เบื้องหลังการต่อสู้“มรดกโลก เขาพระวิหาร”

by ThaiQuote, 16 มีนาคม 2562

มหากาพย์ “มรดกโลก เขาพระวิหาร” ปมความขัดแย้งไทย-กัมพูชาเกือบ 50 ปี ยุติลงได้ด้วยการอนุรักษ์และพัฒนาร่วมกันเพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศ ตลอดจนไทยได้อธิปไตยดินแดน “ภูมะเขือ” หนึ่งผู้อยู่เบื้องหลังการต่อสู้ครั้งสำคัญคือ นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย

คดีปราสาทพระวิหาร เป็นความขัดแย้งระหว่างราชอาณาจักรกัมพูชากับราชอาณาจักรไทย ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2501 จากปัญหาการอ้างสิทธิเหนือบริเวณปราสาทพระวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ที่ชายแดนไทยด้านอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และชายแดนกัมพูชาด้านจังหวัดพระวิหาร เกิดจากการที่ทั้งไทยและกัมพูชา ถือแผนที่ปักปันเขตแดนตามแนวสันปันน้ำของเทือกเขาพนมดงรักคนละฉบับ ทำให้เกิดปัญหาพื้นที่ทับซ้อนของทั้งสองฝ่ายในบริเวณที่เป็นที่ตั้งของตัวปราสาท โดยทั้งฝ่ายกัมพูชาและฝ่ายไทยได้ยินยอมให้มีการพิจารณาปัญหาดังกล่าวขึ้นที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี พ.ศ. 2502

คดีนี้ศาลโลกได้ตัดสินให้ตัวปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 ท่ามกลางความไม่พอใจของฝ่ายไทย ซึ่งเห็นว่าศาลโลกตัดสินคดีนี้อย่างไม่ยุติธรรม อย่างไรก็ตาม การตัดสินคดีครั้งนี้ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องอาณาเขตทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชาในบริเวณดังกล่าวให้หมดไป และยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังต่อมาจนถึงปัจจุบัน

เบื้องหลังความขัดแย้ง
หลังจากกัมพูชาเป็นเอกราช ในวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2493 ประเทศไทยได้เป็นประเทศแรกที่ได้ให้การรับรอง จนมีการตั้งสำนักผู้แทนทางการทูตขึ้นที่กรุงพนมเปญ และสัมพันธภาพก็เจริญมาด้วยดีโดยตลอด จนกระทั่ง พ.ศ. 2501 เอกอัครราชทูตกัมพูชา ประจำกรุงลอนดอน ซัมซารี ได้เขียนบทความเกี่ยวกับสิทธิเหนือปราสาทเขาพระวิหาร ลงในนิตยสาร "กัมพูชาวันนี้ (le Combodge d'aujourd'hui) " มีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุบว่า "ไทยอ้างสิทธิเหนือวิหารนี้ โดยการใช้กำลังทหารเข้ายึดเอาพระวิหาร-อันเป็นการกระทำแบบฮิตเลอร์"[1] จากนั้นมาวิทยุและหนังสือพิมพ์ของกัมพูชาก็ได้พูดถึงเรื่องสิทธิเหนือปราสาทเขาพระวิหารนี้อยู่เรื่อย ๆ จนเกิดกระแส "ทวงเขาพระวิหารคืนจากไทย"[1] แต่ยังไม่รุนแรงนัก นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ปล้นสะดมทางชายแดนไทย-กัมพูชาเสมอ ๆ ทำให้รัฐบาลไทยในขณะนั้นได้เสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการผสมเพื่อดำเนินการตรวจสอบเส้นเขตแดน แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลกัมพูชา ทำให้ความสัมพันธ์เริ่มทรุดลงอย่างรวดเร็ว

วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 ประเทศจีนได้ประกาศรับรองกัมพูชา และพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหนุได้เสด็จไปเยือนปักกิ่ง ซึ่งในสมัยนั้นอยู่ในช่วงระวังการแทรกซึมจากคอมมิวนิสต์

วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2501 รัฐบาลไทยจึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่จังหวัดตราด, จันทบุรี, ปราจีนบุรี, สุรินทร์, บุรีรัมย์, ศรีสะเกษ และอำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีใจความแถลงว่าได้มีโจรผู้ร้ายข้ามแดนเข้ามาทำร้ายร่างกาย ประทุษร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเหตุการณ์จึงตึงเครียดหนักขึ้น[2]

วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2501 มีการเจรจาเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชาขึ้นที่กรุงเทพ แต่ไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ วันที่ 7 กันยายน ปีเดียวกัน ประเทศไทยได้เดินขบวนประท้วงประเทศกัมพูชา และอ้างถึงกรรมสิทธิ์ของไทยเหนือเขาพระวิหาร นอกจากนี้ยังมีการโจมตีระหว่างสื่อไทยและกัมพูชากันอยู่เนื่อง ๆ จนกระทั่งวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501 รัฐบาลกัมพูชาได้ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย และความสัมพันธ์ก็เลวร้ายลงจนไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลโลก

รายละเอียดคดี
คดีนี้มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2447 ถึง พ.ศ. 2451 ประเทศฝรั่งเศสมีฐานะเป็นรัฐผู้อารักขากัมพูชา ได้ทำสัญญากับราชอาณาจักรสยามอยู่หลายฉบับ แต่มีสัญญาอยู่ฉบับหนึ่งที่เป็นต้นเหตุของปัญหานี้ คือ สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ร.ศ. 122 มีความตกลงอยู่ว่า พรมแดนที่เป็นปัญหาให้ถือเอาสันปันน้ำเป็นเกณฑ์ในการแบ่งเขตแดน และให้แต่งตั้งคณะกรรมการปักบันเขตแดน เพื่อได้ทำการสำรวจบริเวณพื้นที่แถบนั้น[3]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2450 ทางการสยามได้ขอให้ทางฝรั่งเศสทำแผนที่พรมแดน ฝรั่งเศสได้จัดทำแผนที่ขึ้นจำนวนหนึ่ง หนึ่งในนั้นเป็นแผนที่ที่ฝรั่งเศสลากเส้นเอาเขาพระวิหาร ซึ่งอยู่ในความครอบครองของราชอาณาจักรสยาม ไปอยู่ในฝั่งเขตแดนกัมพูชาของทางฝรั่งเศสด้วย โดยมิได้ยึดแนวสันปันน้ำเป็นเกณฑ์ (แผนที่นี้ต่อมาเรียกว่า "แผนที่ผนวก 1" (Annex I map) )

กระนั้น สยามไม่ได้คัดค้านแผนที่นั้นภายในเวลาอันสมควร คณะกรรมการฝ่ายไทยไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เลย แม้จะไม่ได้แสดงการยอมรับ แต่ก็ไม่ได้ทำการคัดค้านว่าแผนที่ฉบับที่มีปัญหานั้นไม่ถูกต้อง ท่านเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นคือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ตรัสขอบใจราชทูตฝรั่งเศสผู้นำส่งแผนที่นั้น และผู้ว่าราชการจังหวัดก็มิได้ทำการทักท้วง[3] ต่อมา มีการประชุมคณะกรรมการที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2452 โดยใช้แผนที่ผนวก 1 นี้เป็นหลัก ก็ไม่มีผู้คัดค้าน

ปี พ.ศ. 2468 มีการจัดทำสนธิสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส โดยมีการอ้างอิงถึงเขตแดนดังกล่าว และในการเจรจาสนธิสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส ณ กรุงวอชิงตัน เมื่อปี พ.ศ. 2490 รัฐบาลไทยไม่ได้ประท้วงประเด็นดังกล่าว[3] นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2473 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จไปเขาพระวิหาร โดยมีผู้สำเร็จราชการฝรั่งเศสรับเสด็จในฐานะทรงเยือนจังหวัดหนึ่งของกัมพูชา[3] แม้ในระหว่าง พ.ศ. 2477-2478 มีการสำรวจพบว่ามีความแตกต่างระหว่างเส้นพรมแดนในแผนที่และแนวสันปันน้ำจริง และได้มีการทำแผนที่อื่น ๆ ซึ่งแสดงว่าปราสาทดังกล่าวอยู่ในราชอาณาจักรสยาม แต่สยามยังคงใช้และจัดพิมพ์แผนที่ที่แสดงว่าพระวิหารตั้งอยู่ในกัมพูชาต่อไป[3] เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิจารณาว่า รัฐบาลไทยขณะนั้นได้ยอมรับ (acquiese) ว่า ฝรั่งเศส มีอำนาจอธิปไตยเหนือเขาพระวิหารเป็นเวลายาวนานถึง 50 ปีมาแล้ว ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ว่าด้วยหลักกฎหมายปิดปาก (estoppel)

ปี พ.ศ. 2501 หลังจากกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส จึงเริ่มมีข้อขัดแย้งเรื่องเขตแดนรอยต่อระหว่างไทยกับกัมพูชา จนกระทั่งเจ้านโรดมสีหนุ นายกรัฐมนตรีกัมพูชาขณะนั้น นำเรื่องขึ้นเสนอสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในปี พ.ศ. 2502 โดยใช้แผนที่ผนวก 1 เป็นหลักฐานสำคัญ ซึ่งแม้เส้นเขตแดนบนแผนที่จะไม่ได้ใช้สันปันน้ำเป็นเกณฑ์ แต่แผนที่ฉบับนี้ไม่เคยถูกคัดค้านจากรัฐบาลสยามและไทยมาก่อน

ดังนั้นในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ จึงได้ตัดสินให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา ด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 นอกจากนั้นยังตัดสินด้วยคะแนนเสียง 7 ต่อ 5 ให้ประเทศไทยส่งคืนโบราณวัตถุที่นำออกมาจากปราสาทเขาพระวิหารตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยได้เข้ายึดครองพื้นที่ดังกล่าว

ผลการตัดสินระยะที่ 1
วันที่ 15 มิถุนายน 2505 ศาลโลกผู้พิพากษามีทั้งหมด 14 ท่าน คะแนนเสียง 9 ต่อ 3 ตัดสินว่าปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา และ คะแนนเสียง 7 ต่อ 5 ตัดสินว่า ไทยต้องคืนวัตถุสิ่งประติมากรรม แผ่นศิลา ส่วนปรักหักพังของอนุสาวรีย์รูปหินทราย เครื่องปั้นดินเผาโบราณและปราสาทหรือบริเวณเขาพระวิหารให้แก่กัมพูชา

ความขัดแย้งยังคงอยู่
แม้ว่าการตัดสินดังกล่าวได้ยุติลงแล้ว แต่คนไทยไม่ยอมรับกับคำตัดสินนั้น โดยในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีไทย ได้ออกแถลงการณ์ถึงประชาชนผ่านทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ว่าไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลโลก แต่จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสั่งด้วยการถอนกำลังทหารและกำลังตำรวจออกจากพื้นที่ เนื่องจากยังเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ หลังจากนั้น ทหาร ตำรวจ จำเป็นต้องถอนกำลังลงมาโดยถอนธงของไทยทั้งต้น ลงมาโดยไม่มีการลดธง ลงแต่อย่างใด และเกณฑ์ชาวบ้านในอำเภอภูมิซรอล ไปขึงลวดหนามรอบปราสาทเขาพระวิหาร

ส่วนนายถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ได้ทำหนังสื่อถึงนาย อู ถั่น รักษาราชการเลขาธิการสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก อ้างถึง คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ประกาศจุดยืนและท่าทีของไทยว่า ไม่เห็นด้วยและขอคัดค้านคำพิพากษา ซึ่งขัดต่อสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส แต่ก็จะปฏิบัติตามพันธกรณีในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกในสหประชาชาติ และขอตั้งข้อสงวนเกี่ยวกับสิทธิที่มีอยู่ และพึงได้ที่จะครอบครองปราสาทพระวิหารในอนาคต ตามกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเรื่องปราสาทพระวิหารก็เงียบหายไปนานหลายสิบปี

ระยะหลังในรอบ 10 ปี กัมพูชา ก็ได้รื้อรั้วลวดหนามออกมาสร้างบ้านและที่พัก ร้านขายของในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กัมพูชากำลังขยายอาณาเขต

จากความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของกัมพูชาดังกล่าว กลายเป็นความไม่พอใจของชาวไทยและเกิดเป็นประเด็นอีกครั้งเมื่อ 8 มีนาคม 2548 กัมพูชาได้ทำเรื่องยื่นไปที่องค์การยูเนสโกเพื่อขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเนสโก ขอให้กัมพูชายื่นเอกสารใหม่เกี่ยวกับเขตกันชนของ ปราสาท และมีคำแนะนำให้ร่วมมือกับฝ่ายไทยด้วย กัมพูชายื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารใหม่ในปี 2550 โดยมีไทยยื่นบันทึกช่วยจำต่อเอกอัครราชทูตกัมพูชาและเสนอขึ้นทะเบียนร่วม (transboundary property) แต่คณะกรรมการมรดกโลกสากลมีมติเลื่อนการขึ้นทะเบียนออกไป โดยให้ไทย-กัมพูชา ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด

ทำให้ไทยขณะนั้นมี นายนพดล ปัทมะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ออกแถลงการณ์ร่วมกับกัมพูชาให้ขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร เป็นมรดกโลก แต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไทยจะให้การสนับสนุนเต็มที่ จนทำให้เกิดแรงกระเพื่อมจากหลายกลุ่มที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาลจนไปร้องศาลปกครอง ซึ่งศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้กระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรียุติการดำเนินการตามมติ ครม. ที่รับรองการออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา สนับสนุนให้กัมพูชาจดทะเบียน ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ไปจนกว่าคดีจะเป็นที่สิ้นสุด หรือ ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

จนวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 องค์การยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนตามคำขอของกัมพูชาให้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เฉพาะเพียงตัวปราสาทเท่านั้น ทำให้กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับ นายนพดล ออกมาต่อต้านจนนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

ความขัดแย้งดังกล่าวนำมาซึ่งการปะทะกันที่ "ภูมะเขือ" เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 ใกล้กับปราสาทเขาพระวิหาร ทหารไทยและทหารกัมพูชา ระดมยิงใส่กันจนมีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต โดยต่างฝ่ายต่างออกมาโต้กันว่า ฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้เริ่มต้นลงมือยิงใส่ก่อน ซึ่งก็มีการเจรจากันหลายต่อหลายครั้ง ชาวบ้านใน อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้รับผลกระทบไปด้วย กัมพูชาได้ยื่นจดหมายถึงสหประชาชาติ ว่า ทหารไทย ได้ละเมิดข้อตกลงสันติภาพปารีส พ.ศ. 2534 กฎบัตรสหประชาชาติ และคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ พ.ศ. 2505 ขอให้กำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวโดยขอให้ไทยถอนทหารออกจากบริเวณเขาพระวิหารและบริเวณโดยรอบโดยไม่มีเงื่อนไข

หลังจากนั้นก็เกิดการปะทะกันอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงวัน ที่ 28 เมษายน 2554 กระทรวงการต่างประเทศกัมพูชายื่นฟ้องศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลกให้ ตีความคำพิพากษาเมื่อปี 2505 ทำให้ความสัมพันธ์ของไทยและกัมพูชาแย่ลงเรื่อยๆ

ในขณะนั้น รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งทีมทนายขึ้นมาเพื่อต่อสู้ในศาลโลกพร้อมยื่น ข้อสังเกตต่อศาลโลกไม่มีอำนาจและไม่สามารถรับคดีไว้พิจารณาได้ หรือ ถ้ามีอำนาจก็ไม่สามารถตีความในคำพิพากษาเดิมได้ และขอให้ศาลตัดสินว่า คำพิพากษาเดิม ไม่มีการตัดสินเรื่องเขตแดน

วันที่ 15-19 เม.ย.2556 ศาลโลกได้นัดทั้งสองประเทศแถลงด้วยวาจา ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ในฐานะผู้แทนไทยในการดำเนินคดีเขาพระวิหารและคณะเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศนำทีมกฎหมายของไทยไปแถลงด้วยวาจา ซึ่งในการแถลงด้วยวาจาครั้งนี้ พยานหลักฐานของไทยค่อนข้างมีน้ำหนักกว่ากัมพูชา

กระทรวงการต่างประเทศโดยนายวีรชัยได้จ้าง น.ส.อลินา มิรอง ทนายความชาวโรมาเนีย ศ.แปลเลต์ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องแผนที่เป็นทนายฝ่ายไทย เข้าไปชี้แจงต่อศาลโลกอีกครั้งหนึ่งโดยการเปิดแผนที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของกัมพูชา ในเรื่องการกำหนดเส้นเขตแดนในแผนที่ภาคผนวก 1 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปมา และแผนที่ดังกล่าวขัดต่อหลักภูมิศาสตร์ ไม่สามารถถ่ายทอดลงแผนที่ในโลกปัจจุบันได้ และแผนที่ภาคผนวก 1 ที่กัมพูชาอ้างถึงนั้น ไม่ได้มีแค่ฉบับเดียว แต่ทีมฝ่ายไทย พบถึง 6 ฉบับ ทำให้แผนที่นี้ขาดความน่าเชื่อถือ และยังขาดความแม่นยำทางเทคนิคด้วย

ผลการตัดสินครั้งที่ 2
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2554 ที่ศาลโลก กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ แถลงข่าวว่ารับทราบคำพิพากษา คดีปราสาทพระวิหาร ระหว่างไทย-กัมพูชา ของศาลโลก ว่า เบื้องต้นศาลโลกไม่ได้ตัดสินให้กัมพูชา ได้รับพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. พื้นที่ "ภูมะเขือ" ศาลไม่ได้ตัดสินเรื่องเขตแดนหรือ ให้ใช้มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน และประเด็นสุดท้าย ศาล ยังแนะนำให้ทั้ง 2 ฝ่ายร่วมมือกัน ในฐานะเป็นมรดกโลก โดยมียูเนสโก ร่วมหารือ

กล่าวโดยสรุปเมื่อจบการพิจารณาคดีในครั้งที่ 2 ศาลรับตีความ ปราสาทพระวิหารอยู่ในอธิปไตยของกัมพูชา และไทยต้องถอนทหารออกจากปราสาทและบริเวณใกล้เคียง แต่ภูมะเขือ และผาใกล้เคียงไม่ใช่ส่วนหนึ่งของปราสาทพระวิหาร การจะถอนทหารออกไปตรงที่ใด ให้ทั้งสองประเทศกำหนดเอง เพื่อรักษามรดกโลกโดยมียูเนสโกร่วมหารือ

ดังนั้นสิ่งที่นายวีรชัย พลาศรัย ได้ต่อสู้ให้กับอธิปไตยของประเทศไทยที่มีต่อพื้นที่ 4.6 ตร.กม. พื้นที่ "ภูมะเขือ" ซึ่งเป็นพื้นที่ขัดแย้งมาอย่างยาวนาน และยังช่วยให้ไทยได้ร่วมกันหารือกับกัมพูชาภายใต้การดูแลของยูเนสโกที่จะเป็นเจ้าของร่วมกันกับมรดกโลกเขาพระวิหาร

ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย,ไทยรัฐ