'รสนา' อัด “ป.ป.ช อย่าเป็นองค์กรฟอกผิดให้นักการเมือง”

by ThaiQuote, 3 กุมภาพันธ์ 2562

วันนี้ (3 ก.พ.62)น.ส. รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.ได้โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊กของตนเองเพื่อเรียกร้องให้“ป.ป.ช อย่าเป็นองค์กรฟอกผิดให้นักการเมือง” โดยใจความของเนื้อหามีดังนี้

จากกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวบรรยายเรื่อง นโยบายระดับประเทศและการปฏิรูปประเทศ ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในงานเปิดโครงการอบรมหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) รุ่นที่ 10 เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 62 นายวิษณุ กล่าวยกตัวอย่างความหมายของการทุจริต ที่ประชาชนมักสับสน ซึ่งได้อ้างอิงกรณีนาฬิกาว่า

”หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องของการทุจริต แต่กฎหมายได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน แต่หากไม่ยื่น ก็ไม่ทุจริต แต่ผิดที่ไม่ได้ยื่น ซึ่งการโยงไปสู่การทุจริตหรือไม่ สุดท้ายเป็นเรื่องของการสืบสวนสอบสวน”

คดียืมนาฬิกาเพื่อนตามที่นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องการทุจริต แค่ผิดเพราะไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินเท่านั้น นายวิษณุคงไม่ได้ติดตามข่าวที่ว่า ป.ป.ช เสียงข้างมาก 5:3 ได้มีมติยุติการสอบสวนไปแล้ว และมีมติว่านาฬิกาที่พล.อ ประวิตรสวมใส่ 20 กว่าเรือนนั้นยืมเพื่อน และเมื่อยืมเพื่อนก็ไม่ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน เป็นอันไม่มีความผิดจากการไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สิน เหลือเพียงแต่ว่าป.ป.ช จะมีมติให้มีความผิดฐานรับผลประโยชน์อื่นใดที่คำนวณเป็นเงินเกิน 3,000บาทหรือไม่เท่านั้น ใช่หรือไม่

การสอบสวนของป.ป.ช ถูกตั้งคำถามว่าเป็นการฟอกผิดให้พล.อ ประวิตรหรือไม่ ด้วยประเด็นดังต่อไปนี้

1)การสอบสวนคดีนาฬิกาจะโยงไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือไม่นั้น ประการแรก ป.ป.ช ต้องไม่เชื่อว่านาฬิกาเหล่านั้นเป็นการยืมจริง แต่เป็นทรัพย์สินของพล.อ ประวิตร วงษ์สุวรรณ ถ้าแนวการสืบสวนเป็นไปในทิศทางนี้ ก็อาจจะสามารถสืบสวนสอบสวนลงลึกว่าการไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน อาจจะเข้าข่ายเป็นการทุจริต รับสินบน ซึ่งเป็นเหตุให้ร่ำรวยผิดปกติได้ ใช่หรือไม่

แต่เพราะป.ป.ช ตั้งธงเชื่อว่านาฬิกาเหล่านั้นไม่ใช่ของพล.อ ประวิตร แต่เป็นนาฬิกาที่ยืมจาก นายปัฐวาท ทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานใดๆ ที่บ่งชี้ได้ว่านาฬิกาดังกล่าวเป็นของนายปัฐวาท ที่เสียชีวิตไปแล้ว ใช่หรือไม่

ป.ป.ช ได้ใช้อำนาจปัดคดีดังกล่าวออกไปจากสารบบการตรวจสอบ ทั้งที่นาฬิกาดังกล่าวถูกนำเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย และพล.อประวิตรไม่สามารถหาหลักฐานมาแสดงจนสิ้นสงสัยว่านาฬิกาเหล่านั้นไม่ใช่ของตน ซึ่งป.ป.ช ต้องสอบสวนต่อไปว่านาฬิกาเหล่านั้นเกี่ยวพันกับการรับสินบน หรือร่ำรวยผิดปกติหรือไม่

2)เมื่อป.ป.ช เชื่อว่านาฬิกาไม่ใช่ทรัพย์สินของพล.อ ประวิตร แต่ยืมคนอื่นมาใช้ และตัดสินว่าการยืมไม่ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งน่าจะเป็นมติที่ขัดต่อวิธีการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ป.ป.ช เคยวางระเบียบเอาไว้ว่า ทรัพย์สินที่มาจากการกู้ยืมแม้ไม่ใช่การยืมที่เป็นเป็นทางการก็ต้องแจ้ง ใช่หรือไม่

นาฬิกามูลค่ากว่า30ล้านบาทที่พล.อ ประวิตรครอบครองอยู่ หากเป็นการยืม ก็ต้องแจ้ง เพราะการยืมทำให้เกิดทั้งทรัพย์สินและหนี้สินในเวลาเดียวกัน เช่นการกู้ยืมเงินมา30ล้านบาท ก็ต้องลงบัญชีในฝั่งทรัพย์สิน 30ล้านบาท และลงบัญชีในฝั่งหนี้สิน 30ล้านบาท ก็เป็นการหักลบทรัพย์สินและหนี้สินออกไป ใช่หรือไม่

ขอให้ดูตัวอย่างคดีหนี้สิน 45 ล้านบาทของพล.ต สนั่น ขจรประศาสตร์ ที่ป.ป.ช ในอดีตไม่เชื่อว่ามีการกู้ยืมจริง และป.ป.ชได้สืบสวนจนพบว่าบริษัทที่อ้างว่าให้พล.ต สนั่น กู้ 45 ล้านบาทนั้น ไม่ได้มีการลงบัญชีให้กู้ในงบดุลของบริษัทแต่อย่างใด พล.ต สนั่นจึงถูกตัดสินว่าจงใจแจ้งบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินเป็นเท็จ มีผลให้ถูกตัดสิทธิการดำรงตำแหน่ง5ปี

เมื่อนาฬิกามูลค่า 30 ล้านบาทอยู่กับพล.อ ประวิตรย่อมเป็นทรัพย์สินที่ครอบครองอยู่ หากจะอ้างว่าไม่ใช่ทรัพย์สินของตน ก็ต้องหาหลักฐานมาแสดงจนสิ้นสงสัยว่านาฬิกาเหล่านั้นเป็นของใคร หากหาหลักฐานไม่ได้ นาฬิกาเหล่านั้นก็ยังเป็นทรัพย์สินของพล.อ ประวิตร ที่เป็นความผิดฐานปกปิดการแจ้งทรัพย์สิน และหนี้สิน และยังอาจจะนำไปสู่การสอบสวนในเรื่องความร่ำรวยผิดปกติต่อไปได้ ใช่หรือไม่

การที่ป.ป.ช ตั้งธงคดีนี้ว่านาฬิกาทั้งหมดไม่ใช่ทรัพย์สินของพล.อ ประวิตร แต่เป็นทรัพย์สินที่ยืมมา และใช้อำนาจปิดคดีโดยไม่ตรวจสอบต่อ และยังใช้อำนาจเกินเลยหรือไม่ ที่ชี้สวนทางกับกฎหมายและระเบียบการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินว่าถ้าเป็น”การยืม” ก็ ”ไม่ต้องแจ้ง”นั้น จะถือได้หรือไม่ว่าเป็นการปัดคดีเพื่อฟอกผิดให้พล.อ ประวิตร ทั้งในฐานความผิดที่ปกปิดการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และยังเป็นการยุติการสืบสวนต่อไปในคดีร่ำรวยผิดปกติ ที่มีทั้งโทษจำและโทษปรับรวมทั้งการตัดสิทธิการดำรงตำแหน่งทางการเมือง5ปี อีกด้วย ใช่หรือไม่

3)ป.ป.ช ตั้งธงปัดคดีนี้ให้อย่างสุดลิ่ม แม้ว่าไม่มีหลักฐานใดๆบ่งชี้ว่านาฬิกาที่นำเข้ามาโดยผิดกฎหมายเป็นของใคร แต่ป.ป.ชก็ช่วยอธิบายให้เสร็จสรรพว่าที่เชื่อว่านาฬิกาทั้งหมดเป็นของนายปัฐวาท เพียงเพราะว่านายปัฐวาทเป็นนักสะสมนาฬิกา และมีนาฬิกาจำนวนมากอยู่ในบ้านโดยไม่มีหลักฐานอื่นใดที่บ่งบอกว่านาฬิกา19-22เรือนนั้นเป็นของนายปัฐวาททั้งหมด ใช่หรือไม่

คนตายแล้วย่อมพูดไม่ได้ ทำให้ป.ป.ช สามารถโยนบาปให้นายปัฐวาทว่าเป็นผู้นำเข้านาฬิกาโดยผิดกฎหมาย และให้พล.อ ประวิตร ยืมไปใส่เป็นปีๆ แม้ตายแล้วก็ไม่ต้องคืน เพราะทายาทไม่พร้อมรับคืน ป.ป.ช ออกตัวมาชี้แจงสังคมแก้แทนให้ โดยขาดความสำนึกว่าองค์กรของตนถูกตั้งขึ้นมาเพื่อตรวจสอบผู้ใช้อำนาจรัฐมิให้ใช้อำนาจในการทุจริตประพฤติมิชอบ ใช่หรือไม่

ถ้านายปัฐวาทมีชีวิตอยู่ย่อมมีความผิดทั้งทางอาญาที่ลักลอบนำเข้านาฬิกาโดยไม่เสียภาษี ที่ต้องถูกลงโทษทั้งจำและปรับตามพรบ.ศุลกากร 2469 มาตรา27 และนาฬิกาทั้งหมดต้องถูกยึดให้ตกเป็นของแผ่นดิน แม้นายปัฐวาทเสียชีวิตไปแล้ว แต่ชื่อเสียงที่เสียหายย่อมตกเป็นของครอบครัวนายปัฐวาท ใช่หรือไม่

4)แม้ป.ป.ช จะปัดคดีด้วยเหตุผลที่รับฟังไม่ขึ้นและขัดต่อสามัญสำนึกของวิญญูชนแล้ว แต่การยืมนาฬิกาที่มีมูลค่าเรือนละเป็นแสนเป็นล้านบาทมาสวมใส่เป็นปีๆ ย่อมเข้าข่ายเป็นการรับผลประโยชน์อื่นใดที่คำนวณเป็นเงินเกิน 3,000 บาทหรือไม่ ควรที่ป.ป.ช จะมีมติประเด็นนี้ได้อย่างรวดเร็ว ใช่หรือไม่

แต่ป.ป.ช ก็ไม่ตัดสินในประเด็นนี้ และปล่อยเวลาล่วงเลยเป็นเวลากว่า1ปี แล้ว ทั้งที่การพิจารณาเรื่องการรับประโยชน์อื่นใดเกิน3,000บาทหรือไม่นั้น ไม่ใช่ประเด็นซับซ้อน แต่ก็มีการถ่วงเวลานานเกินสมควร แสดงถึงความไร้ประสิทธิภาพและทำงานไม่คุ้มค่าเงินเดือนสูงๆที่ประชาชนจ่ายให้ ใช่หรือไม่

และย่อมทำให้เกิดข้อสงสัยต่อมาว่าคนเหล่านี้ถูกคสช.ต่ออายุให้เป็น ป.ป.ช ต่อไป ทั้งที่มีคุณสมบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญที่คสช.ให้ยกร่างขึ้นมานั้น จะมิกลายเป็นว่าการตั้งคนเหล่านั้นให้อยู่ในอำนาจต่อไปเพื่อมาใช้อำนาจขององค์กรปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพื่อปกป้องและฟอกผิดให้ผู้มีอำนาจไม่ต้องรับผิด หากมีการกระทำความผิด ใช่หรือไม่