นพดล ชี้แก้ปัญหาการศึกษา ต้องกระจายอำนาจ

by ThaiQuote, 2 พฤศจิกายน 2562

ประธานยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา เพื่อไทย ชี้จะปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จต้องกระจายอำนาจ และต้องไม่เป็น สังคมอุดมแผน แต่ขาดแคลนผลสัมฤทธิ์ เสนอตัวแทนครูนั่งในคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ

นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศในฐานะประธานยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่มีกลุ่มครูประท้วงในประเด็นโครงสร้าง ว่ามีความซ้ำซ้อนระหว่างอำนาจของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดและคัดค้านบางประเด็นในร่างพรบ.การศึกษาแห่งชาตินั้น พรรคเรียกร้องให้กระทรวงฯได้รับฟังข้อห่วงใยของกลุ่มครู เนื่องจากการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาจำต้องได้รับความร่วมมือจากครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยพรรคมี 4 ข้อเสนอคือ

1. ต้องยึดประโยชน์ของผู้เรียนเป็นที่ตั้ง ไม่ง่วนอยู่กับเรื่องโครงสร้างอำนาจ เป้าหมายการพัฒนาการศึกษาคือจะยกระดับคุณภาพการศึกษาของชาติให้ได้อย่างไร เพราะนี่คือโจทย์ใหญ่ของประเทศ

2. ต้องกระจายอำนาจทางการศึกษาโครงสร้างการทำงานของกระทรวงศึกษาต้องกระจายและไม่กระจุก และต้องลดสายบังคับบัญชาไม่ซ้ำซ้อน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดงบค่าตอบแทนลง แล้ว เอาเงินที่เหลือไปใส่ให้นักเรียน

3. ต้องมีเป้าหมายยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ชัดเจน ก้าวข้าม “สังคมอุดมแผน แต่ขาดแคลนผลสัมฤทธิ์” ไทยมีแผนด้านการศึกษามากมาย แต่มีผลสัมฤทธิ์น้อย และถดถอยลง เช่น มี แผนยุทธศาสตร์ แผนปฏิรูปด้านการศึกษา แผนการศึกษาแห่งชาติ และกำลังจะเสนอร่าง พรบ.การศึกษาแห่งชาติเข้าสภาอีก ดังนั้นเรื่องเร่งด่วนคือจะทำให้คุณภาพการศึกษาไทยดีขึ้นอย่างไร โดยมีตัวชี้วัดและผลทดสอบ เช่น โอเน็ต PISA ทักษะภาษาอังกฤษ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ เป็นต้น ไม่ใช่ดูจากจำนวนแผน

4. ควรมีตัวแทนครูนั่งในคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายการศึกษาฯในร่าง พรบ.การศึกษาแห่งชาติควรมีองค์ประกอบที่หลากหลาย ขอเสนอว่าควรให้มีผู้แทนครูและผู้ปกครองอยู่ด้วยเพื่อระดมความรู้และความเห็นในการผลักดันการพัฒนาการศึกษาร่วมกัน

“ผู้เกี่ยวข้องต้องลำดับความสำคัญของปัญหา ประเทศต้องการเห็นการยกระดับคุณภาพการศึกษา มากกว่าการง่วนอยู่กับประเด็นโครงสร้างอำนาจ เป้าหมายสำคัญคือตัวเด็ก และลูกหลานของเรา ทำอย่างไรพวกเขาจะมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับโลกให้ได้” นายนพดล กล่าว

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

'เต้'โชว์แผนแก้ปัญหา การศึกษา-แรงงานไทยถูกแย่งงาน