอากาศแปรปรวน ทำให้อัตราการใช้พลังงานสูงขึ้นจนทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งนำไปสู่การทยอยขึ้นราคาสินค้าต่างๆ ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

 

ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติเห็นชอบให้ปรับอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ ส่งผลทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศเกิน 30 บาทต่อลิตรได้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 เป็นต้นไป ส่งผลต่อราคาน้ำมันดีเซลจะปรับราคาเกินกว่า 30 บาทต่อลิตร หลังจากที่ตรึงราคาไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร
รวมถึง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) หรือ ทอท. จะปรับขึ้นค่าบริการครั้งแรกในรอบ 17 ปี โดยผู้โดยสารขาออก (Passenger Service Charge: PSC)

สำหรับผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ จาก 700 บาทต่อคน เป็น 730 บาทต่อคน และค่า PSC สําหรับผู้โดยสารขาออกภายในประเทศ ปรับจาก 100 บาทต่อคน เป็น 130 บาทต่อคน


ขณะที่ราคาสินค้าอาหาร สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้ประกาศปรับขึ้นราคาสุกรหน้าฟาร์มสำหรับวันพระนี้ทุกภูมิภาค 4 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. เป็นต้นไปส่งผลทำให้ราคาหมูชำแหละหน้าเขียง ปรับตัวสูงขึ้นอีกกิโลกรัมละ 10 บาท เป็นราคา กิโลกรัมละ 190 บาท

 

รวมไปถึง จากการสำรวจในพื้นที่ตลาด ณ เดือนเมษายน 67 พบว่า ราคาไข่ไก่เบอร์ 0 ราคา แผงละ 155 บาท และเบอร์ 1 ราคาแผงละ 147 บาท ซึ่งถือเป็นราคาไข่ที่สูงเป็นประวัติการณ์ ตลอดจน ผักชี ราคาพุ่งทะลุกิโลละ 200 บาทไปแล้วเรียบร้อยในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา


ยังไม่รวมถึงราคาร้านแก๊สหุงต้มในกรุงเพทฯ และปริมณฑลที่ กบน. ได้ประกาศตรึงอยู่ที่ 423 บาท/ถัง 15 กก. ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2567เท่านั้น จึงทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. เป็นต้นไป ราคาแก๊สอาจมีปรับสูงขึ้น

 

ทั้งหมดล้วนเป็นผลที่เกิดจากสภาพ อากาศแปรปรวนทำให้ทั้งสินค้าภาคการเกษตร และราคาวัตถุดิบต่างๆ ทยอยปรับตัวสูงขึ้นทุบสถิติขึ้นทุกปี เป็นสิ่งที่เราจะต้องเตรียมรับมือกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการที่ผลผลิตอาหารลดลง

 

ของแพงเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนอย่างไร?

“ท็อป” พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร นักแสดงและพิธีกร ผู้ขับเคลื่อนด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แสดงความเห็นถึงผลกระทบภาวะโลกร้อนกับการซื้อข้าวของในราคาแพง ว่า เป็นผลมาจากการที่ทุกคนละเลยปัญหาสิ่งแวดล้อมมายาวนาน จนกระทั่ง สิ่งเหล่านี้ย้อนกลับมาส่งผลกระทบใกล้ตัวเรา

 

จึงไม่ต้องแปลกใจหากวันนี้ ทุกคนไปซื้ออาหาร ซื้อข้าว 1 จานในราคาหลักร้อยบาท เป็นผลมาจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้ภาคการเกษตรหรือการปลูกข้าวทำนา เปลี่ยนวงจรไป ผลผลิตลดลง ความต้องการซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น สินค้าเกษตรไม่เพียงพอกับความต้องการ ผู้บริโภคจึงต้องยอมจ่ายราคาสูงขึ้น ตามกฎของดีมานด์ (ความต้องการซื้อ) และผลผลิต (ซัพพลาย) ที่มีจำกัด

“ เราต้องจ่ายแพงขึ้น ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับพวกเราโดยตรง ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลไปถึงภาคการผลิตแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อยอดผู้เสียชีวิตจากอาการฮีทสโตรกพุ่งแตะ 30 ราย ”


ยังไม่รวมถึงอุณหภูมิในฟาร์มปศุสัตว์ หรือพื้นที่ทำเกษตร ที่มีผลผลิตลดลง เพราะเกิดจากสภาพอากาศร้อนระอุ ส่งผลกระทบต่อสัตว์และผลผลิตทางเกษตรกรรมอื่นๆ โดยตรง

 

ที่เห็นชัดเจน คือ ไข่ไก่ เนื่องจากแม่ไก่จำเป็นต้องใช้พลังงานอย่างมากในการระบายความร้อน จึงทำให้แม่ไก่ผลิตไข่ไก่ได้จำนวนน้อยลง หรืออาจไม่ออกไข่เลย ซึ่งคุณภาพไข่ไก่ในช่วงที่ผ่านมานี้มีเปลือกที่บางและแตกหักง่ายเป็นพิเศษ


เช่นเดียวกับผลผลิตทางการเกษตรที่มีราคาสูงไม่แพ้กัน นอกเหนือจากปัจจัยของอากาศร้อนและน้ำแล้งแล้ว ยังมีในเรื่องของผึ้งที่มีการสูญเสียประชากรผึ้งจำนวนมากไปจากระบบนิเวศน์เนื่องจากอากาศที่ร้อนจัด

รังผึ้งล่มสลาย จุดเริ่มระบบนิเวศรวนหนัก

สำหรับปัญหาเกิดผลกระทบกระจายไปทั่วโลก ไม่ใช่เพียงในประเทศไทย มีงานวิจัยมากมายที่ได้กล่าวถึงเรื่องของการล่มสลายของรังผึ้งหรือ Colony Collapse Disorder ส่งผลกระทบไปสู่ระบบนิเวศวงจรพืชและสัตว์ เกิดความผันผวน และอาจนำไปสู่การสูญสิ้นของอารยธรรมมนุษย์ได้เลยทีเดียว

 

อย่างที่นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (กมธ.) วุฒิสภา ได้บอกเล่าไว้ว่า หากไม่มีผึ้ง เราก็ไม่มีเทคโนโลยีอะไรเลยในการที่จะผสมเกสรดอกไม้เพื่อทำให้พืชเติบโต แม้มนุษย์จะทำการผสมเกษรได้ตามที่ เกรกอร์ เมนเดล เคยนำเกสรตัวผู้กับตัวเมียมาถูกัน แต่มันก็ไม่สามารถขยายสเกลการผสมเกษรในสเกลพื้นที่ใหญ่มากขึ้นได้ ตามที่ธรรมชาติได้ออกแบบไว้


“เมื่อเรากำลังสูญเสียผึ้งไปจากระบบนิเวศน์ สิ่งที่ตามมาคือพืชผักผลไม้ไม้ได้รับการผสมเกสร ถึงแม้ว่าจะติดดอกแต่ก็ไม่สามารถออกผลได้ เหมือนไฟลามทุ่งที่ทำให้ราคาพืชผักพุ่งสูงทะลุเพดาน และยังส่งผลต่อไปถึงราคาของอาหารสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้นด้วยตามกลไกของห่วงโซ่อุปทาน”


ผลกระทบเพียงเล็กน้อยที่ขยายวงกว้างมาถึงชีวิตเรา
จากภาวะโลกร้อน ถึงความมั่นทางอาหารโลก


ณ ตอนนี้ทั่วทุกมุมโลกกำลังเผชิญกับปัญหาคลื่นความร้อนรุนแรง จากการรายงานของ The Business News ได้เปิดผลการวิจัยที่ชี้ชัดว่า “คลื่นความร้อนเป็นอันตรายต่อการผลิตอาหารตามธรรมชาติ”

 

เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้กล่าวในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้วว่า คลื่นความร้อนได้ทําลายพืชข้าว 141 เฮกตาร์ (ประมาณ 6.1 ไร่) เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาว่า หน่วยงานของพวกเขากําลังพยายามพัฒนาพันธุ์ข้าวทนความร้อน เพื่อรักษาการเก็บเกี่ยวจากการช็อกความร้อน (Heat Shock)

 


จอห์น มาร์แชม ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศแห่งมหาวิทยาลัยลีดส์ ได้กล่าวกับเดอะการ์เดียนว่า การสูญเสียพืชผลอันเป็นผลมาจากคลื่นความร้อนนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงสําหรับคนทั้งโลก ถือเป็นปรากฎการณ์ความเสี่ยงต่อการสูญเสียพันธ์ุพืชผลครั้งใหญ่ ไปพร้อมกันในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก นำไปสู่ความมั่นคงทางอาหาร และราคาพืชผลทางการเกษตรมีราคาสูงขึ้น

 

“นี่ไม่ใช่สิ่งที่เราจะเห็นผลกระทบอย่างชัดเจนได้ในตอนนี้ แต่ในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า ถ้าคุณรวยพอ คุณสามารถเข้าไปข้างในบ้านและเปิดเครื่องปรับอากาศได้ แต่ระบบนิเวศธรรมชาติและระบบนิเวศในฟาร์มไม่สามารถทําเช่นนั้นได้"

นพ.ชัมสุโดหะ (Md.Shamsuddoha) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Center for Participatory Research and Development (CPRD) ยังได้กล่าวกับ The Business Standard อีกว่า สิ่งที่มนุษย์รู้สึกได้ชัด คือคลื่นความร้อนจะเกิดบ่อยขึ้น จากที่คลื่นความร้อนเคยเกิดขึ้นปีละครั้งแล้วจะไม่เกิดขึ้นอีก ครั้ง แต่ในปัจจุบัน คลื่นความร้อนลูกหนึ่งพัดผ่านประเทศ อีกลูกหนึ่งก็เกิดขึ้นซ้ำและกําลังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

พืชผลสูญเสียกว่า 50%
ปลิดชีพสัตว์ทะเลกว่า 1,000 ล้านตัว

เช่นเดียวกับการสูญเสียทางการเกษตรที่สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อการเกษตรในเอเชียใต้ และคลื่นความร้อนในยุโรปในปี 2018 นําไปสู่ความล้มเหลวของพืชผลประมาณ 50% อันที่จริง นี่เป็นเรื่องราวที่เกิดซ้ําซากที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปีทั่วทุกมุมโลก


ความเสียหายนี้ยังเกิดกับระบบนิเวศในมหาสมุทรเขตร้อน ตัวอย่างเช่น ในปี 2021 สัตว์ทะเล 1,000 ล้านตัวถูกฆ่าโดยโดมความร้อนที่เกิดจากสันเขาความกดอากาศสูงก่อตัวขึ้นเหนือพื้นที่และไม่เคลื่อนที่นานถึงหนึ่งสัปดาห์หรือมากกว่านั้น บริเวณแนวชายฝั่งแปซิฟิกของ

ปะการังฟอกขาว
แรงสั่นสะเทือน 500 ล้านชีวิตทั่วโลก

แคนาดา หรือแม้แต่ในประเทศไทยที่ตอนนี้พบปะการังฟอกขาวถึงระดับวิกฤตหลายๆบริเวณจนอาจเจอปรากฏการณ์ “พรึบเดียวขาวโพลน” โดยสิ่งสําคัญที่ต้องจําไว้ก็คือ มหาสมุทรที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุดที่คอยค้ำจุนผู้คนมากกว่า 500 ล้านคนทั่วโลก


เรากำลังสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพไปอย่างรวดเร็วโดยที่ไม่รู้ตัวผ่านข้าวของและราคาอุปโภคบริโภคที่แพงจนน่าใจหาย และนี่เป็นเพียงผลกระทบเล็กๆเท่านั้น โดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ได้กําหนดให้จำกัดอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มสูงไปกว่า 1.5°C ผ่านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกต้องลดลงก่อนปี 2025 และลดลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 ตอนนี้เราอยู่ในช่วงกลางปี 2024 โดยให้เวลาเราน้อยกว่า 7 ปีในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบัน ซึ่งพวกเรามวลมนุษยชาติยังพอมีเวลาอยู่เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้สายเกินแก้

 

Source: https://www.tbsnews.net/features/panorama/how-heatwaves-are-affecting-livelihoods-and-food-security-669834