กกต.สั่งสอบ ทษช.เทคะแนน-ชวนโหวตโน ส่อผิดกม.

by ThaiQuote, 13 มีนาคม 2562

ประธาน กกต. สั่งสอบ อดีตผู้สมัคร ส.ส. ไทยรักษาชาติ ประกาศเทคะแนนให้ผู้สมัครรายอื่น รณรงค์ โหวตโน ส่อผิดกฎหมายเลือกตั้ง ขี้เป็นการครอบงำชี้นำ ชักจูง จูงใจให้ลงคะแนน

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.เปิดเผยถึงการเคลื่อนไหวของแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) หลังถูกยุบพรรค ที่มีการเดินสายจัดเวทีปราศรัยทั่วประเทศ ว่าความจริงแล้วความเป็นพรรคการเมืองได้สิ้นสุดลงไปแล้ว การดำเนินการใดๆ ก็ต้องดูกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเลือกตั้งคงไปบังคับใช้ไม่ได้มากเพราะไม่ได้อยู่ฐานะที่เป็นผู้สมัครหรือพรรคการเมืองแล้ว แต่ก็ยังมีกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องและต้องปฏิบัติตาม ส่วนในประเด็นอื่นๆ และประเด็นความมั่นคงมีหน่วยงานอื่นๆ ดูแลอยู่แล้ว

สำหรับที่อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติมีการประกาศเทคะแนนให้แกผู้สมัครรายอื่นนั้น ที่ประชุม กกต.ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าเข้าลักษณะเป็นความปรากฏต่อ กกต. ที่ประชุมจึงได้ขอให้เลขาธิการ กกต. หรือสำนักงาน กกต. แต่งตั้งคณะสืบสวนไต่สวนฯ เรียบร้อยแล้วรวมถึงการรณรงค์ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งโหวตโน ซึ่งอาจจะเข้าข่ายความผิด เพราะการรณรงค์โหวตโน ขอคะแนน เทคะแนนทำไม่ได้

“กฎหมายห้ามไว้ชัดว่าจะต้องให้ผู้ใช้สิทธิตัดสินใจเลือกเอง ห้ามชักจูงชี้นำ จะบอกให้ใครทำอย่างนั้นอย่างนี้ไมได้ ส่วนจะเป็นความผิดของใครระหว่างผู้ให้และผู้สมัครที่ได้คะแนน ก็ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน ซึ่งการกระทำใดครอบงำชี้นำ ชักจูง จูงใจ สิ่งที่บัญญัติไว้ในกฎหมายมีอยู่แน่ๆ ถือเป็นความผิด การกระทำใดที่อาจเป็นความผิด เราต้องตรวจสอบและหากเข้าข่ายก็ต้องดำเนินการ”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อเป็นการครอบงำ ชี้นำ ก็เข้าข่ายความผิดนำไปสู่การยุบพรรคหรือไม่ นายอิทธิพรกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและการกระทำ แต่เราไมได้ตั้งเป้าที่จะไปทำถึงขนาดนั้น โดยจะดูเนื้อหาเป็นหลัก ซึ่งในกรณีนี้ไม่ต้องมีการร้อง เพราะเป็นความปรากฏต่อ กกต.แล้วและก็ได้ให้สำนักงานตั้งคณะกรรมการสอบหากในต่างจังหวัดพบว่ามีความผิดในลักษณะเป็นความปรากฎ กกต.ก็สามารถสั่งตั้งกรรรมการสอบได้เป็นรายจังหวัด

นายอิทธิพร ยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีองค์กรเอกชนต่างประเทศอย่างน้อย 2-3 องค์กรยื่นหนังสือขอสังเกตการณ์การเลือกตั้งเช่น มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย รวมถึงองค์กรด้านการเลือกตั้งของหลายประเทศ โดยหากเข้ามาสังเกตการณ์และยอมปฏิบัติตามกฎหมายไทยก็คงไม่มีปัญหา ส่วนสหภาพยุโรปที่เคยมีข่าวว่าไม่ได้รับการอนุมัติให้เข้ามาสังเกตการณ์ ขอชี้แจงว่าองค์กรดังกล่าวไม่ได้ทำเรื่องขอเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ