เที่ยว 9 วัดโบราณ รอบเกาะรัตนโกสินทร์

by ThaiQuote, 15 เมษายน 2562

พิธีกรรมที่เป็นมงคลของคนไทยคือ เมื่อขึ้นปีใหม่ ครอบครัวต่างพากันไปไหว้พระที่ตนเองศรัทธา ซึ่งวัดในหมู่เกาะรัตนโกสินทร์ก็ถือเป็นวัดเก่าแก่ที่คนกรุงเทพฯและคนไทยให้ความเคารพนับถือมาเป็นเวลานาน

1.วัดแรกที่อยากจะแนะนำให้ไปสักการะในช่วงเทศกาลดิถีขึ้นปีใหม่ไทยคือวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร พระอารามหลวงสุดท้ายที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างตามโบราณราชประเพณี และยังเป็นตั้งของสุสานหลวงอีกด้วย ที่วัดแห่งนี้ยังเป็นที่พำนักของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณเป็นสมเด็จพระสังฆราชไทยพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

นอกจากนี้ในแง่ของความงดงามของวัดแห่งนี้ก็นับเป็นเอกน้ำหนึ่ง ตัวพระอุโบสถภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยแท้ ประกอบด้วยลวดลายกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์รูปเทพประนม ภายในเป็นสถาปัตยกรรมโกธิค พระประธานคือ "พระพุทธอังคีรส" แปลว่า "มีรัศมีซ่านออกจากพระวรกาย"ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีหินอ่อนจากประเทศอิตาลี ถูกหล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อต้นรัชกาลที่ 5 กะไหล่ทองคำเนื้อแปดหนัก 180 บาท เป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เมื่อยังทรงพระเยาว์ เดิมรัชกาลที่ 4 จะทรงนำไปประดิษฐานที่พระปฐมเจดีย์ แต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดราชบพิธ เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2415

นอกจากนี้ที่ฐานบัลลังก์กะไหล่ทองเนื้อหกหนัก 48 บาท ภายในบรรจุพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2), พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3), พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4), พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5), พระบรมอัฐิพระศรีสุลาไลย สมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลที่ 3 และสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร

ตลอดจนเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2560 ได้มีพระราชพิธีอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง ไปบรรจุที่ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส พระประธานพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

2.วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร หรือ วัดบวรนิเวศวิหาร (เดิมชื่อว่า วัดใหม่) เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนบวรนิเวศและถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร สถาปนาขึ้นโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ 3

พระอารามนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชถึง 4 พระองค์ และเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาของสงฆ์แห่งแรกในประเทศ

พระประธานในพระอารามนี้มีความแตกต่างจากวัดอื่น ๆ โดยทั่วไป คือ มีพระประธาน 2 องค์ และล้วนมีความสำคัญเนืองจากเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่โบราณ ได้แก่ พระพุทธชินสีห์ ซึ่งอัญเชิญมาจากวิหารทิศเหนือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก โดยอัญเชิญมาทั้งองค์ราวปี พ.ศ. 2373และพระสุวรรณเขต หรือ "พระโต" หรือ หลวงพ่อเพชร พระประธานองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานไว้เบื้องหลังพระพุทธชินสีห์ เป็นพระประธานองค์แรกของอุโบสถวัดนี้ ซึ่งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ อัญเชิญมาจากวัดสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี

วัดบวรนิเวศวิหารมีสถาปัตยกรรมแบบไทยผสมจีน ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปสำคัญอยู่ 2 องค์เป็นพระประธาน คือ พระพุทธสุวรรณเขต (หลวงพ่อโต) ที่อัญเชิญมาจากวัดสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี และพระพุทธชินสีห์ อัญเชิญมาจากวิหารทิศเหนือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก ใต้ฐานพุทธบัลลังก์ พระพุทธชินสีห์ พระประธานในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,และพระบาทสมเด ผู้ทรงเคยผนวช ณ วัดนี้เมื่อยังทรงดำรงพระอิสริยยศที่สยามมกุฎราชกุมารและยังเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทร์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

 

3.วัดพระแก้ว วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดพระแก้ว เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2325 เป็นวัดในพระบรมมหาราชวังเช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นวัดในพระราชวังหลวงในสมัยอยุธยา และมีพระราชประสงค์ให้วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต พระคู่บ้านคู่เมืองของแผ่นดินสยามที่พบ ณ วัดป่าเยี้ยะ (ป่าไผ่) จังหวัดเชียงราย และเป็นสถานที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ เพราะมีแต่ส่วนพุทธาวาสไม่มีส่วนสังฆาวาส

สถานที่ท่องเที่ยวที่อยากจะแนะนำคือ พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามในเขตพระราชฐานชั้นนอกของพระบรมมหาราชวัง เดิมเป็นโรงกษาปณ์ ใช้ผลิตเงินตราเพื่อใช้ในประเทศ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอาคารรูปแบบตะวันตก ในปี พ.ศ. 2525 ในวาระการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นแม่กองบูรณะจึงขอพระราชทานอาคารโรงกษาปณ์มาเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีสิ่งน่าสนใจหลายอย่างเช่นปืนใหญ่ที่ตั้งแสดงไว้ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาจีนที่ตั้งไว้หน้าอาคารพิพิธภัณฑ์

 

4.วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหารและเป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทั้งยังเปรียบเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศด้วย เนื่องจากเป็นที่รวมจารึกสรรพวิชาหลายแขนง และทางยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำโลกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อ มีนาคม พ.ศ. 2551และวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ทางยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียนจารึกวัดโพธิ์จำนวน 1,440 ชิ้น เป็นมรดกความทรงจำโลกในทะเบียนนานาชาติ

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารถือได้ว่าเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย โดยมีจำนวนประมาณ 99 องค์ พระเจดีย์ที่สำคัญ คือ พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ซึ่งเป็นพระมหาเจดีย์ประจำพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในแง่ของการท่องเที่ยวแล้ว วัดโพธิ์ได้รับความนิยมเที่ยวเป็นลำดับที่ 24 ของโลก ในปี พ.ศ. 2549 โดยมีนักท่องเที่ยวมาเยือนในปีนั้นถึง 8,155,000 คน ชาวต่างชาตินิยมมาเที่ยวชมพระนอนที่วัดโพธิ์ซึ่งถือว่าเป็นพระนอนที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

 

5.ศาลหลักเมือง ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นศาลที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ตามธรรมเนียมพิธีพราหมณ์ว่า ก่อนที่จะสร้างเมืองจะต้องทำพิธียกเสาหลักเมืองในที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้น ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานครตั้งอยู่บริเวณมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของท้องสนามหลวง ตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง ถนนหลักเมือง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

จุดสำคัญของศาลหลักเมืองคือ เสาหลักเมือง ซึ่งได้กระทำพิธียกเสาขึ้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 เดิมทีเสาหลักเมือง มีเพียงศาลาปลูกไว้กลางแดดกันฝนเท่านั้น จนชำรุดลงอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯให้ทำขึ้นใหม่อีกเสาหนึ่ง ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานครมีเสาหลักเมือง 2 ต้น นับจากนั้นเป็นต้นมา

สำหรับศาลาศาลหลักเมืองหลังปัจจุบันนี้ มีรูปแบบเป็นอาคารเครื่องปูน ทรงยอดปรางค์ มีมุขยื่นทั้ง 4 ด้าน แต่ละด้านมีหลังคาซ้อน 2 ชั้น และมีมุขลดอีกด้านละ 1 ชั้น มีหลังคากันสาดโดยรอบ เครื่องมุงประดับกระเบื้องเคลือบ ตามลักษณะสถาปัตยกรรมอยุธยาในอดีต ได้รับการออกแบบโดย พล.อ.ต. อาวุธ เงินชูกลิ่น (ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะสถาปัตยกรรม ในเวลาต่อมา) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชวินิจฉัยในงานออกแบบครั้งนี้ด้วย

 

6.วัดชนะสงคราม
วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร เป็นวัดโบราณสร้างในสมัยอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง เดิมเรียกว่าวัดกลางนา ต่อมายกสถานะเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสถาปนาขึ้นใหม่ และรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นวัดพระสงฆ์ฝ่ายรามัญ เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ทหารรามัญในกองทัพของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ชาวบ้านนิยมเรียกว่า "วัดตองปุ" ให้เป็นวัดพระสงฆ์ฝ่ายรามัญ เช่นเดียวกับวัดตองปุที่กรุงศรีอยุธยา เพื่อเทิดเกียรติทหารชาวรามัญในกองทัพสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท

ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้กับพม่าในสงครามเก้าทัพ เมื่อ พ.ศ. 2328 สงครามที่ท่าดินแดงและสามสบ เมื่อ พ.ศ. 2329 และสงครามที่นครลำปางป่าซาง เมื่อ พ.ศ. 2330 ต่อมาเมื่อมีชัยชนะต่อกองทหารข้าศึกจึงพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดชนะสงคราม" เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย พระนามว่า "พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฎฐ์ มเหธิศักดิ์ปูชนียะชยันตะโคดมบรมศาสดา อนาวรญาณ"

พระประธานคือ "พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฎฐ์ มเหทธิศักดิ์ปูชนียะชยันตะโคดม บรมศาสดาอนาวรญาณ"กราบสักการะพระประธาน "พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฎฐ์ มเหทธิศักดิ์ปูชนียะชยันตะโคดม บรมศาสดาอนาวรญาณ" หรือ "หลวงพ่อปู่" เพื่อเป็นสิริมงคลชนะต่ออุปสรรคทั้งปวง

 

7. วัดอินทรวิหาร พระอารามหลวง หรือที่เรียกทั่วไปว่า วัดหลวงพ่อโต กรุงเทพมหานคร เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ ในเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นวัดที่สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่ก่อนสมัยรัตนโกสินทร์ เดิมเรียกว่า วัดบางขุนพรหมนอก ต่อมา ชาวลาวที่อาศัยบริเวณใกล้เคียงกับวัด นามว่า เจ้าอินทร์ ผู้เป็นน้าชายของเจ้าน้อยเขียวค่อม พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช ได้ทำการบูรณะวัดแห่งนี้ครั้งใหญ่ ชาวบ้านจึงเรียกวัดแห่งนี้ว่า วัดอินทร์ เพื่อให้เกียรติแด่ผู้บูรณะวัดนี้ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า วัดอินทรวิหาร ด้วยอาจเกิดสับสนกับ วัดอินทาราม ที่บางยี่เรือ

วัดอินทรวิหาร พระอารามหลวง เป็นที่รู้จักสำหรับ หลวงพ่อโต พระพุทธรูปปางอุ้มบาตรขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปและรูปปั้นที่สูงที่สุดในกรุงเทพมหานครสร้างโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี

วัดหลวงพ่อโตถือเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา มีการบูรณะมาอย่างต่อเนื่อง และตัวหลวงพ่อโตเองก็เป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นของวัด โดยบาตรของท่านถือได้ว่าเป็นบาตรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ชาวบ้านส่วนใหญ่ให้ความศรัทธามาขอพรเพื่อขจัดทุกข์ บำรุงสุขมาตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์

 

8.วัดราชนัดดารามวรวิหาร หรือ "วัดราชนัดดา" ตั้งอยู่ใกล้กับป้อมมหากาฬ ติดกับลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ซึ่งเป็นพลับพลารับแขกเมือง เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ใกล้กับวัดเทพธิดาราม ขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 ภายในวัดมี โลหะปราสาท ซึ่งเป็นโลหะปราสาทแห่งเดียวในประเทศไทยและแห่งเดียวในโลก

วัดราชนัดดารามวรวิหาร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2389 ตรงกับปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บนสวนผลไม้เก่าเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ พระราชทานเป็นเกียรติแก่พระราชนัดดา คือ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างโลหะปราสาท แทนการสร้างเจดีย์ นับเป็นโลหะปราสาทแห่งแรกของไทย โดยสร้างเป็นอาคาร 7 ชั้น มียอดปราสาท 37 ยอด หมายถึงโพธิปักขิยธรรมในพระพุทธศาสนา 37 ประการ ยอดปราสาทชั้น 7 เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ กลางปราสาทเป็นช่องกลวง มีบันไดเวียน 67 ขั้น ให้เดินขึ้นไปดูทิวทัศน์ข้างบนได้

สำหรับสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ในวัดราชนัดดารามนี้ก็ยังเป็นแบบไทย พระอุโบสถเป็นมีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันลงรักปิดทอง ประดับด้วยกระจกงดงาม ภายในประดิษฐานพระประธานพระนามว่า "พระเสฏฐตมมุนี" ส่วนพระวิหารก็เป็นศิลปะแบบไทยเช่นกัน ภายในมีพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรเป็นประธาน พระนามว่า "พระพุทธชุติธรรมนราสพ"

 

9.วัดสระเกศ เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหา ตั้งอยู่ริมคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มีจุดเด่นคือ พระบรมบรรพตเดิมชื่อวัดสะแก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสระเกศ ซึ่งแปลว่า ชำระพระเกศา เนื่องจากเคยประทับทำพิธีพระกระยาสนาน เมื่อเสด็จกรีธาทัพกลับจากกัมพูชามาปราบจลาจลในกรุงธนบุรี และเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติใน พ.ศ. 2325 มูลเหตุที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชพระราชทานเปลี่ยนชื่อวัดสะแก เป็นวัดสระเกศนี้ มีหลักฐานที่ควรอ้างถึงคือ พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีข้อ 11 ว่า"รับสั่งพระโองการ ตรัสวัดสะแกเรียกวัดสระเกศแล้วบูรณปฏิสังขรณ์ เห็นควร ที่ต้นทางเสด็จพระนคร"ทรงพระราชวิจารณ์ไว้ว่า"ปฏิสังขรณ์วัดสะแกและเปลี่ยน ชื่อเป็น วัดสระเกศเอามากล่าวปนกับวัดโพธิ์เพราะเป็นต้นทางที่เสด็จเข้ามาพระนครมีคำ เล่า ๆ กันว่า เสด็จเข้าโขลนทวารสรงพระมุธาภิเษกตามประเพณีกลับจากทางไกลที่ วัดสะแก จึงเปลี่ยนนามว่า 'วัดสระเกศ'

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะและสร้างพระบรมบรรพตหรือภูเขาทอง ทรงกำหนดให้เป็นพระปรางค์มีฐานย่อมุมไม้สิบสอง แต่สร้างไม่สำเร็จในรัชกาล เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงให้เปลี่ยนแบบเป็นภูเขาก่อพระเจดีย์ไว้บนยอด เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ การก่อสร้างแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานนามว่า “สุวรรณบรรพต” มีความสูง 77 เมตร บนยอดสุวรรณบรรพตเป็นที่ตั้งของพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดค้นพบที่เมืองกบิลพัสดุ์ และพิสูจน์ได้ว่าเป็นของพระสมณโคดมซึ่งเป็นส่วนแบ่งของพระราชวงศ์ศากยราชเพราะมีคำจารึกอยู่