ประเทศไทยพร้อมมั๊ย!! สู่สังคมสูงวัย 4.0 กับนวัตกรรมยกระดับคุณภาพชีวิต

by ThaiQuote, 13 เมษายน 2562

อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันผู้สูงอายุ ซึ่งตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาคำว่า “สังคมผู้สูงอายุ” เป็นสิ่งที่เราได้ยินกันบ่อยขึ้น ตามข่าวสารต่างๆ ซึ่งหมายถึงเราจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุในสังคมเพิ่มขึ้น สำหรับประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) คาดการณ์ว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 ประเด็นที่ตามมาของการที่สังคมผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นคือการดูแลสุขภาวะ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งหลายฝ่ายกำลังต้องการวิธีการดูแลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ความท้าทายของประเทศไทยที่กำลังเผชิญอยู่ ขณะนี้ และอนาคตอันใกล้ คืออัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรในวัย 'ผู้สูงอายุ' สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงความจำเป็นที่ผู้สูงอายุจะต้องเตรียมตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลง

"สังคมสูงวัยกับนวัตกรรม" เพื่อเตรียมพร้อมสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ เพิ่มทักษะให้ "ผู้สูงวัย" เข้าใจ เท่าทันโลกยุคดิจิตอล ใช้เทคโนโลยีเป็นและเกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ตกเป็นเหยื่อโดนหลอก ละเมิดสิทธิ
ผู้สูงวัยในสังคมสมัยใหม่หรือโลกดิจิตอลจะตกอยู่ในสังคมทอดทิ้งกัน ทุกคนมีความเครียดสูง เครื่องจักรจะทำให้คนตกงานเป็นจำนวนมาก ขาดความเป็นชุมชน แต่ข้อดีคือ จะทำให้คนสนใจการเจริญสติมากขึ้น

สำหรับทางออกของปัญหาผู้สูงอายุในอนาคต ชุมชนจะต้องมีความเข้มแข็ง มีความคิดริเริ่มนำนวัตกรรมมาใช้ให้สามารถดูแลผู้สูงอายุได้ และจะต้องพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุให้มีความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิตอล คือการมีทักษะในการนำเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีดิจิตอลที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ แท็บเล็ต แอพพลิเคชั่น และสื่อออนไลน์ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในการสื่อสาร การทำงาน และการอยู่ร่วมกัน เป็นสังคมที่มีเครือข่ายคล้ายสมอง มีชีวิตและเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นสังคมอุดมปัญญา ที่สำคัญคือต้องก้าวไปด้วยกันด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ ที่เคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการเพิ่มประชากรผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2560 มีผู้สูงอายุประมาณ 11.3 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 16.7 ของประชากรไทย ซึ่งคาดว่าไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2564 หรือในอีก 3 ปีข้างหน้า

และปี 2562 เป็นครั้งแรกที่ประชากรผู้สูงอายุจะมีจำนวนมากกว่าประชากรวัยเด็ก การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยนี้ เป็นความท้าทายของประเทศไทยที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือ ทั้งการพัฒนาระบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัยในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ การพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ รวมไปถึงการมีส่วนร่วมของทุกคนในสังคมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย

สังคมไทยเป็นสังคมดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงนโยบายของรัฐบาลที่เสนอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จากข้อมูลการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2560 พบว่ามีผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 4.2 ที่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตหรือโซเชี่ยลมีเดีย ผู้สูงอายุไทยในอนาคตจึงต้องรู้เท่าทันใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ต โซเชี่ยลมีเดีย และสมาร์ตโฟน รับรู้ข้อมูลข่าวสาร โปรแกรมการดูแลสุขภาพต่างๆ ทำธุรกรรมทางการเงิน ไม่ตกเป็นผู้เสียหาย โดนหลอกจากข่าวสารปลอม ที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิ การฉ้อโกงทรัพย์สิน

ประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยในอัตราที่เร็วมากที่สุดในอาเซียน ซึ่งอีกประเด็นที่ท้าทายคือ ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุเหล่านี้กลายเป็นผู้สูงอายุ 4.0 ที่มีคุณภาพ นวัตกรรม เทคโนโลยีที่กำลังเข้ามาต้องสอดคล้องกับผู้สูงอายุได้ และต้องไม่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากขึ้น

เรามีตัวอย่าง 10 นวัตกรรม เพื่อผู้สูงอายุที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับสังคมสูงวัยที่จะเดินทางเข้าสู่ในอนาคต ดังนี้

"หุ่นยนต์ดินสอ"
หุ่นยนต์รุ่นเล็กขนาดตั้งโต๊ะ ออกแบบไว้เพื่อดูแลผู้สูงอายุอายุ 80 ปีขึ้นไปที่อยู่ตามลำพัง เจ้าหุ่นตัวนี้เจ๋งมาก ความสามารถคือการแจ้งเตือนเรียกแพทย์ฉุกเฉินได้ทันท่วงทีผ่านจอสัมผัสและกล้องสามมิติ นอกจากนี้ ยังเก็บประวัติสุขภาพแล้วรายงานข้อมูลให้แก่แพทย์ การใช้งานเพียงแค่ดาวน์โหลดติดตั้งแอพพลิเคชั่นหุ่นยนต์ดินสอลงบนสมาร์ตโฟน ก็สามารถสื่อสารได้ทันที

"เครื่องช่วยฟังในหู"
นวัตกรรมเครื่องช่วยฟังที่คุณสมบัติทัดเทียมของต่างประเทศ แต่ราคาถูกกว่ามาก ใช้การชาร์จแบตเตอรี่เพื่อให้ง่ายและสะดวกต่อการใช้งาน เหมาะสำหรับผู้มีปัญหาการได้ยิน โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้บกพร่องทางการได้ยิน เป็นผลงานของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.รามคำแหง เพิ่งคว้ารางวัลเหรียญทองระดับโลกที่งาน Euroinvent 2016

"Derma Promp"
ถุงเท้าลอกผิวสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน หรือถุงเท้าลอกเท้าที่สามารถลอกเฉพาะผิวหนังที่ตายแล้วโดยไม่ทำอันตรายต่อผิวหนังปกติ ซึ่งมีประโยชน์มากต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน ช่วยลดปัญหาการเสียอวัยวะและชีวิตให้แก่ผู้ป่วยได้

"senZe"
อุปกรณ์ช่วยในการสื่อสารผ่านทางสายตาสำหรับผู้ป่วยอัมพาต เป็นนวัตกรรมระดับประเทศด้านผลิตภัณฑ์ชุดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่รับคำสั่งการควบคุมเม้าส์ด้วยสายตา อาศัยตรวจจับการกระพริบตาด้วยหลักการมอร์โฟโลยี (Morphology Image Processing) ในการตรวจจับหาตำแหน่งตาดำเพื่อวิเคราะห์ตรวจจับพฤติกรรมการกระพริบตาของผู้ใช้งานในการป้อนคำสั่งผ่านตัวอุปกรณ์ เพื่อให้ผู้ป่วยอัมพาตและผู้ป่วยโรคเอแอล สามารถสื่อสารกับบุคคลรอบข้างผ่านอุปกรณ์นี้ได้

วัสดุดามกระดูกสันหลังหลายระดับ"
เป็นการออกแบบและพัฒนาวัสดุ-อุปกรณ์ที่ใช้ในการดามกระดูกสันหลังส่วนอกและเอว ให้มีราคาที่ถูกกว่าเพื่อเป็นการทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ พร้อมทั้งช่วยแพทย์ผ่าตัดได้ง่ายขึ้น ใช้เวลาในการผ่าตัดน้อยลง และบาดแผลในการผ่าตัดเล็กลงหรือน้อยลง

Prime-หมวกเลเซอร์ปลูกผม"
นวัตกรรมระดับประเทศด้านผลิตภัณฑ์หมวกเลเซอร์สำหรับกระตุ้นการเกิดใหม่ของเส้นผมในผู้ที่มีปัญหาผมบาง สำหรับสวมใส่เพื่อการบำบัด ครั้งละ 20 นาที วันเว้นวัน จะสามารถเห็นผลได้ในเวลา 2 เดือน หรือหากใช้ในคนที่ผ่านการผ่าตัดปลูกถ่ายเซลล์ผมก็จะเห็นผลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
อุปกรณ์ออกกำลังภายในบ้านสำหรับผู้สูงอายุ"
เป็นเครื่องออกกำลังที่ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเพลิดเพลินกับคอนเทนต์ที่อยู่รอบตัว พร้อมๆกับที่ระบบกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และเส้นเอ็นของร่างกาย จะทำการตอบสนองโดยอัตโนมัตต่อเครื่องออกกำลังกาย ทำให้การออกกำลังมีประสิทธิภาพ

"เฟอร์นิเจอร์ชุดครัวสำหรับผู้สูงอายุ"
ผลงานชิ้นนี้ได้แนวความคิดในการออกแบบที่ต้องการนำความรู้เรื่อง Ergonomics ในเรื่อง "การพิง" มาสร้างความรู้สึกทางด้านร่างกายใหม่ในการยืนทำครัวของผู้สูงอายุ ผสมผสานด้วยหน้าที่ประโยชน์ใช้สอยต่างๆ ที่ได้จากการศึกษาทำความเข้าใจพฤติกรรมการทำครัวของผู้สูงอายุ

นวัตกรรมที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงวัย"
การปรับปรุงบ้านและสิ่งอำนวยความสะดวกในบ้านให้เหมาะกับผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักเกิดอุบัติเหตุลื่นล้มในบริเวณบ้านมากกว่านอกบ้าน การเตรียมที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งจำเป็น สามารถทำให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตได้สะดวกปลอดภัย อีกทั้งลดความเสี่ยงอุบัติเหตุต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเพื่อตอบโจทย์บ้านปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ นวัตกรรมบ้านปลอดภัยของ เอสซีจี เอลเดอร์แคร์ โซลูชั่น ออกแบบมาเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตในบ้านได้อย่างปลอดภัย ลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุต่างๆ ทั้งห้องน้ำ ห้องนั่งเล่น และสวนที่ปลอดภัยสำหรับการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือการเตรียมพร้อมที่จะรับมือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ของประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบที่กำลังจะมาถึงอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ภาครัฐต้องเร่งปรับปรุงสาธารณูปโภคเพื่อให้การใช้ชีวิตของผู้สูงวัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่สร้างภาระให้กับลูกหลานและสังคม เพื่อให้ทุกชีวิตสามารถดำเนินชีวิตได้มีความสุขต่อไป

ประเทศไทยพร้อมมั๊ย!! สู่สังคมสูงวัย 4.0 กับนวัตกรรมยกระดับคุณภาพชีวิต