ถอดรหัสบริหารจัดการน้ำ “ลุงตู่”

by ThaiQuote, 29 มกราคม 2559

 จากข้อมูลพบว่า “ประเทศไทย” ต้องประสบกับปัญหา ปัญหาการขาดแคลนน้ำโดยมีความต้องการน้ำรวมทั้งประเทศ ประมาณ 151,750 ล้านลูกบาศก์เมตร (ในปี 2557) ในขณะที่ สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำในรูปแบบต่าง ๆ ได้เพียง 102,140 ล้านลูกบาศก์เมตร และอีก ประมาณ 49,610 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังไม่สามารถจัดสรรน้ำให้กับพื้นที่ได้ ทั้งในด้านการเกษตร และในด้านอุปโภคบริโภค

 

นอกจากนี้ประเทศไทย ยังต้องเผชิญกับปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ๆ บ่อยครั้ง ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้ประสบปัญหาน้ำท่วมเกือบทุกจังหวัดของประเทศถึง 13 ครั้ง รวมถึงยังต้องเผชิญกับ พื้นที่เสี่ยงต่อดินโคลนถล่ม และปัญหาอื่นๆ ที่ตามมา ซึ่งมีสาเหตุมาจากการบริหารจัดการน้ำที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์  

 

จึงจำเป็นต้องดำเนินการและเร่งรัดให้เกิดแผนรองรับกับปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งระบบ แม้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยได้กำหนดแนวนโยบาย ตลอดจนจัดทำแผนแม่บทที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำมาอย่างต่อเนื่อง แต่ความสลับซับซ้อนของสภาพปัญหาที่แปรเปลี่ยนตลอดเวลา ส่งผลให้นโยบายและแผนแม่บทดังกล่าวไม่อาจครอบคลุมในทุกปัจจัยของปัญหา และมีข้อจำกัดต่อการบูรณาการแผนงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนได้

 

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงได้เร่งรัดให้มีการดำเนินการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวอย่างรวดเร็ว เป็นที่มาแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำระยะยาว 10 ปี (พ.ศ.2558-2569)  วงเงินงบประมาณกว่า 980,000 ล้านบาท  โดยมีเป้าหมาย   เพื่อแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำ บริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ เพื่อสร้างความสุขให้กับประชาชนและให้ โอกาสการเข้าถึงทรัพยากรน้ำของทุกภาคส่วนอย่างเหมาะสม ตลอดจนสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำตาม ศักยภาพลุ่มน้ำ เพื่อกำรพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศฉบับนี้ จะเป็นกรอบในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการระดับลุ่มน้ำต่อไป

แผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำระยะยาว 10 ปี (พ.ศ.2558-2569)   ครอบคลุม 6 ยุทธศาสตร์  1. ยุทธศาสตร์การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2. ยุทธศาสตร์การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) 3.ยุทธศาสตร์การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4.ยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพน้ำ 5.ยุทธศาสตร์การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน และ  6. ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ

โดยได้แบ่งช่วงเวลาในการปฏิบัติงานตามแผนเป็น 3 ช่วง ภายในระยะเวลา 10 ปี คือ 1.แผนระยะสั้น ตั้งแต่ปี 2558-2559 2.แผนระยะกลาง ปี 2560-2564 และ 3.แผนระยะยาว ปี 2565-2569

ความสำคัญของ แผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำระยะยาว 10 ปี (พ.ศ.2558-2569) ที่อยู่ในระยะเริ่มต้น เกิดขึ้นพร้อมๆ กับปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ การดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น โดยดำเนินการทั้งสองส่วนไปพร้อมๆ กัน

                และต้องครอบคลุม บรรลุผล ครบตามแผนยุทธศาสตร์ทั้งหมด คือ การป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำของประเทศในทุกด้าน คือ การแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ปัญหาน้ำท่วม และ

ปัญหาคุณภาพน้ำ อย่างมีเอกภาพและบูรณาการในทุกมิติ

               

ซึ่งทั้งหมดนี้ จะเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ ปัญหาทรัพยากรน้ำที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ และแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง คือต้อง เป็นการแก้ปัญหาได้อย่างถาวรและยั่งยืน ตลอดจนเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการน้ำ เพื่อรองรับกับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต