นายก แถลง พ.ร.บ.งบฯ63 ยันเหมาะสม สอดคล้องยุทธศาสตร์ประเทศ

by ThaiQuote, 17 ตุลาคม 2562

นายกฯ เปิดแถลง ร่าง พ.ร.บ.งบ 63 ยืนยัน สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ยึดหลักความถูกต้องตามกฎหมาย ขณะผู้นำฝ่ายค้าน ชี้ทำงบฯไม่ตอบโจทย์ปัญหาเศรษฐกิจ ให้นำกลับไปพิจารณาใหม่

วันนี้ (17 ต.ค. 62)เวลา 10.21 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แถลงหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ต่อสภาผู้แทนราษฎร ในวาระแรกว่า รัฐบาลจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 แบบ งบขาดดุล โดยกำหนดวงเงินทั้งสิ้น 3,200,000 ล้านบาท เพื่อให้เพียงพอในการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน โดยได้มีการประมาณการรายได้สุทธิไว้ 2,731,000 ล้านบาท วงเงินกู้ชดเชยขาดดุลงบประมาณ 469,000 ล้านบาท ซึ่งการขาดดุลงประมาณจำนวนดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยและฐานการคลังของประเทศในระยะยาว

ทั้งนี้ การจัดทำงบประมาณ โดยคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ว่าจะขยายตัวร้อยละ 3-4 จากปัจจัยสนับสนุน จากการฟื้นตัวของการส่งออกตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและระบบการค้าโลก ที่คาดว่าจะปรับตัวต่อมาตรการกีดกันทางการค้าได้มากขึ้น รวมถึงการขยายตัวในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูงและแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ คาดว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วง 0.8-1.8 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณร้อยละ 5.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินภารกิจเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทและนโยบายของรัฐบาลให้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมทั้งน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งจะใช้ 6 ยุทธศาสตร์ในการจัดสรรงบประมาณ คือ

1.ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 428,190.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13.4 ของวงเงินงบประมาณ 2.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 380,803.1 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.9 ของวงเงินงบประมาณ 3.ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 571,073.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.8 ของวงเงินงบประมาณ 4.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 765,209.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23.9 ของวงเงินงบประมาณ

5.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 118,700.2 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.7 ของวงเงินงบประมาณ และ6.ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 504,686.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15.8 ของวงเงินงบประมาณ

ขณะที่รายการค่าดำเนินการภาครัฐประกอบด้วย 59 แผนงาน โดยได้จัดสรรงบฯ ในส่วนนี้ไว้ 431,336.6 ล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือจำเป็น 96,500 ล้านบาท บริหารจัดการหนี้ภาครัฐ 272,127.1 ล้านบาท และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 62,709.5 ล้านบาท

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า รัฐบาลจัดสรรงบประมาณยึดหลักความถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมฝากให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ศึกษาพิจารณาให้ครบถ้วนทั้งหมด อย่าดูแค่เพียงวงเงินของแต่ละกระทรวง แต่ขอให้ดูรายละเอียดของการดำเนินงานของแต่ละกระทรวงด้วย ซึ่งรัฐบาลพร้อมตอบและรับฟังข้อเสนอแนะจากสภา เพื่อดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

ผู้นำฝ่ายค้าน ชี้ ทำงบฯไม่ตอบโจทปัญหาเศรษฐกิจ ให้นำกลับไปพิจารณาใหม่

ต่อมาเวลา 12.35 น. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านได้อภิปรายเป็นคนแรก ระบุว่า ขอให้รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการพิจารณางบประมาณ เพราะประชาชนกำลังประสบภาวะเศรษฐกิจยากลำบาก โดยรัฐบาลนี้ยังมีปัญหาด้านความชอบธรรม ตั้งแต่การถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ, แถลงนโยบายไม่ระบุแหล่งที่มาของงบฯ

ดังนั้นฝ่ายค้านอยากให้รัฐบาลกลับไปร่าง พ.ร.บ.งบประมาณใหม่ เพราะไม่มีความเหมาะสมอย่างยิ่ง ไม่สามารถแก้ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศได้

ทั้งนี้ ขนาดเศรษฐกิจประเทศวัดด้วย GDP ที่ผ่านมาไทยมี 17 ล้านล้านบาท สิ่งสำคัญคือ การส่งออก ที่สร้างงานและรายได้ให้กับประชาชน แต่การส่งออกของไทยช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา กลับติดลบ 2.5%

นอกจากนี้ยังพบว่าปี 2562 นักศึกษาที่เรียนจบจากสถาบันต่างๆ ตกงานกว่า 300,000 คน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 500,000 คนในปีหน้า ซึ่งจะกระทบการลงทุนภาคเอกชน

"พรรคฝ่ายค้านขอให้รัฐบาลนำ พ.ร.บ.งบประมาณ กลับไปและนำเข้ามาพิจารณาใหม่ เพราะงบฯ ยังมีปัญหาและถูกนำไปใช้ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ เช่น การซื้อยุทโธปกรณ์กว่า 6,000 ล้านบาท ไม่ได้เพิ่มความอยู่ดีกินดีของประเทศ และงบฯ ขาดความชัดเจนในการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ”

ตลอก 5 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการปรับเพิ่มอัตราภาษี แต่ก็ยังไม่เพียงพอจนต้องกู้เพิ่ม โดยงบประมาณปี 2561 ที่ สนช.อนุมัติให้รัฐบาล คสช.มีงบขาดดุลถึง 5.5 แสนล้านบาท เทียบเท่ากับงบขาดดุลของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ถึง 2 ปีรวมกัน ใน ปี 2556-2557 และการที่ประเทศไทยขาดดุลการคลังมาตลอด ตัวเลขขาดดุลงบน่าเป็นห่วง หากไม่สามารถหยุดแนวปฏิบัตินี้ได้ ต่อไปประเทศไทยจะล้มละลายทางการคลัง

ในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล มีการแจกเงินโดยไม่ยึดโยงกับการพัฒนาและปรับแผนธุรกิจ เป็นการยืดปัญหาเป็นวันๆ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, การแจกเงินปลายปี, ชิมช้อบใช้ ไม่ได้ทำให้ประเทศพัฒนาการผลิตเลย เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เงินหมดก็คงต้องแจกใหม่ รัฐบาลต้องสร้างแรงจูงใจ สร้างงาน สร้างอาชีพใหม่ เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ประเทศ มีการกล่าวในสังคมว่า งบประมาณถูกใช้อย่างกระจุกตัว สนับสนุนการเติบโตกลุ่มใกล้ชิดรัฐบาล เช่น EEC รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน มีการเอื้อประโยชน์ เวนคืนที่ดินแถวฉะเชิงเทรา

ทั้งนี้ พรรคฝ่ายค้านรู้สึก หมดหวังกับการฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงขอให้รัฐบาลนำ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 กลับไปแก้ไขใหม่

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
"ขุนคลัง"มั่นใจ พ.ร.บ.งบประมาณ'63 ผ่านฉลุยแน่นอน