กสศ. เปิด เสนอเด็กยากจนชิง 40 ทุน ถึง ป.เอก ภายใน 13 ม.ค.63

by ThaiQuote, 30 พฤศจิกายน 2562

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ) ชวนสถาบันศึกษา ป.ตรี เสนอชื่อ นักศึกษา ขอรับทุน ‘เด็กช้างเผือก’ เพื่อเรียนต่อจนถึง ป.เอก 40 ทุนต่อปี เปิดเสนอชื่อภายใน 13 ม.ค. 2563 โดย กสศ. จะประกาศผลภายในวันที่ 28 ก.พ. 2563

น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วม นวัตกรรมและทุนการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวภายในงานประชุมชี้แจงและแนะนำโครงการทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพ ประจำปี 2563 เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ว่า โครงการทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพ เป็นทุนส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาของ กสศ. เพื่อค้นหาคัดเลือกพัฒนาเด็กเยาวชนที่เรียกว่า ‘เด็กช้างเผือก’ ที่มาจากพื้นฐานสายอาชีพให้มีโอกาสได้เรียนต่อในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ซึ่งถือเป็นสองโจทย์ปฏิรูปที่ กสศ.จะตอบคือ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คือ เปิดโอกาสปฏิรูปให้เด็กที่ยากจนที่สุด 20% แรกของประเทศได้เรียนต่อสูงขึ้น เพราะจากสถิติพบว่า เด็กกลุ่มนี้มีโอกาสเรียนต่อน้อยมาก แค่ 5% หรือ ประมาณ 8,000 คน ต่อรุ่น ในขณะที่ค่าเฉลี่ยเรียนต่อของประเทศอยู่ที่ประมาณ 35% ช่องว่างตรงนี้มีถึง 7 เท่า กสศ. จึงต้องการส่งเสริมให้เด็กกลุ่มที่ยากจนที่สุดนี้ได้เรียนต่อในประดับปริญญาตรี

"ทุนนี้สนับสนุนกำลังคนสายอาชีพที่มีศักยภาพให้ศึกษาต่อปริญญาตรี โท เอก ในสาขาที่ตอบโจทย์ประเทศ S-Curve New S-Curve STEM และดิจิตอล เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง แม้จะมีจำนวนทุนไม่มาก ราว 40 ทุน ต่อปี แต่ กสศ. มุ่งสร้างและพัฒนาให้เป็นต้นแบบการเรียนสายอาชีพ ให้เห็นว่ามีเส้นทางความก้าวหน้าได้จริง สร้างกลุ่มเยาวชนยากจนด้อยโอกาสที่มีศักยภาพให้เป็นบุคลากรชั้นนำได้" น.ส.ธันว์ธิดา กล่าว

ดังนั้นขอเชิญชวนสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตรต่อเนื่อง หรือหลักสูตรเทียบโอน ร่วมเสนอชื่อนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในปีการศึกษา 2562 ซึ่งผ่านกระบวนการคัดกรองความยากจน มีผลการเรียน มีความสามารถโดดเด่น มีความสามารถพิเศษ รวมถึงการมีจิตสาธารณะ ภายในวันที่ 13 ม.ค. 2563 จากนั้น กสศ. จะมีกระบวนการพิจารณาคัดเลือกและประกาศผลภายในวันที่ 28 ก.พ. 2563 ซึ่ง กสศ. ขอเชิญชวนสถาบันการศึกษาที่กำลังมุ่งเน้นเรื่องสายอาชีพ เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปเรื่องนี้ร่วมกันผลิตกำลังคนสายอาชีพด้วยกัน ช่วยกันสร้างโอกาสให้เยาวชนกลุ่มนี้เห็นว่า หากเลือกเรียนสายอาชีพจะมีโอกาสเติบโตในสังคมได้และตอบโจทย์ประเทศด้วย

นายนพพร สุวรรณรุจิ อนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพ กล่าวว่า ทุนนี้ไม่เปิดให้สมัครทั่วไป แต่จะถูกเสนอชื่อโดยสถาบันการศึกษา ซึ่งถือเป็นประตูด่านแรกหากสถาบันไม่เสนอชื่อขึ้นมา กสศ. ก็ไม่สามารถพิจารณารายชื่อได้ โดยคุณสมบัตินักเรียนที่จะถูกเสนอชื่อจะต้องจบ ปวส. หรืออนุปริญญา หลักสูตรต่อเนื่องหรือเทียบโอน ในหลักสูตรที่สามารถเรียนต่อ ปริญญาโท ปริญญาเอกในสาขาวิชาเดียวกันอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ นักศึกษาที่จะได้รับทุนจะต้องมาจากครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 3,000 บาท ต่อเดือน จากนั้นก็จะใช้กระบวนการพิจารณาความยากจนของ กสศ. ซึ่งจะพิจารณาจาก ภาระพึ่งพิง ที่อยู่อาศัย สภาพที่อยู่อาศัย ที่ดิน เกษตร ไฟฟ้า ยานพาหนะ รวมทั้งจะต้องมาพิจารณา ความสามารถ เกียรติประวัติ ผลงาน รวมทั้งจะต้องไม่มีประวัติอาชญากรรม เกี่ยวข้องกับสิ่งเสพติด อบายมุข และมีความพร้อมทางสภาพจิตใจที่จะศึกษาจนสำเร็จการศึกษา

ศ.ดร.นักสิทธิ์ คูวัฒนาชัย ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางโครงการทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพ กล่าวว่า ทุนนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนสูงขึ้นจากเดิมที่เคยคิดว่าเรียนอาชีวะแล้วออกไปประกอบอาชีพก็ดีแล้ว แต่บางคนมีความสามารถที่หากเรียนสูงขึ้นก็จะประสบความสำเร็จมากขึ้น

ดังนั้นเราจึงควรเปิดโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้มีโอกาส การให้ทุนนี้ยังจะเป็นการตอบโจทย์ประเทศ เพราะในสาขาช่างบางสายต้องการการศึกษาที่สูงขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะ วิชาการที่ก้าวหน้าขึ้น โอกาสที่จะทำให้เกิดการพัฒนาในวิชาชีพก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย เราจำเป็นต้องพัฒนาคนให้มีหลายกลุ่ม หลายประเภท ทำให้คนที่ได้เรียนสายอาชีพเติบโตขึ้นไปก้าวหน้าในอาชีพการงานได้และสามารถไปเทียบเคียงกับคนที่จบสายสามัญได้ก็จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ไม่อย่างนั้นคนกลุ่มนี้ก็จะอยู่ระดับล่างต่อไป