ปลุกชีพ แดนสนธยา “ตลาดนัดจตุจักร” หลัง “เจเจ กรีน” กำลังปิดตัว

by ThaiQuote, 8 กันยายน 2561

ThaiQuote เกาะติดเบื้องหลังการประท้วงดังกล่าว ที่ผ่านมา “ตลาดนัดจตุจักร” คือ แดนสนธยา แหล่งแสวงหาผลประโยชน์ของกลุ่มการเมือง มาเฟีย ข้าราชการ พื้นที่แห่งนี้มีค่ามหาศาลในทุกตารางเมตร ทั้งจากค่าแป๊ะเจี๊ยะ ค่าบริหารจัดการ ค่าเช่าพื้นที่ ในยุคหนึ่งที่แผงค้าขนาดไม่กี่ตารางเมตร ซึ่งกทม.จัดเก็บรายได้เข้าส่วนกลางในราคาเดือนละไม่กี่ร้อยบาท แต่กลับมีการให้เช่าช่วงในราคาหลักพันถึงหมื่น ในขณะที่การเซ้ง ขายต่อพุ่งสูงในราคาหลักล้านบาท ส่วนแผงค้ารอบจตุจักรนั้นในอดีตก็เคยเป็นสัมปทานของนักการเมืองท้องถิ่นกรุงเทพฯ ที่จัดสรรพื้นที่ให้ผู้ค้าแบกะดิน เช่าขายในราคาหลักร้อยบาท นี่จึงเป็นเหตุหนึ่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ดำเนินการขอคืนพื้นที่จาก กทม. และเข้ามาบริหารจัดการ จับใส่ตะกร้าล้างน้ำใหม่   เมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เข้ามารับไม้ต่อ สิ่งที่ตามมาคือ การจัดระเบียบแผงค้า พร้อมปรับอัตราค่าเช่าใหม่ ในราคา 3,157 บาท ปัญหาที่ตามมาคือ แผงค้าปูผ้าแบกะดินบริเวณโดยรอบตลาดนัดยังคงอยู่เช่นเดิม นี่คือเหตุผลสำคัญที่ผู้ค้าเดิมซึ่งมีแผงค้าประจำในโครงการรับไม่ได้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวจะเดินซื้อสินค้าเฉพาะโครงการซึ่งอยู่ริมถนนโดยรอบโครงการเท่านั้น ส่วนพื้นที่ในโครงการที่อยู่ลึกเข้าไปข้างในกลับร้างผู้คน น.ส.นฤมล แซ่หุ้น ประธานสหกรณ์บริการผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา การเปิดให้เช่าพื้นที่แผงปูผ้าแบกะดิน เป็นปัญหาของผู้ค้ามาโดยตลอด เนื่องจากนักท่องเที่ยวจะเดินเฉพาะพื้นที่ริมถนนโดยรอบตลาดเท่านั้น ส่วนภายในพบว่ามีคนเดินบางตา หรือแทบจะไม่มี ทำให้ผู้ค้าจำนวนหนึ่งไม่สามารถรับภาระทั้งค่าเช่า และค่าใช้จ่ายอื่นๆได้ และปิดตัวธุรกิจลงแล้วจำนวนหลายราย   “ที่ผ่านมาผู้ค้าได้ออกมาเรียกร้องให้ รฟท. จัดการกับปัญหาดังกล่าว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า มีเจ้าหน้าที่ของ ร.ฟ.ท. ได้เชิญชวนให้ผู้ค้าตลาดนัด เจเจ กรีน เข้ามาจับจองแผงค้าแบกะดินที่กำลังจะเปิดให้เช่าใหม่ในพื้นที่บริเวณถนนรอบโครงการฯ รวมถึงบริเวณที่เรียกว่า “ซุ้มไก่ชน” ตรงข้ามกับโครงการ 9 รวมทั้งการเปิดประตูเชื่อมต่อพื้นที่จอดรถ ข้างหลังตลาดฝั่งถนนกำแพงเพชร เพื่อเชื่อมต่อกับอาคารพาณิชย์ของภาคเอกชน ที่กำลังจะเปิดให้เช่าพื้นที่ขายของแห่งใหม่ โดยประกาศว่าเป็นพื้นที่เดียวกันกับตลาดนัดจตุจักร ซึ่งอาจกลายเป็นการซ้ำเติมปัญหาเดิมที่มีอยู่แล้ว”   ด้านแหล่งข่าวจากกองอำนวยตลาดนัดจตุจักรการรถไฟฯ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการร้องเรียนจากผู้ค้าเป็นจำนวนมาก ทั้งเรื่องของราคาค่าเช่าแผงค้าที่รวมกับค่าบริหารจัดการ ซึ่งมีราคาสูงไม่เหมาะสม และกรณีการเปิดพื้นที่ให้ผู้ค้าแบกะดินสามารถขายของได้ทั่วบริเวณถนนรอบโครงการทั้งในช่วงกลางวัน-กลางคืน โดยมีอัตราค่าเช่าแผงละ 200 บาท ซึ่งพบว่าขณะนี้มีจำนวนแผงค้าแบกะดินมากถึงกว่า 2,500 แผงค้า “เมื่อตลาดนัด เจเจ กรีน กำลังปิดตัวลง และมีเจ้าหน้าที่บางรายต้องการนำผู้ค้าจาก เจเจ กรีน ที่ยังหาพื้นที่ขายของไม่ได้ เข้ามาจับจองพื้นที่ คาดว่าจะทำให้มีแผงค้าใหม่รวมกับแผงค้าแบกะดินเดิมสูงขึ้นถึงกว่า 3,000 แผงค้าเลยทีเดียว ซึ่งที่ผ่านมานั้นรายได้จากส่วนนี้มีคนมีสีเป็นผู้จัดสรรปันส่วนแบ่งรายได้ในกลุ่มพรรคพวก ขณะที่กรณีของการเปิดประตูเชื่อมพื้นที่จอดรถเดิมนั้น คาดว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับอาคารใหม่ที่กำลังประกาศให้เช่าพื้นที่ขายของในขณะนี้”   นี่คืออีกหนึ่งของความเคลื่อนไหวของ ตลาดนัดจตุจักร ตลาดนัดซึ่งได้ชื่อว่าเป็นตลาดนัดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งภาพในอดีตของการเป็น “แดนสนธยา” กำลังจะปรากฎชัดขึ้นอีกครั้ง แม้จะมีการเปลี่ยนหน่วยงานเข้ามาบริหารแล้วก็ตาม หากภาครัฐยังคงนิ่งเฉย ปล่อยให้ปลาเน่าเพียงไม่กี่ตัวยังคงว่ายวนหาผลประโยชน์อยู่ อันดับแรกคือพ่อค้าแม่ค้าที่ทำตามระเบียบจะล้มหายตายจากไป ที่สำคัญกลุ่มคนเหล่านี้คือ ผู้ปะกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งนำผลิตภัณฑ์จากวิสาหกิจชุมชนต่างๆทั่วประเทศมาจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวทั่วโลก ส่วนผลกระทบในระยะยาวคือการแปรสภาพความเป็น “จตุจักร” ที่จะถูกกลืนจะหายไปตลอดกาล