”ปิยบุตร”เรียกร้องการพิจารณาคดี ส.ส.ถือหุ้นสื่อควรมีมาตรฐานเดียวกัน

by ThaiQuote, 21 มิถุนายน 2562

“ปิยบุตร” จี้ “ศาลรธน.” ใช้มาตรฐานพิจารณาคดี ส.ส.ถือหุ้นสื่อฯ แบบเดียวกับ “ธนาธร” ย้ำความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้ไม่ใช่ตัวบทกฎหมาย แต่เกิดจากศรัทธาประชาชน

นายบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่และส.ส.บัญชีรายชื่อได้ออกมาแถลงข่าวถึง กรณีมาตรฐานการตัดสินคดี ส.ส. ถือหุ้นสื่อ โดยได้แยกประเด็นในการแถลงข่าวออกเป็นประเด็นสำคัญ 2 ประเด็นคือ ประเด็นแรกการมีหุ้นสื่อจริงหรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลฎีกาได้มีแนวทางในการพิจารณาห้ามผู้สมัคร ส.ส. จำนวน 2 ราย คือ กรณีของนายภูเบศวร์ เห็นหลอด อดีตผู้สมัคร ส.ส.สกลนคร พรรคอนาคตใหม่ และ นายคมสัน ศรีวนิชย์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.อ่างทอง พรรคประชาชาติ ไม่สามารถลงเลือกตั้งส.ส.ได้ เพราะเข้าข่ายขัดคุณสมบัติ เนื่องจากถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชน ซึ่งไม่ได้พิจารณาในรายละเอียดว่าทำกิจการจริงหรือไม่ เพราะดูเพียงวัตถุประสงค์และบริคณห์สนธิเท่านั้น

 

 

ในประเด็นต่อมาคือแนวทางพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่ามีกรอบระยะเวลาที่แตกต่างกัน แม้ว่าคดีจะมีความคล้ายคลึงกัน โดยมีการยกเอากรณีของนายธนาธรจึงรุ่งเรืองกิจ,คดีของนายดอน ปรมัตถ์วินัย,4 รมต.ในรัฐบาลคสช.และ41ส.ส. โดยนายดอน ปรมัตถ์วินัยใช้เวลาในการพิจารณาจาก กกต. 386 วัน ศาลใช้เวลาตัดสิน 70 วัน และผลของการตัดสินคือสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ส่วนของ 4 รมต.ใช้เวลาพิจารณาจากกกต.เวลา 355 วัน ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาตัดสิน 75 วัน และเรื่องยังไม่ถึงที่สุด ในขณะที่นายธนาธร กกต.ใช้เวลาพิจารณาเพียง 51 วัน และศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาตัดสิน 7 วัน ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวโดยให้เหตุผลว่า มีเหตุอันควรสงสัยหากเปิดให้ปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ต่อไปจะมีผลในทางกฎหมายและการคัดค้านต่างๆ ตามมาจนเป็นอุปสรรคในการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร

นายปิยบุตรยังกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมามีการโต้แย้ง กรณีการถือหุ้นสื่อของธนาธรกับ ส.ส. 41 คนนั้นต่างกันตรงโอนหุ้นสื่อไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 เมื่อวันสมัครเลือกตั้งจึงไม่มีหุ้นสื่ออยู่ในมือ และในวันที่เป็นส.ส.ก็ไม่มีการถือหุ้นสื่อ ในขณะที่ 41ส.ส. ทั้งวันที่สมัครและวันที่เป็นส.ส.ก็ยังถือหุ้นสื่ออยู่

“สำหรับความแตกต่างที่ของนายธนาธรได้รับการตัดสินจากทางศาลรัฐธรรมนูญรวดเร็วนั้น เพราะทางกกต.ได้มีการตรวจสอบมาอย่างดีแล้วนั้นไม่เป็นเรื่องจริง เพราะระหว่างที่คณะกรรมการชุดใหญ่ส่งเรื่องมาให้ทางศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการชุดเล็กยังมีการเรียกตัวไปสอบถามตรวจสอบอยู่ ในขณะที่ส.ส.41 คนนั้น ทางพรรคอนาคตใหม่มีการตรวจสอบอย่างละเอียดแล้วว่ายังมีการถือหุ้นอยู่ มีการประชุมอยู่จริง”นายปิยบุตรกล่าว

นอกจากนี้มีกระแสข่าวออกมาว่าส.ส. 27 คนของพรรคพลังประชารัฐออกมากล่าวว่าจะสั่งให้เขาหยุดปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ เพราะจะทำให้เขาไม่ได้ทำหน้าที่ที่ดำเนินการอยู่ ถ้าหากพิจารณาเปรียบเทียบกันของนายธนาธรสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะเป็นเรื่องสำคัญ หากเป็นเรื่องสำคัญของทางพลังประชารัฐก็ต้องหยุด และถ้าหากส.ส.เหล่านี้เรียกร้องให้มีการคุ้มครองชั่วคราวแล้วศาลให้การรับรอง ทางพรรคอนาคตใหม่ก็ขอสงวนสิทธิที่ใช้การคุ้มครองชั่วคราวให้กับทางคุณธนาธรเช่นกัน

นอกจากนี้ นายปิยบุตร กล่าวด้วยว่ากรณีที่ฝ่ายกฎหมายพรรคพลังประชารัฐร้องให้ศาลจำหน่ายคดี เพราะการยื่นเรื่องไม่ถูกต้องและขั้นตอนนั้น ตนมองว่าเป็นเพียงการต่อสู้คดีที่สามารถทำได้ แต่ตนฐานะผู้ร่วมยื่นหนังสือยืนยันว่าเป็นขั้นตอนที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่าด้วยการเข้าชื่อของ ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 เข้าชื่อเสนอต่อประธานสภาฯ เพื่อยื่นเรื่อง โดยระบุว่าทำเป็นหนังสือ มีเหตุผล รวมถึงคำขอให้พิจารณา ซึ่งยืนยันว่าเป็นเอกสารที่เข้ากับคำร้องตามกระบวนการพิจารณาแน่นอน ทั้งนี้หากศาลรัฐธรรมนูญมองว่าคำร้องไม่ครบถ้วน สามารถให้ผู้ยื่นคำร้องแก้ไขได้ โดยไม่มีประเด็นที่จะจำหน่ายคดี ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนกรณีที่ฝายกฎหมายของพรรคพลังประชารัฐร้องขอให้ศาลพิจารณา เป็น 2 ครั้ง คือ ให้คู่กรณีให้ปากคำก่อนจะรับหรือไม่รับ ไม่สามารถทำได้ เพราะทำได้เพียงการตั้งตุลาการคณะเล็ก ทำงานเพื่อพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับคำร้อง หากตุลาการคณะเล็กพิจารณาและมีความเห็นอย่างไรต้องส่งให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคณะใหญ่พิจารณาภายใน 5 วัน ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ทั้งนี้กรณีดังกล่าวเพื่อทำให้เกิดความยุติธรรมศาลรัฐธรรมนูญควรพิจารณาให้เร็วเร็ว อย่างไรก็ตามตนไม่ติดใจหากศาลรัฐธรรมนูญจะใช้ดุลยพินิจรวมการพิจารณาคำร้อง ระหว่าง 41 ส.ส. กับนายธนาธร ไว้เป็นการพิจารณาในคราวเดียวกัน

นายปิยบุตรกล่าวว่า “การแถลงข่าวในครั้งนี้ไม่ได้ตั้งคำถามต่อองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรม ขอให้มีมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน สิ่งที่เหมือนกันต้องได้รับการปฏิบัติที่เหมือนกัน สิ่งที่แตกต่างกันก็ต้องได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกัน อำนาจขององค์กรที่อยู่บนกระบวนการยุติธรรมกฎหมายบอกว่าเขามีอำนาจ กฎหมายไม่ได้ทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น ความยุติธรรมเกิดขึ้นได้ตั้งอยู่บนความเชื่อมมั่นของประชาชน ถ้าหากคุณจะทำให้คนทั้งประเทศเชื่อมั่นว่ายุติธรรมมีจริงหรือไม่ คุณก็ต้องทำให้คดีที่มีลักษณะเดียวกันได้รับการปฏิบัติด้วยมาตรฐานเดียวกัน”

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

พปชร.ยื่นศาลขอคุ้มครอง 27 ส.ส.ถูกร้องถือหุ้นสื่อ