“ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” ตั้งโต๊ะที่ราชประสงค์เพื่อปลด กกต.

by ThaiQuote, 31 มีนาคม 2562

“ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” พร้อมแกนนำหลายคนตั้งโต๊ะล่า 1 ล้านรายชื่อเพื่อปลด กกต.ที่หน้าร้านแมคโดนัลด์ ราชประสงค์ พร้อมเผยแพร่แถลงการณ์ 8 ข้อ แสดงความไม่พอใจกับการทำงานของ กกต.ที่ผ่านมา

31 มี.ค.62 เฟซบุ๊ก “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” ของนายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ แกนนำเสื้อแดงราชประสงค์ ได้เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมตั้งโต๊ะล่ารายชื่อปลด กกต.ที่หน้าร้านแมคโดนัลด์ ราชประสงค์ พร้อมเผยแพร่แถลงการณ์ที่อ้างว่าเป็น “คำประกาศชัยชนะของประชาชน Announcement of the Victory of the People” ของกลุ่มประชาชนอยากเลือกตั้ง มีเนื้อหาดังนี้

ในฐานะกลุ่มกิจกรรมภาคประชาชนที่รณรงค์การเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 จนถึงวันที่มีการเลือกตั้งเป็นเวลากว่า 7 เดือนเต็ม กลุ่มประชาชนอยากเลือกตั้งในฐานะตัวแทนของประชาชนขอประกาศแถลงการณ์ต่อสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ ดังนี้

 



1. การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยการทุจริต ใช้กลโกงทุกอย่างเพื่อให้พรรคการเมืองที่สนับสนุนเผด็จการทหาร (พรรคพลังประชารัฐ) ชนะเลือกตั้งทุกรูปแบบ ทั้งการซื้อเสียง การพิมพ์บัตรเกิน การนับคะแนนที่ไม่โปร่งใส การบังคับให้ทหารต้องลงคะแนนเลือกพรรคพลังประชารัฐ ฯลฯ การเลือกตั้งครั้งนี้นับเป็นการเลือกตั้งครั้งที่สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่ต่างจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2500 สมัยจอมพลป.พิบูลสงครามเมื่อ 62 ปีก่อน

2. ถึงแม้จะมีการทุจริตมากมาย แต่พรรคที่สนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยก็ยังได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง โดยหลังการนับคะแนนครบ 100% พรรคเพื่อไทยได้รับจำนวนสส.รวม 138 เสียง พรรคที่ทหารให้การสนับสนุนคือพรรคพลังประชารัฐได้จำนวนสส.รวม 118 เสียง จำนวนสส.ที่พรรคอันดับหนึ่งชนะพรรคอันดับสองถึง 20 เสียงถือว่าเป็นชัยชนะที่ขาดลอย

3. การเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนเจ้าของประเทศได้ตัดสินแล้วว่าต้องการพรรคการเมืองที่สนับสนุนประชาธิปไตยมากกว่าพรรคการเมืองที่สนับสนุนเผด็จการทหาร ดูได้จากจำนวนสส. (Electoral Votes) ของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยได้สส.รวม 254 เสียง (ประกอบด้วยพรรคเพื่อไทย 138 อนาคตใหม่ 88 เสรีรวมไทย 11 ประชาชาติ 6 เศรษฐกิจใหม่ 6 เพื่อชาติ 5 ) ในขณะที่พรรคการเมืองที่ประกาศตนว่าสนับสนุนเผด็จการทหารได้สส.รวมกันเพียง 123 เสียง (ประกอบด้วยพรรคพลังประชารัฐ 118 รวมพลังประชาชาติไทย 5) ที่เหลือเป็นพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กที่ไม่ประกาศตนอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยหรือเผด็จการทหาร พรรคเหล่านี้จึงเป็นพรรคที่พร้อมจะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคที่ชนะเลือกตั้ง

4. หลังจากที่กกต.ได้ประกาศผลการเลือกตั้งครบ 100% มีความพยายามของเผด็จการทหารพยายามสร้างความสับสนให้กับประชาชนว่าพรรคพลังประชารัฐเป็นฝ่ายชนะเลือกตั้ง โดยอ้างอิงคะแนนเสียงความนิยมของพรรค (Popular Votes) ที่ได้สูงมากจนผิดสังเกต และคะแนนที่สูงขึ้นมากนี้มาจากการหยุดนับคะแนนไปถึง 5 วัน และมีสื่อมวลชนบางสำนักที่รับใช้เผด็จการทหารรายงานข่าวจนทำให้ประชาชนจำนวนมากมีความเข้าใจว่าพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งคือพรรคพลังประชารัฐ

5. กลุ่มประชาชนอยากเลือกตั้งขอประกาศว่าหลักในการคำนวณว่าพรรคการเมืองใดชนะเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นในประเทศไทยหรือต่างประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งจะยึดจากจำนวนเสียงของสส.ที่ประชาชนเลือก (Electoral Votes) มิใช่คะแนนความนิยมของพรรค (Popular Votes) จึงเป็นการชัดเจนที่ไม่ต้องสงสัยว่าพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 คือพรรคเพื่อไทยที่ได้สส.รวม 138 ที่นั่ง ชนะห่างพรรคพลังประชารัฐที่ได้ 118 ที่นั่งถึง 20 ที่นั่ง และเป็นชัยชนะที่กล่าวได้ว่าขาดลอย

6. พรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งคือพรรคเพื่อไทยจะต้องเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลโดยเลือกเชิญพรรคที่มีจุดยืนสนับสนุนประชาธิปไตยและแนวนโยบายที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติมาตั้งรัฐบาลของประชาชน และพรรคพลังประชารัฐจะต้องยุติการเคลื่อนไหวปล่อยข่าวว่าตนเองชนะเลือกตั้ง พยายามแข่งขันจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคเพื่อไทย สร้างความสับสนให้กับคนไทย การไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ และไม่ยอมรับหลักการประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่น่าละอาย พรรคการเมืองเช่นนี้ไม่มีความเหมาะสมที่จะเข้าไปทำงานในรัฐสภาไม่ว่าจะในฐานะฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน

7. พรรคเพื่อไทยจะต้องเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อแคนดิเดทของพรรคที่มี 3 คนเท่านั้น ไม่ยกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ควรเป็นของพรรคเพื่อไทยให้กับพรรคการเมืองอื่น พรรคเพื่อไทยจะต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชนที่ต้องการเห็นนายกรัฐมนตรีมาจากพรรคเพื่อไทย

8. นับจากวันที่ประชาชนประกาศชัยชนะนี้ ทหารทุกคนจะต้องเลิกแต่งเครื่องแบบออกมาข่มขู่คุกคามนักศึกษา ประชาชน ไม่ห้ามการแสดงออกความคิดเห็นทางการเมืองอีกต่อไป เพราะนั่นคือสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนที่ได้กลับคืนมาแล้วในวันที่มีการประกาศการเลือกตั้ง

กลุ่มประชาชนอยากเลือกตั้ง The group People Who Want Elections 31 มีนาคม 2562 ณ.ราชประสงค์ March 31, 2019, at Ratchaprasong

การประท้วงในครั้งนี้มีนายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ ฟอร์ด เส้นทางสีแดง นางสุดสงวน สุธีสร หรือ อ.ตุ้ม อดีตอาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์พร้อมด้วย นายเอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และกลุ่มกิจกรรมประชาชนอยากเลือกตั้งเป็นแกนนำ โดยได้ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อเพื่อปลดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนที่รักประชาธิปไตย รวมทั้งประชาชนที่สัญจรอยู่รอบบริเวณราชประสงค์ ร่วมลงชื่อเป็นผู้ร้องต่อ ปปช. ให้ถอดถอน กกต. จากการปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่โปร่งใส โดยขณะนี้มีประชาชนร่วมลงชื่อผ่านแบบรณรงค์ทางเว็บไซต์ Change.org จำนวนกว่า 8 แสนรายชื่อ โดยตั้งเป้าให้ครบ 1 ล้านรายชื่อเพื่อยื่นต่อ ปปช.ต่อไป

ขณะที่อีกด้านหนึ่งแหล่งข่าว คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่การชุมนุมเพื่อรวบรวมรายชื่อเพื่อปลดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสนับสนุนพรรคที่ชนะเลือกตั้งจัดตั้งรัฐบาล บริเวณแยกราชประสงค์ และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ว่า

ขอให้ทั้งสองกลุ่มได้ปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมือง ชุมนุมโดยสงบ ซึ่งทั้งสองกลุ่มได้ทำเรื่องขออนุญาต จัดชุมนุมกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในพื้นที่รับผิดชอบ ยังเชื่อว่าประชาชน ส่วนใหญ่ของประเทศ อยากเดินหน้าประเทศร่วมกัน ภายใต้บรรยากาศที่สงบเรียบร้อย การชุมนุมก็ควรอยู่ในกรอบ ตามกฎหมายซึ่งก็ใช้กฎหมายปกติ ที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ดูแล.