จัดประชุมสตรีอาเซียน แก้ปัญหาความเลื่อมล้ำทางเพศ

by ThaiQuote, 3 ตุลาคม 2562

พม.จับมือนิด้า จัดประชุม“สตรีอาเซียน” ถกแก้ปัญหาลดเหลื่อมล้ำทางเพศอย่างยั่งยืน

กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รวมมือกับศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคมนิด้า ได้จัดประชุมกลุ่มสตรีอาเซียน ระหว่างวันที่ 3-4 ต.ค.นี้ เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศ ทั้งระดับอาเซียนและนานาชาติ

รศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ ประธานจัดเตรียมงานประชุมปฏิบัติการกลุ่มอาเซียน เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า ที่ผ่านมานั้น สังคมมีค่านิยมเก่าที่ปลูกฝังกันมา ซึ่งทำให้ผู้หญิงได้รับการปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรม โดยมีคำพูดที่อคติและถูกตอกย้ำอย่างสม่ำเสมอ เช่น ผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอ มักใช้อารมณ์เป็นใหญ่ เป็นคนไม่กล้าตัดสินใจ ชอบพูดมาก และควรอยู่แต่ในห้องครัว ไม่ควรออกนอกบ้าน

ประธานจัดเตรียมงานประชุมปฏิบัติการกลุ่มอาเซียนกล่าวต่อไปอีกว่า สิ่งเหล่านี้ กลายเป็นความเหลื่อมล้ำทางเพศและฝังอยู่ในหลากหลายวัฒนธรรม ส่งผลให้ผู้หญิงถูกตีกรอบในการกำหนดบทบาท ทั้งที่ในความเป็นจริง ผู้หญิงมีการเรียนรู้พัฒนาตัวเองจนมีศักยภาพในหลาย

สำหรับการประชุมกลุ่มสตรีอาเซียนในครั้งนี้ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ด้านสตรีศึกษาจากทุกประเทศในกลุ่มอาเซียน มาร่วมเสวนาและระดมความคิดร่วมกันว่าปัญหาดังกล่าวข้างต้นจะช่วยกันแก้ไขได้อย่างไร โดยผู้เชี่ยวชาญจะต้องวิเคราะห์ และศึกษาจากบทเรียนของทุกประเทศที่เข้ามาร่วมประชุม ซึ่งเป็นแบบเรียนที่เยาวชนศึกษาและอ่าน จับต้องและนำติดตัวไปในที่ต่างๆ

สำหรับ ผลการระดมสมองในครั้งนี้ จะนำมาผลิตเป็นเนื้อหาและสร้างเครื่องมือการสื่อสารที่ทันสมัยสอดคล้องกับยุคปัจจุบันเพื่อนำไปเผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปทุกเพศ ทุกวัย และทุกสาขาอาชีพ ให้เห็นถึงปัญหาที่ไม่ถูกต้องและถูกฝังเป็นรากลึกมายาวนาน

ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อผู้หญิงเพศแม่เสียใหม่ โดยหวังว่า เครื่องมือที่นำมาใช้จะทำให้ประชาชนทั่วไปมีความเข้าใจเรื่องความเหลือมล้ำทางเพศได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น และความคาดหวังสูงสุดของคณะทำงานคือ ต้องการให้ผู้คนตระหนักว่า หญิงและชายนั้นเท่าเทียมกัน และช่องว่างระหว่างเพศควรต้องหมดไป

“เราไม่เคยตั้งคำถามว่ามันเป็นเรื่องถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่ ในเรื่องความเสมอภาคทางเพศ เราเชื่ออย่างไม่กังขาว่าผู้หญิงเป็นดังที่ถ้อยคำเหล่านั้นกล่าว เพราะเราถูกสอนมาเช่นนั้น ดังนั้นในทุกวันนี้ เราจะเห็นว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่จะฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ และต่อสู้อย่างหนักที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ คุณสมบัติทางสังคมของผู้หญิง เพื่อไม่ให้ถูกลงโทษจากสังคม ในขณะเดียวกันจะทำให้ผู้หญิงได้รับการยกย่อง” รศ.ดร.จุรี กล่าว

อย่างไรก็ดี รศ.ดร.จุรี กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ผู้หญิง มักถูกปฏิบัติอย่างมีอคติ เพราะทุกฝ่ายปล่อยให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และถูกสอนให้เชื่อมาตลอดว่า ความไม่เป็นธรรมดังกล่าวเป็นไปตามธรรมชาติและเป็นเรื่องปกติที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปไม่ว่าสังคมไหนก็มองว่าผู้หญิงเป็นคนไร้เหตุผล และเจ้าอารมณ์ทั้งนั้น

ทั้งนี้ รศ.ดร.จุรี กล่าวต่อว่า ในเรื่องของการสอนเรื่องความเท่าเทียมกันของ ชาย หญิงจึงต้องเริ่มต้นจาก โรงเรียน สถาบันครอบครัว โดยเริ่มปลูกฝังค่านิยมกับเด็กตั้งแต่วัยเล็กสุด โดยให้แนวคิดเริ่มจากระดับอนุบาลและประถม ที่ต้องตระหนักถึงปัญหาค่านิยมเกี่ยวกับผู้หญิงที่แฝงอยู่ในบทเรียน และแนวปฏิบัติในสถานศึกษาต่างๆแบบผิดๆมาในอดีต และชี้ให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางเพศเป็นปัญหาระดับโลกที่ต้องแก้ไขให้ถูกต้อง

“ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จากความมุ่งมั่นในการติดตาม และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระดับภูมิภาค พบว่ายังเกิดความเชื่อผิดๆ อีกมากมาย ที่แฝงตัวในบทเรียนของเด็ก ทั้งการใช้ภาษา และภาพประกอบต่างๆ ส่งผลให้เด็กๆ ซึมซับเรื่องราวเหล่านี้ต่อเนื่อง โดยไม่ได้มีการตั้งข้อสงสัยต่อค่านิยมเชิงลบดังกล่าวเลย จึงจำเป็นต้องเริ่มจากที่โรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนประถมและมัธยม เพื่อเป็นการตอกย้ำ และยกประเด็นปัญหานี้ให้เห็นชัดเจน เพื่อนำมาสู่แก้ปัญหาอย่างจริงจังและยั่งยืน” รศ.ดร.จุรี กล่าว

อนึ่ง ในส่วนการดำเนินงานของประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม แห่งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากประเทศในกลุ่มอาเซียน เข้าร่วมประชุมปฏิบัติการในวันที่ 3-4 ตุลาคม 2562 ที่โรงแรมไอบิส สไตล์ กรุงเทพ ข้าวสาร เวียงใต้

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ตั้งกรรมการสอบ 5 วิทยาลัยท่องทริปอังกฤษ ชี้ผิดจริงต้องชดใช้