“พาณิชย์”เชือดรพ.เอกชนขูดค่ารักษา-คิดยาแพง

by ThaiQuote, 21 พฤษภาคม 2562

“พาณิชย์” จ่อเชือดโรงพยาบาลเอกชน หลังผู้บริโภคร้องผ่าน 1569 ถูกฟันราคาค่ารักษาอาการท้องเสียและค่ายาแพง เผยตรวจสอบพบคิดราคาแพงเวอร์จริง เตรียมเรียกมาชี้แจง หากผิด เจอคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสน ด้าน สมาคมโรงพยาบาลเอกชนขอเข้าพบ รมช.พาณิชย์ จับตาล็อบบี้ล้มประกาศ กกร.

กระทรวงพาณิชย์ ออกมาเปิดเผยข้อมูลพบว่า ขณะนี้มีผู้บริโภคได้ร้องเรียนผ่านสายด่วน 1569 เข้ามายังกรมการค้าภายในถึงกรณีการคิดค่ายาและค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนที่มีราคาแพงเกินจริงจำนวน 2 กรณี คือ การร้องเรียนการเข้ารับการรักษาพยาบาลอาการท้องเสีย แต่ถูกคิดค่าใช้จ่ายรวม 3 หมื่นบาท และการร้องเรียนเรื่องราคายาแพงเกินจริง ซึ่งขณะนี้ กรมการค้าภายในกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีการคิดราคาสมเหตุสมผลหรือไม่ และหากพบว่ามีการค้ากำไรเกินควร ก็จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ กรณีการรักษาอาการท้องเสีย ในเบื้องต้นพบว่า โรงพยาบาลมีการคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก และมีการรักษาเกินจริงในหลายรายการ ส่วนกรณียาแพง พบว่า มีการคิดราคาแพงกว่าราคาที่จำหน่ายในท้องตลาดจริง ซึ่งจะมีการเรียกให้โรงพยาบาลที่ถูกร้องเรียนมาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อไป หากไม่สามารถชี้แจงได้ ก็จะดำเนินการตามกฎหมาย โดยมีโทษตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กรณีค้ากำไรเกินควร จำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะเดียวกัน กรมการค้าภายในกำลังอยู่ระหว่างการเชิญโรงพยาบาลเอกชนจำนวน 70 ราย จากจำนวน 353 ราย ที่ผลการตรวจสอบเบื้องต้นจากการให้ส่งข้อมูลการซื้อขายยา และพบว่า มีการคิดราคายาแพงเกินจริง ตั้งแต่แพงไม่มากจนสูงถึงระดับ300% , 500% , 800% และ 900% มาหารือ และจะขอให้ชี้แจงถึงสาเหตุการคิดราคายาว่าที่คิดแพงนั้น มีสาเหตุมาจากอะไร สมเหตุสมผลหรือไม่

นอกจากนี้ กรมการค้าภายในได้จัดทำประกาศคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (ประกาศ กกร.) ที่กำหนดให้โรงพยาบาลเอกชน ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย ต้องแจ้งราคาซื้อขายให้แก่กรมการค้าภายใน เพื่อนำราคาไปเผยแพร่บนเว็บไซต์เสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างการเสนอให้ น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธาน กกร. ลงนาม ก่อนนำลงราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ คาดว่าน่าจะลงนามได้ภายในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ ภายในประกาศ เบื้องต้นจะกำหนดให้แจ้งราคายาที่อยู่ในบัญชีนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ (UCEP) ที่มีรายการยกที่จำเป็นอยู่ 3,892 รายการ จากบัญชียาและรหัสยามาตรฐานของไทย (TMT) ที่มีอยู่ 30,103 รายการ เพราะถือเป็นยาที่คนใช้มาก แต่ได้เปิดช่องที่จะเพิ่มจำนวนรายการยาที่อยู่นอกบัญชี UCEP เพิ่มเติมได้ รวมทั้งการกำหนดให้ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงราคาให้กรมการค้าภายในรับทราบก่อนไม่น้อยกว่า 15 วันด้วย

พร้อมกันนี้ ได้กำหนดรายละเอียดของการออกใบสั่งยาตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยในใบสั่งยา จะต้องมีการระบุชื่อยา ชื่อทางการค้า ชื่อทางวิทยาศาสตร์ และระบุราคาด้วย เพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้ราคา และสามารถนำไปสั่งยาไปซื้อยาได้นอกโรงพยาบาลได้

อย่างไรก็ตาม กรมสนับสนุนและบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้ติดต่อขอเข้าพบน.ส.ชุติมา โดยจะนำอดีตนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนมาด้วย 3-4 คน เพื่อมาหารือถึงมาตรการควบคุมราคายาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ โดยเป็นที่น่าจับตาว่าจะได้เข้าพบก่อนที่จะมีการลงนามออกประกาศ กกร. หรือหลังจากการลงนาม เพราะหากพบก่อน ก็มองได้ว่าเป็นการเข้ามาล็อบบี้ เพื่อไม่ให้มีการใช้มาตรการที่เข้มงวด แต่ถ้าพบหลัง ก็จะไม่มีผลต่อการออกมาตรการภายใต้ประกาศ กกร.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

กรมศุลฯ สั่งซื้อเครื่องเอกซเรย์เพิ่ม ตรวจสั่งซื้อสินค้าตปท.หนีภาษี

Tag : ข่าว