สังคมป่วน “คดีโหดพัทลุง” ทวงถามปฏิรูปกม.ได้หรือยัง... ?? (2)

by ThaiQuote, 4 กุมภาพันธ์ 2559

ตามที่ THAI QUOTE ได้นำเสนอไปแล้วเกี่ยวกับแนวคิด การปฏิรูปกฏหมายเยาวชน โดยผ่านมุมมองจาก อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนักสิทธิมนุษยชนเด็ก ที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ

                THAI QUOTE ได้ติดตามกระแสดังกล่าว พร้อมรวบรวมแนวคิดจากนักกฏหมาย อย่าง “นายวรินทร์ เทียมจรัส” อดีต สว.นักกฏหมายที่ให้ความเห็นกับแนวคิดดังกล่าวไว้น่าสนใจว่า “กรณีที่เกิดขึ้นที่ แม้จะเป็นเรื่องของเด็กแต่ต้องมองในแง่ของความเป็นอาชญากรด้วย คือมีความโหดร้ายโดยพฤติกรรมก็ควรจะขึ้นศาลผู้ใหญ่ แม้ว่าในอีกมุมมองแนวคิดจะมองว่าเป็นเรื่องที่ควรจะต้องให้อภัยเด็ก ตอนนี้กำลังต่อสู้กันระหว่างสิทธิเด็ก และสิทธิพลเมือง ถ้าเป็นเรื่องหลังก็ต้องมองไปว่าคนร้ายมีพฤติกรรมโหดร้าย ไม่ควรจะอยู่กับคนปกติ ส่วนเรื่องแรกเรื่องของสิทธิเด็ก เรื่องของอายุก็ต้องไปว่ากันอีกกระบวนการหนึ่ง เป็นเรื่องของหลักการ ว่าเด็กนั้นจำกัดความตรงไหน

                คดีที่เกิดขึ้นที่พัทลุงนี้ จริง ๆ สามารถนำไปดำเนินคดีแบบผู้ใหญ่เลยก็ได้ ต้องไปดูกันตรงกฏหมายวิธีพิจารณาความเด็ก ซึ่งมีการแก้ไขปรับปรุงแต่ในช่วงเวลาก่อน ยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เคยใช้กฏหมายในลักษณะเช่นนี้ดำเนินดดีกรณีกับเยาวชนมาแล้ว โดยผ่านประกาศคณะปฏิวัติ เพราะมองว่าความเป็นอาชญากรก็คืออาชญากร ไม่ใช่ผู้บกพร่องทางจิตที่ควรยกเว้นโดยในประเทศที่เจริญแล้วหลายประเทศก็มีกรณีแบบนี้ และมีการนำขึ้นศาลผู้ใหญ่

                ซึ่งถ้ามองถึงในปัจจุบันก็ต้องไปมองกันที่ มาตรา 44 เรื่องนี้สามารถใช้มาตรา 44 ได้อยู่แล้ว เพราะถือว่าเป็นคดีสะเทือนขวัญและกระทบต่อความมั่นคง เมื่อยังอยู่ในสถานการณ์ที่มีผลต่อสังคม ก็สามารถใช้ กฏหมายบังคับได้เลย แต่อยู่ที่ว่าจะกล้าใช้หรือไม่ ถ้ากล้าใช้ก็เท่ากับเป็นการปฏิรูปกฏหมายไปด้วยในตัว”

                ในเรื่องของการบังคับใช้กฏหมาย และการปฏิรูปกฏหมายเกี่ยวกับเยาวชนประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงมาก คือ การกำหนดช่วงอายุ ในคำจำกัดความคำว่า “เยาวชน” ที่หลายฝ่ายเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลง โดยอยากให้มีการกำหนดสถานะของเยาวชน ในช่วงของอายุที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น

                ด้าน “นพ.วัลลภ ปิยะมโนธรรม”  นักจิตวิทยาชื่อดัง และแพทย์ที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต ศูนย์อายุรกรรม อายุร ร.พ.สุขุมวิท เปิดเผยกับ THAI QUOTE  ถึงกระแสเรียกร้องดังกล่าววว่า ที่ผ่านมาปัญหาในเรื่องกฏหมายนี้เกิดขึ้นจากการใช้ระบบกฏหมายสากล ที่ระบุอายุของเยาวชนว่าต่ำกว่า 18 ต้องขึ้นศาลเยาวชน กรณีนี้ถ้ามีการปฏิรูปและปรับปรุงกฏหมายต้องไม่ยึดตามหลักสากล แต่จะต้องเป็นแบบเฉพาะเช่นเดียวกับในประเทศ มาเลเซีย หรือ สิงคโปร์ ที่ไม่ได้กำหนดอายุ แต่กำหนตามลักษณะของโทษ เช่นกรณีข่มขืนแล้วฆ่า คือ ประหารชีวิต เยาวชนรับโทษเท่ากับผู้ใหญ่

                ส่วนในทางจิตหรือกระบวนการพัฒนาของเด็ก และเยาวชน กับความเหมาะสมในการรับโทษ และการกำหนดโทษนั้น ทุกวันนี้เด็กรับรู้ได้เร็ว เด็กที่จะก่ออาชญากรรมหรือทำความผิด มีความเข้าใจในกฏหมายมาก คือรู้ว่าถ้าสารภาพจะลดโทษครึ่งหนึ่ง  จะต้องไปสถานพินิจกี่ปี จะมีโทษกี่ปี เรื่องแบบนี้เด็กรู้ดี

                ดังนั้นแนวคิดการปฏิรูปหรือปรับปรุงกฏหมายเกี่ยวกับเยาวชน ส่วนตัวแล้วเห็นด้วยและคิดว่าควรจะให้รูปแบบของอาญากรรมและพฤติกรรมเป็นตัวกำหนดโทษ มากกว่าการไปกำหนดตามอายุ เช่น หากเป็นคดีทั่วๆ อันนี้ก็ควรยังใช้กฏหมายเยาวชน และกำหนดโทษแบบเยาวชน แต่ถ้าเป็นคดีที่มีผลต่อชีวิต อย่าง ข่มขืน หรือฆ่าผู้อื่น หรือเป็นอาชญากรรมที่มีพฤติกรรมร้ายแรงสะเทือนขวัญแล้ว อันนี้ควรจะมาพิจารณาตามความเหมาะสมของโทษ ถ้าจะปฏิรูปตรงนี้คงต้องไม่เป็นไปตามหลักสากล แล้วกลับมาเป็นกฏหมายในรูปแบบของแต่ละประเทศ เหมือนอย่างในสิงคโปร์หรือมาเลเซีย ที่จะต้องรับโทษเท่าผู้ใหญ่

                เรื่องปฏิรูปนี้เห็นด้วย ต้องมองแบบเคสบายเคส และใช้หลักกฏหมายตามพฤติกรรม ตามคดีที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องของการไปกำหนดอายุ คือถ้าเป็นคดีธรรมดา ก็ให้โอกาสสำหรับความเป็นเยาวชน แต่หากเป็นคดีร้ายแรง อย่างปล้นฆ่า ข่มขืน หรือไปเผาบ้านเขา อันนี้ก็ต้องมาพิจารณาโทษที่เหมาะตามรูปแบบและพฤติกรรม เพื่อกำหนดโทษที่เหมาะสมเช่นกัน”

                ทั้งหมดเป็นมุมมองเกี่ยวกับข้อเสนอ หรือกระแสของโซเชียลมีเดียและกระแสสังคมที่สะท้อนผ่านคดีสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นที่พัทลุง ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้มีการลงโทษขั้นรุนแรง จากพฤติกรรมการก่อคดีที่ทารุณโหดร้าย ที่ตรงกันข้ามกับอายุของผู้ต้องหา ซึ่งยังคงเป็นเยาวชน

                สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นที่พัทลุง ไม่เพียงแต่เป็นคดีที่สะเทือนขวัญประชาชนและสังคมโดยทั่วไป แต่ยังเป็นคดีที่ปลุกให้ทุกฝ่าย ลุกขึ้นมาทวงถามว่าถึงเวลาแล้วหรือยัง สำหรับการการปฏิรูปกฏหมาย โดยเฉพาะกฏหมายเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ที่เริ่มมีพฤติกรรมรุนแรงมากยิ่งขึ้นในสังคมปัจจุบัน