สถาปนิก’67 สื่อสารผ่านงานสถาปัตย์ ประชันงานออกแบบและนวัตกรรมคำนึงถึงสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

by ESGuniverse, 2 พฤษภาคม 2567

สถาปนิก’67 งานแสดงเทคโนโลยีสถาปัตยกรรมและผลิตภัณฑ์ก่อสร้างใหญ่ที่สุดในอาเซียน ขนทัพงานออกแบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่า 100,000 รายการ 

งานสถาปนิก’67 จัดโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ บริษัท ทีทีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Collective Language: สัมผัส สถาปัตย์” ภายในงาน มีการจัดแสดงสินค้าและบริการด้านงานออกแบบ วัสดุก่อสร้าง การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ที่เกี่ยวข้องกับวงการสถาปัตยกรรมบนพื้นที่เดียวกัน ที่ใหญ่มากถึง 75,000 ตารางเมตร ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี

การออกแบบที่ไร้ขอบเขต

เฉกเช่นการสื่อสารที่หลากหลาย

มุ่งหวังสร้างการรับรู้ให้ผู้คนจากทั่วโลกได้สัมผัสและเข้าใจงานสถาปัตยกรรมและการออกแบบที่ไร้ขอบเขต เฉกเช่นการสื่อสารด้วยภาษาที่มีความหลากหลาย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจตลอดระยะเวลา 90 ปีของการก่อตั้งสมาคมสถาปนิกสยามฯ ที่อยากให้เกิดความเคลื่อนไหว (Movement) ที่ดีในสังคมและอนาคตร่วมกัน

 

 

 

หนุนพัฒนาศักยภาพสถาปนิกไทย

นายชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงการจัดงานสถาปนิก ถือเป็นงานใหญ่และมีความสำคัญมากต่อแวดวงสถาปนิกไทย โดยสมาคมสถาปนิกสยามฯ จัดงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 36 เพื่อให้งานนี้เป็นเสมือนเวทีจัดแสดงผลงานทางวิชาชีพสถาปัตยกรรม และกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาศักยภาพสถาปนิกไทย ตลอดจนเป็นพื้นที่จัดแสดงนวัตกรรมเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์เพื่อการก่อสร้าง

ที่สำคัญเป็นงานที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ผู้ที่สนใจได้เข้าร่วมชมงานเพื่อมาอัพเดทเทรนด์งานออกแบบ สถาปัตยกรรม พบปะกับสถาปนิกชั้นนำของไทยและต่างประเทศที่มาร่วมพูดคุยถ่ายทอดประสบการณ์ อีกทั้งได้ชมและเลือกซื้อสินค้าเพื่องานก่อสร้างที่มีการเปิดตัวนวัตกรรมใหม่ได้ในทุกๆ ปี

โดยในปีนี้ ได้มีนวัตกรรม เทคโนโลยีและการออกแบบที่ตอบโจทย์กับสภาพอากาศและคนทุกกลุ่ม ออกแบบโดยผนวกองค์ความรู้ที่จะอยู่แบบโลกสมัยใหม่ให้ใช้พลังงานน้อยที่สุด อยู่กับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา และไม่สร้างขยะไปมากกว่านี้

 

 

 

ความยั่งยืนไม่ใช่เทรนด์ใหม่

นอกจากนี้นายกสมาคมสยามฯ ยังได้กล่าวถึงการออกแบบที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนอีกว่า การออกแบบที่คำนึงถึงความยั่งยืนไม่ใช่เทรนด์ใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น เพราะการออกแบบแต่ละงานจะต้องคำนึงเรื่องความคุ้มค่า การลดใช้ทรัพยากร เพื่อทำร้ายโลกให้น้อยลง เพราะปัจจุบันนี้เราอยู่ในโลกที่แย่ลงเต็มไปด้วยขยะ นาโนพลาสติก เราอยู่ในจุดที่ทุกคนต้องเรียนรู่ว่าเราจะต้องอยู่ในสุขภาวะที่ดี

แต่ทุกคนมีมุมมองที่แตกต่างกัน นิยามคำว่าสุขภาวะที่ดีสำหรับบางคนอาจจะเป็นการอยู่กับธรรมชาติ หรือกับคนอีกกลุ่มอาจเป็นการได้อยู่ในบ้านที่ปลอดภัย มีห้องน้ำที่ปลอดภัยต่อผู้สูงวัย มีบ้านที่ใช้วัสดุที่ดีและมีคุณภาพ โดยนายกสมาคมสยามฯ มีความคาดหวังว่าอยากให้ประชาชนคนทั่วไปที่มางานสถาปนิก‘67 ได้รับความรู้กลับบ้านไป ลองนำความรู้จากงานไปประยุกต์ใช้กับครอบครัวและตนเองเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

 

 

แบรนด์ไทย-ต่างประเทศ-นักศึกษา
ขนไฮไลท์โชว์กว่าแสนรายการ

ทั้งนี้ ภายในงานประกอบไปด้วยบู๊ทนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการเพื่องานออกแบบ ก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ กว่า 100,000 รายการ จากแบรนด์ชั้นนำทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศจำนวน 1,000 ราย และที่สำคัญเป็นงานที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ผู้ที่สนใจได้เข้าร่วมชมงานเพื่อมาอัพเดทเทรนด์งานออกแบบสถาปัตยกรรม พบปะกับสถาปนิกชั้นนำของไทยและต่างประเทศที่มาร่วมพูดคุยถ่ายทอดประสบการณ์

ซึ่งในบู๊ทแสดงผลงานของนิสิต นักศึกษา ได้มีการชูปัญหาสภาวะโลกร้อน สะท้อนแนวคิดต่อโลกที่พวกเขาจะต้องเผชิญในอนาคตผ่านโครงการปฏิบัติการออกแบบสถาปัตยกรรม อย่างเช่น "โครงการปากคลองลาวน: ร่วมค้นหาโอกาสในการออกแบบพื้นที่ใช้สอยร่วมเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน"(Lawon Project: Re-discover Another Collective Space)

โดยนักศึกษาสถาปัตยกรรมและภาคเอกชนในพื้นที่ได้ร่วมเสนอแนวความคิดการพัฒนาพื้นที่บริเวณปากคลองลาวน โดยมีเป้าหมายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อการพักผ่อน ธุรกิจการท่องเที่ยวและการอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างยังยืน เพื่อนำเสนอต่อผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาชีพและเจ้าของพื้นที่ เพื่อให้เกิดการออกแบบเชิงนิเวศน์อย่างเป็นรูปธรรม

 

 

 

และยังมีงานออกแบบอื่นๆที่สะท้อนถึงการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และคนชายขอบ เช่น การออกแบบอาคารได้แนวคิดและแรงบันดาลใจพัฒนามาจากเครื่องช่วยฟัง จากมหาวิทยาลัยรังสิต, สถาปัตยกรรมเพื่อการอนุรักษ์กลุ่มกะเหรี่ยงอุทัยธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และการออกพื้นที่แบบชุมชนแออัดริมทางรถไฟมักกะสัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งการออกแบบเหล่านี้เป็นตัวสะท้อนได้อย่างดีว่าคนรุ่นใหม่ด้ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและการพัฒนาสังคมควบคู่ไปกับการออกแบบด้านสถาปัตยกรรม

ทั้งนี้ ยังมีการจัดแสดงสินค้า เทคโนโลยี นวัตกรรมและบริการที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น


TOA แบรนด์ผลิตภัณฑ์สีที่สนับสนุนความยั่งยืน มีเครื่องหมาย TOA Green Certified การันตีเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานระดับสากล ปลอดภัย ไม่ทำลายสุขภาพ ช่วยลดโลกร้อน ซึ่งช่วยตอกย้ำว่าสินค้าของ TOA เป็นสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พัฒนาสินค้าที่ไม่ทิ้ง Carbon Footprint เอาไว้ อย่างนวัตกรรมสีรักษ์โลก ‘TOA Organic Care’ สีทาภายในที่พัฒนาขึ้นด้วยเทคโนโลยี Bio-Based ใช้วัตถุดิบหลักจากพืชหมุนเวียนรายแรกและรายเดียวในไทย ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจาก U.S. Department of Agriculture (USDA) เป็นตรารับรองอาหารและผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคของสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ TOA ยังมีการปลูกป่าชดเชยคาร์บอน เพิ่มการใช้พลังงานสะอาดตลอดจนกระบวนการทำงานให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น รวมไปถึงมีแผนลงทุนในการขนส่งรถพลังงานสะอาดภายในปีนี้ เพื่อเข้าสู่สังคม Net Zero 20% ภายในปี 2025 และ 50% ภายในปี 2030 ตอบโจทย์ทั้งกลุ่มเป้าหมายที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมภายใต้แผนยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (SDGs) ตามกรอบแนวคิด ESG

 

 

 

CPAC Green Solution นำเสนอเทคโนโลยี 3D Concrete Printing (คอนกรีต 3 มิติ) เข้ามาใช้รายแรกในอุตสาหกรรมการก่อสร้างของเมืองไทย เป็นการพัฒนาปูนซีเมนต์สูตรพิเศษที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ ผ่านกระบวนการผลิตที่เน้นการใช้พลังงานทดแทน รวมทั้งเทคโนโลยี Materials Science เพื่อให้ได้ปูนสูตร Low Carbon สำหรับขึ้นรูปชิ้นงานในกลุ่ม Coral Reef เพื่อฟื้นฟูแนวปะการังใต้ทะเล และเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งความพิเศษของปูนสูตรนี้คือในทุก 1 ตันจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 27% หรือประมาณ 65 kg CO2 เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ประมาณ 7 ต้น

 

นวัตกรรมสี ใช้สีจากธรรมชาติ

จรเข้ ที่ได้ชูนวัตกรรมใหม่ สีจากธรรมชาติรายแรกในไทย ใช้ไลม์สโตนหรือหินปูนธรรมชาติผสานเทคโนโลยีกราฟีน ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนครอบคลุมตั้งแต่การสรรหาวัตถุดิบ การผลิต การขนส่งและกระจายสินค้า การใช้งานผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงการสนับสนุนบุคลากรและชุมชน ตามคอนเซ็ปต์ "เราอยู่ได้ - โลกอยู่ดี - สังคมมีสุข“ ผ่านนวัตกรรมสีเขียว ด้วยการสรรหาวัตถุดิบที่เป็นมิตร การผลิตที่ลดของเสียหรือขยะ การขนส่งและกระจายสินค้าที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้การก่อสร้างและอยู่อาศัยปลอดภัยถูกสุขภาวะ ไปจนถึงการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาคน เพิ่มโอกาสให้กับคนในสังคม ภายใต้มาตรฐานและแนวดำเนินงาน ความยั่งยืน ทั้งในระดับประเทศและกติกาสากล

 

 

 

นวัตกรรม Seamless Living Experience

WINDSOR เปิดนวัตกรรม Seamless Living Experience บ้าน 1 หลังที่ใช้วินด์เซอร์ ช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 39 kgcO2 เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 5 ต้น ด้วยนวัตกรรมดีไซน์สินค้าใหม่ ที่ตอบโจทย์งานออกแบบและการอยู่อาศัย พร้อมประหยัดพลังงาน ช่วยลดความร้อนให้กับบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่าน 4E ได้แก่ Eco Design ออกแบบบ้านโดยพึ่งพาและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติได้อย่างเหมาะสม / Envelope เลือกใช้วัสดุก่อสร้างให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม / Electrical Equipment ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ ประหยัดพลังงานและช่วยลดความร้อนสะสม และ Energy Management บริหารจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ

Royal Thai ชูพรมทอด้วยเครื่องจักรและทอด้วยมือจากวัสดุเหลือใช้ ภายใต้แนวคิด East West, from Waste to Worth โดยการนำเสนอการออกแบบจากวัสดุพื้นฐาน และเหลือใช้ ให้ผู้ชมสัมผัสสีสันไอเดียในการออกแบบจากไทยสู่สากล เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน ไฮไลท์ของบูธคือการประกอบร่างของวัสดุต่างๆ เช่น เหล็ก เส้นไหมที่เหลือใช้ พรมที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ ตลอดจนแผ่นอคูสติก ซึ่งผลิตจากการรีไซเคิลขวดพลาสติก ขานรับเทรนด์ความยั่งยืน

รวมไปถึงแบรนด์น้องใหม่ของบริษัทในเครือ RT Studio by Royal Thai ที่มีการนำเอาวัสดุที่เหลือใช้โดยการออกแบบคอลเลคชันพรมทอมือพรีเมี่ยม สื่อภาษาจากชนเผ่าสู่การดีไซน์สากลผ่านเส้นไหม เป็นการให้ความสำคัญกับมิติความยั่งยืนอย่างรอบด้าน จะเป็นก้าวที่สำคัญในการพัฒนาของบริษัทในเครือต่อไปในอนาคต

 

นวัตกรรมกระเบื้องเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

PORCELA นำเสนอนวัตกรรมกระเบื้องเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ใส่ใจความยั่งยืน ด้วยนวัตกรรมในการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ปล่อยของเสียสู่ธรรมชาติ มีการเลือกใช้วัสดุทดแทน และมีการตรวจสอบในทุกขั้นตอนการผลิตให้มีความปลอดภัยได้มากที่สุด

 

 

 

สำหรับงานสถาปนิก’67 ภายใต้ธีม Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์ ในครั้งนี้ มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 เมษายน - 5 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00 - 20.00 น. ณ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี โดยทางผู้จัดงานได้จัดเตรียมรถตู้บริการรับ-ส่งฟรี จากงานสู่ปลายทาง 3 สถานีรถไฟฟ้า (MRT สถานีสวนจตุจักร, MRT สถานีพระราม 9 และ MRT สถานีศรีรัช) ตั้งแต่เวลา 09.30 - 20.30 น.