ทำผิดแล้วย้าย ไม่ใช่การลงโทษ ตอบโจทย์ ดราม่าข้าราชการ (พลเรือน)

by ThaiQuote, 9 เมษายน 2559

เลยกลายเป็นคำถามตามมาทั้งในสังคมและในโลกโซเชียลมีเดียที่พากันสงสัยว่า ตกลงสำหรับข้าราชการและคนในกำกับของรัฐ (ที่เป็นพลเรือน) โทษ ย้ายมันร้ายแรงขนาดไหน เพราะที่ผ่านๆ มา เมื่อมีกรณีการกระทำความผิดของ ข้าราชการ หรือคนในกำกับของรัฐ (พลเรือน) โทษ ย้ายที่มาพร้อมๆ กับ คำว่า โทษทางวินัยมักถูกนำมาใช้ให้คลางแคลงใจเสมอ  กลายเป็นคำถามที่ว่า มันคืออะไร?

 อธิบายความเปรียบเทียบ เมื่อประชาชน ธรรมดาๆ กระทำผิดกฎหมาย ก็ย่อมจะต้องได้รับโทษทางกฎหมาย อาทิ จับ ปรับ รอลงอาญา หรือ จำคุก แต่สำหรับข้าราชการผู้ทรงเกียรติแล้ว ย่อมต้องมีโทษทางวินัยตามมา

โทษทางวินัยของ ข้าราชการ และคนในกำกับของรัฐ (พลเรือน) กำหนดตาม พรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2521 ตามมาตรา 88 ระบุว่า โทษทางวินัยนั้นมีอยู่ 5 สถาน คือ การภาคทัณฑ์ การตัดเงินเดือน และการลดเงินเดือนการปลดออก และไล่ออก กฎหมายระบุไว้เช่นนั้น

ส่วนในทางการพิจารณากำหนดโทษก็ แยกย่อยลงไป เป็นสองกรณี คือ โทษทางวินัยที่ไม่ร้ายแรง และโทษทางวินัยร้ายแรง ซึ่งโทษสำหรับความผิดไม่ร้ายแรงประกอบด้วย การภาคทัณฑ์ การตัดเงินเดือน และการลดเงินเดือน ส่วนโทษทางวินัยร้ายแรงประกอบด้วย การปลดออก และไล่ออก

เอาละสิ ที่นี่โทษ ย้าย ที่ได้ยินกันจนคุ้นหูนี่มันอยู่ตรงไหน เมื่อค้นลงไปหาลงไปแล้ว เชื่อมั้ยว่า โทษย้าย มันไม่มีหมายความว่า การย้าย อาจไม่ได้เป็นการลงโทษ อึ้งมั้ยหละ

คำถามที่ตามมา โดยเฉพาะที่เห็นกันบ่อยครั้งจนน่าเอือมระอา กับคนในโลกโซเชียลขี้สงสัย ที่เมื่อเกิดกรณีข้าราชการกระทำความผิดจนกลายเป็นข่าวครึกโครมว่า สั่งย้ายนั้นมันหมายความว่ายังไง เรื่องนี้ลองไปฟัง ก.พ.พูดกันดู ว่าเขาจะว่ายังไงกับ การ ย้าย ที่ จนถึงบรรทัดนี้ ไม่นับเป็นโทษ แล้ว การถูกสั่งย้ายนี่มันโหดร้ายทรมานจิตใจดราม่าเพียงใด “สำนักกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนหรือ กพ.ให้คำตอบดังนี้ “สำหรับข้าราชการพลเรือน ในสังกัดกพ.การโยกย้ายไม่ถือเป็นการลงโทษทางวินัย การโยกย้ายนั้นเกิดขึ้นได้แม้ยังไม่การกระทำผิด เป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชา ที่เห็นตามความเหมาะสม   หรือถ้าเป็นการย้ายที่เกิดจากการทำผิด อาจเป็นผลทางจิตใจเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องของโทษแต่อย่างใด

ส่วนย้ายแล้วจะเป็นอย่างไร อดีตข้าราชการท่านหนึ่งกล่าวว่า “การย้ายที่เกิดจากโทษนั้น จริงๆ ก็ไม่ได้ลำบากไม่ได้ดราม่าอย่างที่เข้าใจ เพียงแต่พ้นจากตำแหน่งหน้าที่เดิม ไปทำหน้าที่อื่น ซึ่งอาจไม่ถนัด และเป็นเรื่องของความน้อยใจและความลำบากใจมากกว่าจะเรียกว่าเป็นโทษ ก็เรียกได้ เพราะบางครั้งคนทำผิดก็จะถูกย้ายไปที่ๆ ไม่ถนัด สำคัญคือเรื่องนี้มีผลต่อขั้นและการเลื่อนลำดับซี

แต่บางครั้งการย้ายก็ไม่ได้เกิดจากการกระทำผิด แต่เป็นการย้ายตามความเหมาะสม ตรงนี้ก็เป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชา ที่สามารถพิจารณาได้”

หลายๆ ครั้งเมื่อเป็นข่าวการกระทำผิด และถูกสั่ง “ย้าย” จึงไม่ใช่การทำโทษ และการทำโทษเป็นเรื่องทางวินัยที่ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้พิจารณา

เมื่อเกิดการกระทำผิดร้ายแรงและมีโทษเพียง “ย้าย” ก็คงพอเข้าใจ ได้ว่า “ผู้บังคับบัญชา” มีดุลพินิจอย่างไร ซึ่งแม้แต่โทษทางวินัยล้วนๆ อย่าง “ปลดออก” หลายคนอาจยังไม่ทราบ ว่าที่สุดแล้วก็ยังมีสิทธิที่จะรับบำเน็จบำนาญได้

นี่แหละ โทษทางวินัย ของข้าราชการ ที่หลายๆ คนกังขา ว่าเป็นอย่างไร ฟังแล้ว อยากกลับไปสอบราชการกันมั้ย?

ที่มา : thaiquote