รัฐบาลเตรียมปั้น 100 "เมืองอัจฉริยะ" ทั่วไทยภายในปี 65

by ThaiQuote, 26 เมษายน 2562

บอร์ดเมืองอัจฉริยะ รับทราบแผนขับเคลื่อน 3 ขั้น ตั้งเป้าให้บริการเมืองอัจฉริยะ 100 พื้นที่ทุกจังหวัดภายในปี 65 พร้อมขยายความร่วมมือสู่เพื่อนสมาชิกกลุ่มอาเซียน


ทำเนียบฯ - วันที่ 25 เม.ย.62 พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ครั้งที่ 2/2562 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระสำคัญ ดังนี้


ที่ประชุมรับทราบการจัดทำรายงานผลการดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ปี 2561 ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญ โดยถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน ในปี 2561 ที่ผ่านมามีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ การแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยมีพล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รวมทั้งมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจ สังคม และโทรคมนาคม เป็นกรรมการ การกำหนดนิยามเมืองอัจฉริยะประเทศไทย


โดยประเภทของเมืองอัจฉริยะ มี 2 ประเภท คือ เมืองเดิม และเมืองใหม่ ซึ่งลักษณะของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ มี 7 ด้าน ประกอบด้วย
1.สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment)
2.เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy)
3.ขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility)
4.พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy)
5.พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People)
6.การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living)
7.การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance)

โดยขณะเดียวกันนี้ ได้มีการจัดทำแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทย โดยกำหนดเป้าหมายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ได้แก่ ปีที่ 1 พ.ศ. 2561 พัฒนาเมืองอัจฉริยะ 10 พื้นที่ใน 7 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต ขอนแก่น เชียงใหม่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพมหานคร

ปีที่ 2 (พ.ศ. 2562 – 2563) พัฒนาเมืองอัจฉริยะ 30 พื้นที่ ใน 24 จังหวัด อาทิ เชียงราย พิษณุโลก น่าน อุบลราชธานี อุดรธานี หนองคาย นครพนม มุกดาหาร กระบี่ พังงา สงขลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล นครศรีธรรมราช และระนอง

ปีที่ 3 – 5 (พ.ศ. 2563 – 2565) ขยายเมืองอัจฉริยะผ่านการรับสมัครเมืองอัจฉริยะ และคาดว่าจะครอบคลุมการให้บริการเมืองอัจฉริยะ และระบบ City Data Platform 100 พื้นที่ใน 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร

ตลอดจนการกำหนดเกณฑ์การประเมินเมืองอัจฉริยะและรับสมัครเมืองเพื่อเป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะประเทศไทย และการออกมาตรการกระตุ้นการลงทุนในเมืองอัจฉริยะผ่านกลไกสิทธิประโยชน์ทางภาษี ไปจนถึงการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะสู่อาเซียน

ทั้งนี้ ที่ประชุมรับทราบการดำเนินงานของสำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย (Smart City Thailand Office) ซึ่งเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562 คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะได้มีมติเห็นชอบในหลักการในการจัดตั้งสำนักงานเมืองอัจฉริยะฯ ขึ้น ณ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) อาคารลาดพร้าว

โดยขณะนี้สำนักงานฯ ได้มีการจัดทำเว็บไซต์ เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์ข้อมูล และการเปิดรับข้อเสนอที่ www.smartcitythailand.or.th/รวมทั้งได้จัดทำคู่มือการจัดทำแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศไทย และใช้เป็นแนวทางในการจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับการพิจารณาการเป็นเมืองอัจฉริยะ

อีกทั้งมีแผนการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อเผยแพร่และสร้างความเข้าใจเรื่องการขอรับการพิจารณาประกาศเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City Thailand Roadshow) โดยการประชาสัมพันธ์ภายใต้กิจกรรม “สมาร์ทซิตี้ไทยแลนด์โรดโชว์” พร้อมเผยแพร่แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ทั้งภายในประเทศ และในภูมิภาคอาเซียนด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาการเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานข้อริเริ่มความร่วมมือด้านเมืองอัจฉริยะในกรอบอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network: ASCN) และปฏิทินกรอบการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย

1.การจัดงาน ASEAN Smart Cities Network (ASCN) Workshop ระหว่างวันที่ 6 – 7 มิถุนายน 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา จัดร่วมกับงาน ASEAN sustainable energy week เพื่อเสนอแนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ตาม ASCN Framework ข้อ sustainable Environment

2.ASEAN Smart Cities Network C&E 2019 “Advancing Partnership for Sustainability” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 24 สิงหาคม 2562 เพื่อดำเนินการประชุม ASCN Annual Meeting และหารือความคืบหน้าตามแผนปฏิบัติการของแต่ละเมือง ริเริ่มโครงการใหม่ที่สามารถดำเนินการร่วมกับบริษัทผู้ให้บริการ แนวทางพัฒนาเมืองจากภาคเอกชนที่มีความเป็นไปได้ และสำรวจโอกาสใหม่ ๆ ที่จะนำภาคีภายนอกอาเซียนเข้ามามีส่วนร่วม

ทั้งนี้ ผลลัพธ์ที่ได้จากการประชุม ASCN ทั้ง 2 ครั้ง จะนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ต่อไป พร้อมทั้งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) เอกสารที่สมาชิก ASCN จะพิจารณาให้การรับรอง จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ASCN Terms of Reference และ ASCN Monitoring and Evaluation

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
คนไทยสุดเจ๋ง เตรียมเข้ารับรางวัลสิ่งประดิษฐ์อัจฉริยะ