นายกฯใช้ “ศาสตร์พระราชา”แก้ผังน้ำ -ผังเมืองใต้

by ThaiQuote, 28 มกราคม 2560

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2560 ว่าสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่“รุนแรง”กว่าปกติ โดยรัฐบาลได้บูรณาการทั้งหน่วยงานและงบประมาณให้มีการบริหารจัดการที่ประสานสอดคล้องกัน ตั้งแต่ระดับนโยบายลงไปจนถึงระดับปฏิบัติในพื้นที่ บริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีทิศทางที่ชัดเจน ที่มุ่งไปสู่ “กลุ่มเป้าหมาย” ทุกประเภท ตามความเร่งด่วน, ความสำคัญ ทั้งนี้“ในเบื้องต้น” ประชาชนต้องปลอดภัย, การติดต่อสื่อสารจะต้องไม่ถูกตัดขาด,  อาหาร – น้ำดื่มต้องไม่ขาดแคลน,  เครื่องนุ่งห่ม-ยารักษาโรคและสิ่งของที่จำเป็นต้องได้รับการแจกจ่ายอย่างทั่วถึง จากนั้น “ลำดับต่อมา”เมื่อประชาชนเริ่มช่วยตัวเองได้ ต้องสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ประกอบอาชีพ ทำมาหากินได้ ในเวลาต่อมา โดยโครงสร้างพื้นฐานทุกระบบต้องได้รับการบูรณะให้สามารถใช้การได้ ทั้งถนนหนทาง สะพาน รถไฟ สนามบิน ไฟฟ้า / ประปา การสื่อสาร เป็นต้น ทั้งนี้จะเป็นการดำเนินการในระยะสั้น “เร่งด่วน” ทั้งสิ้น ภายใต้รูปแบบการทำงานร่วมกัน ตามแนวทาง “ประชารัฐ” ขณะเดียวกันตนได้กำชับกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ส่วนหน้า) และเจ้าหน้าที่ว่าต้องมีความพร้อมอยู่เสมอหากจะมีอุทกภัยเกิดขึ้นอีกช่วงนี้ งานที่สำคัญคือการฟื้นฟูทั้งบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย พื้นที่การเกษตร, อุตสาหกรรม ฯลฯ ให้เร็ว เพื่อสร้างความยั่งยืน ในระยะต่อไป สำหรับการดำเนินการในระยะยาวและยั่งยืนนั้น รัฐบาลได้น้อมนำแนวทางการแก้ปัญหาซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้มาเป็นแนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยพิจารณาจากข้อมูลพื้นฐาน – ข้อเท็จจริงที่เป็นจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุง - แก้ไขปัญหาเดิมให้ถูกต้องเป็นไปตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยอีกโดยใช้วิกฤตินี้เป็นโอกาสในการปรับ “ผังเมือง ผังน้ำ ผังการคมนาคม” ให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อกัน และไม่ฝืนธรรมชาติ ให้ทุกอย่างเป็นไปตามหลักวิชาการ และหลักตามธรรมชาติ ซึ่งการแก้ปัญหา “น้ำท่วม” นั้นจะต้องไม่สร้างปัญหาเรื่องภัยแล้งตามมาด้วย ขณะที่ “ศาสตร์พระราชา” สอนให้เราอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างปกติสุข ซึ่งเราจะต้องดูแลตั้งแต่ป่าบนภูเขา ทั้งป่าต้นน้ำ รักษาสมดุลระบบนิเวศ และช่วยป้องกันน้ำป่า ไฟป่าลงมาตามเส้นทางน้ำ, แม่น้ำ แหล่งน้ำ แล้วไปสู่ทะเล หากเรามีวินัย  “เดินตามรอยพระบาท” อย่างเคร่งครัด ตั้งแต่ “ต้นทางน้ำ กลางทาง ปลายทางน้ำ” เราก็จะห่างไกลจาก “น้ำท่วม/น้ำแล้ง” ได้อย่างยั่งยืน ในส่วนของเรื่อง“ผังเมือง”ถ้านำอุทาหรณ์จากน้ำท่วมภาคใต้ครั้งที่แล้ว มาพิจารณาถึงความไม่สอดคล้องกันแล้ว จะเห็นว่า “ธรรมชาติกับสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น” หรือ “ผังน้ำกับผังเมือง” นั้น เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤติมากกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อการถือครองที่ดินการใช้ประโยชน์ทางการเกษตร - อุตสาหกรรม รวมทั้งการขยายตัวของชุมชน “แบบไร้การควบคุม”ไม่เป็นระเบียบ ไม่เป็นไปตามแบบแผนตามหลักวิชาการผังเมืองที่สำคัญก็คือ “ผิดกฎหมาย” และสิ่งปลูกสร้าง เส้นทางคมนาคม ทั้งทางถนน ทางราง ที่กีดขวางเส้นทางการไหลของน้ำ จากแนวเขา ลงสู่ทะเล ซึ่งเป็นภูมิศาสตร์ ที่ไม่อาจแก้ไขได้ ดังนั้นเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องวางแผน วางผังเมือง, ผังชุมชน ให้สอดคล้องเหมาะสม 10 กว่าปี ก่อนที่รัฐบาลนี้จะเข้ามาบริหารประเทศมีการประกาศใช้ “ผังเมืองรวม” เฉลี่ยแล้วเพียง 12 ผังต่อปี ทำให้เรามีผังเมืองรวมของจังหวัด เพียง 19 จังหวัด “ทั่วประเทศ”  แต่ 2 ปีกว่าของรัฐบาลนี้มีการประกาศใช้ “ผังเมืองรวม” เฉลี่ย  39 ผังต่อปี ทำให้ปัจจุบัน  49 จังหวัด มีการประกาศใช้ผังเมืองรวมแล้ว และ จะดำเนินการให้ “ครบถ้วน” ภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ สิ่งนี้ได้แสดงถึงการทำงานอย่างมีวิสัยทัศน์และมียุทธศาสตร์  เนื่องจากผังเมืองนั้นไม่เพียงส่งผลกระทบต่อ “ผังน้ำ” แต่มีความเชื่อมโยงกับการ “โซนนิ่ง”พื้นที่คือการใช้พื้นที่ของชุมชน-เมืองและประเทศ อย่างมีประสิทธิภาพ  พื้นที่ต่าง ๆ ต้องไม่รบกวนและไม่สร้างปัญหาซึ่งกันและกัน ซึ่งในภาพรวมจะเห็นว่ามีพื้นที่การค้า การลงทุน – เมืองท่า – เมืองชายแดน – เมืองท่องเที่ยว – กลุ่มจังหวัด – เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 แห่ง ทั้งหมดนี้จะต้องเชื่อมโยงกันในเรื่องของการเดินทางของแรงงาน – การขนส่งสินค้า – การเคลื่อนย้ายประชาชน – การสัญจรของนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทั้งหมดนี้ เป็น “โจทย์” ที่เกี่ยวข้องกับผังเมืองรวม ของทั้งประเทศ ที่ส่งผลกระทบทั้งมิติสังคม – เศรษฐกิจ – ความมั่นคง – และสิ่งแวดล้อม “โดยรวม” อย่างไรก็ตามการวางแผนระบบโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการคมนาคมของประเทศ ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ  ที่เกี่ยวข้องกับการกระจายความเจริญ จากเขตเมืองสู่ท้องถิ่น  เกี่ยวข้องกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน  ซึ่งตนอยากให้ทุกคนได้เข้าใจ ตระหนัก และร่วมมือกับรัฐบาล ในการจะเดินหน้าประเทศ ในการแก้ไขสิ่งที่ผิด ให้ถูกต้อง เสียตั้งแต่วันนี้  โดยถือว่าเรื่องดังกล่าวนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการก้าวสู่ ประเทศไทย 4.0 ด้วยกันต่อไป
Tag :