“สนธิรัตน์”ใจกว้าง! เปิดรับฟังความเห็นต่างด้านพลังงานจาก NGOs

by ThaiQuote, 21 สิงหาคม 2562

“สนธิรัตน์”นำกระทรวงพลังงานสู่ยุคเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากทุกกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านพลังงาน พร้อมเปิดเวทีหารือแกนนำเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน (คปพ.)เพื่อนำข้อคิดเห็นมาประกอบการพิจารณาปรับใช้ให้เหมาะสมกับการวางนโยบายด้านพลังงานต่อไป

วันนี้ (21 ส.ค.62) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดโอกาสให้แกนนำเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน (คปพ.) นำโดย นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีต สว.สรรหา นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการด้านพลังงาน และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเข้าพบ เพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายด้านพลังงานของประเทศ
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในฐานะผู้กำหนดนโยบายพลังงาน ยินดีและพร้อมเปิดรับฟังทุกความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายพลังงานจากทุกๆ ฝ่ายอยู่แล้ว เพราะความเห็นต่างไม่จำเป็นต้องเป็นความขัดแย้งเสมอไป ซึ่งหากเป็นข้อคิดเห็นที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ เป็นประโยชน์ต่อประชาชนคนไทยทุกคน และสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล ก็พร้อมที่จะนำทุกข้อคิดเห็นมาประกอบการพิจารณาปรับใช้ให้เหมาะสม และเปิดกว้างให้กลุ่มได้มาร่วมเป็นที่ปรึกษาให้กับกระทรวงพลังงานด้วย

สำหรับการรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่ม คปพ.ในวันนี้ มีข้อเสนอแนะ 5 ประเด็น คือ
1. การจัดการผลประโยชน์ปลายน้ำ ราคาน้ำมัน ราคาก๊าซในประเทศ และผลกระทบต่อประชาชน
2. การจัดการผลประโยชน์ต้นน้ำระหว่างประเทศ กรณีพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา
3. การจัดการผลประโยชน์ต้นน้ำในประเทศ Producting Sharing Contact
4. การแยกเป็น PTTOR แบ่งผลประโยชน์กระทรวงการคลังกับผู้ถือหุ้น และเลี่ยงกฎหมายรัฐวิสาหกิจ
5. การผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. 51% ไม่เป็นธรรม

สำหรับเรื่อง ราคาเอทานอล และไบโอดีเซล (B100) การส่งเสริมยิ่งทำให้ราคาปลายทางแพงขึ้น การอ้างอิงราคาเอทานอลของไทย ทำให้ราคาเอทานอลไทยแพงกว่าตลาดโลก ทำให้ต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันฯมาอุดหนุน ขณะที่ราคาเอทานอลไทยแพงกว่าบราซิล 70% แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับตกกับผู้ประกอบการไม่ถึงมือเกษตรกร เสนอให้ ประชาชนสามารถผลิตและขาย B100 ได้โดยตรง ควรกระจายธุรกิจพลังงานสู่ชุมชน และยกเว้นการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ในขณะที่โรงงานผลิตเอทานอล ไบโอดีเซลซึ่งคุ้มทุนแล้วรัฐควรมีระยะเวลาในการให้สิทธิประโยชน์ไม่ได้ให้ไปตลอด

โดยประเด็นราคาขายปลีกพลังงาน คปพ.นำเสนอให้แก้ปัญหาที่โครงสร้างราคาแทนการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุน เพราะกองทุนน้ำมันฯก็นำเงินมาจากประชาชน สุดท้ายประชาชนเป็นผู้จ่ายแพงอยู่ดี โดยเสนอให้ลดต้นทุนที่เป็นค่าขนส่งเทียม โดยยกเลิกการกำหนดราคา ณ โรงกลั่น ซึ่งปัจจุบันอิงราคาสิงคโปร์บวกค่าขนส่งในการนำเข้า ซึ่งจะลดต้นทุนขนส่งได้ 50-60 สตางค์/ลิตร และปัจจุบันการกลั่นน้ำมันในไทยเกินความต้องการจนต้องส่งออกไป ควรลดกำลังการกลั่น ทบทวนบริหารผลประโยชน์ระหว่างโรงกลั่นกับประชาชน โรงกลั่นไม่ควรได้สิทธิประโยชน์มากเกินไป

-ราคาเอทานอล และไบโอดีเซล (B100) การส่งเสริมยิ่งทำให้ราคาปลายทางแพงขึ้น การอ้างอิงราคาเอทานอลของไทย ทำให้ราคาเอทานอลไทยแพงกว่าตลาดโลก ทำให้ต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันฯมาอุดหนุน ขณะที่ราคาเอทานอลไทยแพงกว่าบราซิล 70% แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับตกกับผู้ประกอบการไม่ถึงมือเกษตรกร เสนอให้ ประชาชนสามารถผลิตและขาย B100 ได้โดยตรง ควรกระจายธุรกิจพลังงานสู่ชุมชน และยกเว้นการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ในขณะที่โรงงานผลิตเอทานอล ไบโอดีเซลซึ่งคุ้มทุนแล้วรัฐควรมีระยะเวลาในการให้สิทธิประโยชน์ไม่ได้ให้ไปตลอด

นายสนธิรัตน์ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า กระทรวงพลังงานเริ่มจะปรับการใช้ B7 และปรับโครงสร้างน้ำมันดีเซลใหม่โดยสนับสนุน B10 และ B20 แก้ปัญหาการลักลอบปาล์มน้ำมัน กำหนดผู้ผลิตลงทะเบียนในระบบ ซึ่งแม้ว่าสุดท้ายแล้วราคาปลายทางอาจจะแพงขึ้นได้ แต่ผลประโยชน์ต้องตกกับประชาชนด้วย โดยกระทรวงฯจะกำหนดสิทธิประโยชน์โดยดูเรื่องผลประโยชน์ต่อเกษตรกร และรับประกันว่า จะสามารถบริหารสมดุลด้าน Supply และ Demand ได้ โดยมอบ ปตท. คิดกลไกเพื่อได้ได้ราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ โดยที่ด้านกระทรวงพาณิชย์เองก็ต้องประกันปริมาณปาล์มไม่ให้ขาดแคลนด้วย

ทั้งนี้ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล กล่าวว่า หากรัฐต้องการใช้ความแข็งแรงของปตท.เพื่อสร้างประโยชน์ให้ประชาชน โดยการเพิ่มบทบาทของ ปตท.จะต้องมีการตรวจสอบและสร้างความดุลในอำนาจหน้าที่
-ประเด็นก๊าซหุงต้ม ปัจจุบันประสบปัญหา 3 ข้อ คือ 1. ภาคปิโตรเคมีใช้มากเกินไป 2. ราคาอ้างอิงราคานำเข้าทั้งที่ผลิตได้เองมากในประเทศ 3. ปตท. ผูกขาด โดยเสนอแนวทางแก้ไข คือ 1. จัดลำดับความสำคัญ ให้ ประชาชนได้ใช้ก่อน 2. ปรับกลับมาใช้ระบบ Pool
-ประเด็นการประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกช ระบุว่า ขอให้มีการตรวจสอบกลไกการประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกช เพราะระบบ PSC ที่นำมาใช้ในการประมูลเป็นระบบ PSC จำแลง ทำให้รัฐเสียประโยชน์ ได้ค่าภาคหลวงน้อยลง นอกจากนี้ บริษัทที่เข้าร่วมการประมูลอย่างบริษัทเชฟรอน ก็มีประวัติด่างพร้อยเรื่องค้าน้ำมันเถื่อน จึงไม่ควรมีสิทธิได้เข้าร่วมประมูล ส่วนบริษัท ปตท.สผ.ที่ชนะการประมูล ก็เป็นผู้ที่ครอบครองท่อก๊าซเชฟรอน สุดท้ายผู้ที่ได้ประโยชน์จากการผลิตก๊าซทั้ง 2 แหล่งภาคปิโตรเคมี ที่ไม่ได้จ่ายอะไรเลย แต่กลับได้ใช้ก๊าซในราคาถูก และรัฐก็ไม่ควรยกเลิกสิทธิ์ 25 % ของรัฐในการร่วมสำรวจระบบ PSC
นอกจากนี้ ทาง คปพ. ยังระบุถึงความไม่เหมาะสมกรณีที่ข้าราชการเข้าไปเป็นคณะกรรมการบริหารในรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนเพราะมองว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน

กรณี กฟผ. มองว่า แม้จะไม่ถูกแปรรูป แต่มีการเข้าไปล้วงลูก และเข้าไปทำประกันกำไรให้นักลงทุน ส่วนประชาชนเป็นผู้แบกรับการประกันกำไร

นางสาวรสนา โตสิตระกูล กล่าวสนับสนุนโครงการพลังงานหมุนเวียนของกระทรวงพลังงานที่รัฐมนตรีฯวางไว้ให้ตอบโจทย์ 3 เรื่อง คือ ลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยลดโลกร้อน และเรื่อง AI ส่วนเรื่องการสนับสนุนระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) มองว่า รัฐตั้งภาษีแพงเกินไป พร้อมทั้งเสนอให้วางรากฐานให้ประชาชนเข้าถึงพลังงานโดยเสนอให้รัฐมนตรีฯ วางพื้นฐานให้คนเข้าถึงพลังงาน โดยใช้ Disruptive Technology และระบบ Net Metering สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์รูฟท็อปในราคา 1.68 บาท/หน่วย มองว่าเป็นราคาที่ไม่จูงใจ

"กระทรวงพลังงานยุคนี้ จะเปิดรับทุกความคิดเห็นและข้อเสนอที่แตกต่าง โดยเราจะหารือร่วมกันด้วยความเข้าอกเข้าใจ อะไรที่ทำได้ก็จะทำร่วมกัน อะไรที่เป็นข้ออุปสรรคเราจะร่วมกันคิดและหาทางแก้เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศและพี่น้องประชาชนมากที่สุด" รมว.พลังงาน กล่าวย้ำ

เมื่อถามว่า จะเชิญกลุ่มนี้มาเป็นกลไกในการทำงานร่วมกับกระทรวงพลังงานหรือไม่ นายสนธิรัตน์กล่าวว่า ตนจะเชิญมาเป็นคณะทำงานร่วมกันในเรื่องพลังงานทดแทนที่ไปสู่เศรษฐกิจฐานราก นอกจากนี้อาจจะมีการเชิญจากทุกภาคส่วนเข้ามาด้วยการสรรหาตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปพลังงานเพื่อเข้ามาเป็นคณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าในอนาคตต่อไป รมว.พลังงานกล่าวในท้ายสุด