กทม. คุมจตุจักร เรื่องเดิมๆ เช่าช่วง-แผงลอยเถื่อน

by ThaiQuote, 16 กันยายน 2561

น.ส.นฤมล แซ่หุ้น ประธานสหกรณ์บริการผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร เปิดเผยว่า จากกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีคำสั่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ดำเนินการคืนพื้นที่ตลาดนัดจตุจักร เพื่อให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เข้ามาบริหารจัดการดูแลแทน พร้อมทั้งพิจารณาลดราคาค่าเช่าจากเดิม 3,157 เหลือ 1,800 บาท ซึ่งผู้ค้ารู้สึกยินดีกับคำสั่งดังกล่าว จึงได้ออกมารวมตัวขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่เห็นใจผู้ค้า โดยที่ผ่านมาหลายคนได้รับความเดือดร้อนจากค่าเช่าที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน เมื่อ กทม.เข้ามาบริหารนั้น สิ่งที่ผู้ค้าต้องการให้มีการดำเนินการในระยะเร่งด่วน คือ เรื่องของการดูแลความสะอาดในพื้นที่ตลาดนัด และการจัดระเบียบแผงค้าโดยรอบถนนภายในตลาด ซึ่งเป็นแผงค้าที่ตั้งขึ้นอย่างไม่ถูกต้อง ขณะที่ผู้สื่อข่าว รายงานว่า ล่าสุด ประเด็นเรื่องของการโอนย้ายตลาดนัดจตุจักร จาก รฟท.คืนกลับให้กับ กทม.เข้ามาบริหารนั้น คาดว่าจะถูกบรรจุอยู่ในวาระการประชุม ครม.สัญจร เพชรบูรณ์-เลย ในวันที่ 18 ก.ย.61 นี้ อย่างไรก็ตาม เรื่องของการเช่าช่วงแผงค้าถาวร(แผงค้าในโครงการ) และการจัดระเบียงแผงค้าเถื่อนดังกล่าว ความจริงแล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะมีขึ้นในสมัย รฟท.เข้ามาบริหาร แต่อยู่คู่ตลาดนัดจตุจักรมาตั้งแต่เริ่มต้นยุคเปลี่ยนแปลงตลาดปูผ้าสนามหลวง สู่เวิ้งพหลโยธิน ผู้ค้ารายหนึ่งเปิดเผย กับ Thaiquote ว่าอัตราการเช่าช่วงยุคเฟื่องฟู เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว อยู่ในราคา 10,000-50,000 บาท ซึ่งราคาค่าเช่าแผงของกทม.ในขณะนั้นอยู่ที่หลักร้อยถึงหลักพันบาท ขณะที่ปัจจุบัน ราคาอาจสวิงขึ้นลงบ้างในระยะแรกที่รถไฟเข้ามาบริหารแต่ก็อยู่ในระดับอัตราเดียวกัน “ราคาการค่าเช่าช่วงดังกล่าว เป็นราคาที่ถือเป็นมาตรฐานของตลาดนัดจตุจักร อย่าคิดว่าพ่อค้าแม่ค้าที่นี่จน หลายคนเป็นเจ้าของกิจการส่วนตัว หลายคนอยู่มานานเป็นเจ้าของแผงค้า20-30 แผงค้า โดยใช้ชื่อตนเอง ชื่อเครือญาติในการถือสิทธิ์แผงค้า เมื่อ ร.ฟ.ท.เข้ามาบริหารใหม่ๆ มีการเคลียร์แผงค้าแล้วขึ้นทะเบียนใหม่ แต่นายทุนแผงค้าก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม” สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น คือ การเรียกมาขึ้นทะเบียนของ ร.ฟ.ท.ก็แค่อยากทำความรู้จักนายทุนที่มีอยู่เดิมเท่านั้น ส่วนราคาค่าเช่าที่คนนอกคิดว่าแพงเกินไปหรือไม่ ต้องคิดใหม่ เพราะที่นี่คือ ตลาดนัดจตุจักร ทุกเดือนจะมีแมงเม่าพร้อมบินเข้ามาเล่นไฟ มีคนพร้อมคว้าโอกาสการขายของในตลาดนัดที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ตลอดเวลา ส่วนประเด็นเรื่องของการเข้ามาบริหารอีกครั้งของ กทม. นั้น ผู้ค้าคนเดิมได้กล่าวว่า “กรณี กทม.ผมใช้คำว่า ไม่ต้องพูดเยอะ กทม.และผู้ค้าต่างรู้ไส้รู้พุงกันดีอยู่แล้ว คุณจ่ายค่าเช่าครบ ผมเก็บค่าเช่าได้ คุณทำตัวดี อยากได้อะไรผมจัดให้ ข่าวว่าราคาค่าเช่ารอบใหม่ที่ กทม.ต้องจ่ายให้ การรถไฟฯ วงเงิน 90 ล้านบาทต่อปี ราคานี้อาจสูงเกินไปสำหรับคนอื่น แต่ความจริงแล้ว กทม.เคยเสนอในช่วงที่จะเปลี่ยนแปลงจากบริหารเป็น ร.ฟ.ท. ถึง 120 ล้านบาทเลยทีเดียว ราคา 90 ล้านบาทจึงดูไม่มากจนเกินไป” ผู้ค้ารายเดิมกล่าว ขณะที่แหล่งข่าวอดีตเจ้าหน้าที่ของกองอำนวยการตลาดนัดจตุจักร กทม.กล่าวว่า กทม.รู้วิธีทำรายได้จากตลาดจตุจักรแทบจะทุกซอกทุกมุม บัญชีรายรับปกติ อาจดูไม่มากนักหากนับรวมแค่แผงค้า แต่ตลาดนัดจตุจักรในยุคที่อยู่ใต้ร่มพรรคการเมือง สามารถทำเงิน จนมีงบลับมูลค่ามากถึง 90 ล้านบาท ในส่วนของแผงค้าบริเวณโดยรอบถนนภายในตลาดนัด แหล่งข่าวคนเดิมได้แสดงความคิดเห็นว่า "คุณรู้หรือไม่ว่า การรถไฟฯเอาวิธีคิดนี้เรื่องนี้มาจากไหน ก็มาจากกทม.ทั้งนั้น ผมไม่ได้ว่าการรถไฟคิดไม่เป็นนะ แต่วิธีการอย่างนี้ กทม.ชำนาญกว่า ความมันแดง เพราะการรถไฟทำไม่เนียนเท่า กทม.ก็แค่นั้น” โดยสรุปแล้ว หาก กทม.กลับเข้ามาบริหารในครั้งนี้ โจทย์ยากที่ พล.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน คือการแก้ไขปัญหาของการเช่าช่วง ที่จะต้องจริงจัง การจัดการกับแผงค้าแบกะดิน ที่มีอยู่โดยรอบภายในตลาดนัด แน่นอนต้องเน้นย้ำที่เรื่องของการบริการงานอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้เท่านี้พ่อค้าแม่ค้าหลายคนก็พร้อมที่จะเทใจให้กับท่านแล้ว
Tag :